สังคม

นายกวิศวกรรมสถานฯ เผยสาเหตุเครนโรงงานถล่ม ชี้เกิดจากความผิดพลาดในการต่อเครนให้สูงขึ้น

โดย gamonthip_s

30 มี.ค. 2567

282 views

เมื่อวันที่ 30 มี.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมทีมงานได้เดินทางมาตรวจดูสภาพเครนก่อสร้างถล่มทับแรงงานเมียนมา เสียชีวิต 7 ราย ที่อ.ปลวกแดง จ.ระยอง



ขณะที่ รศ.ดร.วัชรรินทร์ เปิดเผยว่า วันนี้ได้มาดูพื้นที่การเกิดอุบัติเหตุของเครนถล่ม ซึ่งเป็นการก่อสร้างหอสูง โดยทาวเวอร์เครนมีการต่อตัวขึ้นไป สันนิษฐานการเกิดอุบัติเหตุว่าน่าจะเกิดจากเครนกำลังทำงานต่อตัวขึ้นไปเรื่อยๆ โดยใช้ไฮโดรลิกส์หรือแม่แรงดันตัวเองขึ้นไป แล้วก็เสริมด้านล่าง ที่สันนิษฐานอย่างนี้เพราะว่าไปดูที่เกิดเหตุการณ์ มีคนตกลงมาเสียชีวิต 7 คน ซึ่งปกติการใช้เครนทำงานจะใช้คนทำงานคนเดียว ซึ่งการทำงานใช้คนเยอะอย่างนี้ แสดงว่าอยู่ระหว่างการประกอบชิ้นส่วนอะไรสักอย่าง น่าจะเป็นการยกเครนขึ้นไป ไม่แน่ใจว่าความผิดพลาดเกิดจากอะไร



ซึ่งก็ได้มีการแนะนำเจ้าหน้าที่ตำรวจคือ 1. จะต้องสอบสวนผู้อยู่ใกล้เหตุการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งมันเกิดขึ้นได้หลายอย่าง เช่น ชิ้นส่วนไม่ปกติ ไม่แข็งแรง ตัวซัพพอร์ทที่ยึดเครนกับตัวอาคารมันหลวมหรือไม่ หรือจะเกิดความไม่รอบคอบของคนที่มีดันไฮโดรลิกส์ขึ้นไปไม่ถูกวิธีต่างๆ ซึ่งการทำงานเหล่านี้ปกติจะต้องมีวิศวกรเครื่องกลที่มีประสบการณ์คอยควบคุมงานด้วย ซึ่งก็ได้แนะนำให้เจ้าหน้าที่ไปสอบในประเด็นเหล่านี้ ซึ่งเครนที่ถล่มลงมามีความสูงไม่ต่ำกว่า 50 ม. ซึ่งจุดติดตั้งเครนเป็นหอสูงหรือปล่องหลอม ซึ่งไปตั้งอยู่บนเนินเขาอีกที ซึ่งพอเครนล่วงลงมาถึงพื้นต่ำกว่าฐานทาวเวอร์ลงไปอีก ทำให้คนตกลงมาเสียชีวิต



เมื่อเวลา 14.30 น. นายกำธร เวหน รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ได้ตั้งโต๊ะแถลงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยผลการหารือได้ข้อสรุป 8 ข้อ ดังนี้ 1.เยียวยาให้ญาติผู้เสียชีวิต จำนวน 7 ราย รายละ 1.6 ล้านบาท โดยวันที่ 29 มีนาคม 2567 ได้มอบเงินสดให้กับญาติของผู้เสียชีวิตไปแล้วราย ๆ ละ 5 แสนบาท คงเหลือ 1,100,000 บาท ข้อ 2 นายจ้าง รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดการศพ ให้กับลูกจ้างผู้เสียชีวิตทั้ง 7 ราย ข้อ 3 กรณีฝ่ายลูกจ้างมีข้อเรียกร้องว่าเงินสมทบประกันสังคมที่นายจ้างหักจากลูกจ้างแต่ไม่ได้นำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมสำนักงานประกันสังคมจะติดตามให้เป็นรายบุคคลใน 2 สัปดาห์ ข้อ 4 กรณีฝ่ายลูกจ้างมีข้อเรียกร้องว่าลูกจ้างประสบอันตรายสูญเสียอวัยวะและยังไม่ได้รับการช่วยเหลือสำนักงานประกันสังคมจะติดตามให้นายจ้างนำส่งเอกสารเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและรายละเอียดภายใน 2 สัปดาห์ ข้อ 5 กรณีฝ่ายลูกจ้างส่งเอกสารค่ารักษาพยาบาลเบิกกับนายจ้างแต่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือสำนักงานประกันสังคมจะดำเนินการตรวจสอบข้อ ภายใน 2 สัปดาห์ ข้อ 6 กรณีหนังสือเดินทางของลูกจ้างทั้งสองฝ่ายประสงค์ตรงกันจะเก็บเอาไว้ที่บริษัทและจะถ่ายเอกสารให้กับลูกจ้าง และเมื่อลูกจ้างออกจากงานนายจ้างจะคืนเอกสารหนังสือเดินทางให้ทุกคน ข้อ 7 กรณีลูกจ้าง 3 คนซึ่งมีข้อสงสัยว่านายจ้างจะเลิกจ้างสำนักงานสวัสดิการแรงงานและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยองจะตรวจสอบให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด และข้อ 8 นายจ้างรับว่าจะปฏิบัติต่อลูกจ้างชาวเมียนมาให้ได้รับสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน




ทั้งนี้รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยองยืนยันว่า จะเร่งตรวจสอบถึงสาเหตุถึงการเกิดเหตุ และหาข้อเท็จจริงกรณีที่มีการหักเงินประกันสังคมแต่ยังไม่ได้นำส่ง ส่วนประเด็นเรื่องการจัดการศพ จะดำเนินการให้ญาติได้พูดคุยกันและประกอบพิธีทางศาสนาในพื้นที่อำเภอปลวกแดงจังหวัดระยอง โดยหลังการเจรจาพูดคุยแล้วเสร็จสมบูรณ์ พบว่ากลุ่มแรงงานชาวเมียนมาต่างส่งเสียงดีใจและพอใจกับผลการเจรจาทั้งหมด

คุณอาจสนใจ