สังคม
สพฐ. ห่วงใย กำชับโรงเรียนดูแลตัดเกรดนักเรียนตามมาตรฐาน ย้ำ ไม่มีเก็บเงินเพิ่มทุกกรณี
โดย kanyapak_w
22 มี.ค. 2567
34 views
สพฐ. ห่วงใย กำชับโรงเรียนดูแลตัดเกรดนักเรียนตามมาตรฐาน ย้ำ ไม่มีเก็บเงินเพิ่มทุกกรณี
(22 มี.ค.) ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพนักเรียน ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งเน้นส่งเสริมสวัสดิภาพนักเรียน ยกระดับคุณภาพการศึกษา รวมถึงการลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง เพื่อให้นักเรียนมาโรงเรียนอย่างมีความสุข ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเต็มตามศักยภาพ
โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่กระทำต่อนักเรียนทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังเช่นข่าวที่ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ว่ามีครูโรงเรียนแห่งหนึ่ง เรียกเก็บเงินจากเด็กนักเรียนเพื่อให้แก้คะแนนที่ติด ร ไม่เช่นนั้นจะไม่ลงระบบแก้คะแนนให้ ถึงแม้จะไม่ใช่สถานศึกษาในสังกัด สพฐ. ก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่ สพฐ. มีความห่วงใยและต้องการกระตุ้นเตือนหน่วยงานในสังกัดให้มีการเฝ้าระวังและกำชับผู้ปฏิบัติงานให้ดำเนินการตามมาตรฐานที่ได้กำหนดไว้ โดยเฉพาะเรื่องการให้คะแนนผลการเรียนของนักเรียน ซึ่ง สพฐ. มีแนวทางที่ชัดเจนในเรื่องนี้อยู่แล้ว และไม่มีนโยบายที่จะเรียกเก็บเงินจากนักเรียนหรือผู้ปกครองในทุกกรณี
ทั้งนี้ สพฐ. ได้มีหนังสือซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้และการสอนซ่อมเสริม โดยมีเจตนากระตุ้นให้สถานศึกษากำกับ ติดตาม ช่วยเหลือ สอนซ่อมเสริมและดำเนินการวัดและประเมินผลกรณีนักเรียนมีผลการเรียนไม่สมบูรณ์ (ติด ๐ ร มส) เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งผู้เรียนและผู้สอน เพื่อให้การเรียนดีขึ้น ลดปัญหาของผู้เรียนในการติด ๐ ร มส โดยการที่นักเรียนจะได้รับการตัดสินผลการเรียน ต้องมาจาก 2 ส่วน
ได้แก่ 1) เวลาเรียน ซึ่งกำหนดให้ผู้เรียนต้องมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของเวลาเรียน เป็นการมุ่งหวังให้ผู้สอนมีเวลาในการพัฒนาผู้เรียน และเติมเต็มศักยภาพของผู้เรียน และเพื่อให้การจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ
2) คะแนนการประเมินระหว่างเรียนและคะแนนปลายปี/ปลายภาค ซึ่งการประเมินผลการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้นั้น เป็นการประเมินความรู้ความสามารถ ทักษะ เจตคติ ทักษะการคิด ที่กำหนดอยู่ในมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะนำไปสู่การสรุปผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดต่อไป ซึ่งการกำหนดสัดส่วนคะแนนระหว่างเรียนกับคะแนนปลายปี/ปลายภาค ให้ความสำคัญของคะแนนระหว่างเรียนมากกว่าคะแนนปลายปี/ปลายภาค เช่น 60 : 40, 70 : 30, 80 : 20 เป็นต้น
“เมื่อเกิดเหตุดังที่ปรากฏในข่าว ถึงแม้ไม่ใช่สถานศึกษาในสังกัด สพฐ. แต่เราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในประเด็นดังกล่าว และมีความห่วงใยว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณชนได้ จึงกำชับให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ และสถานศึกษาทุกแห่ง เร่งทำความเข้าใจกับนักเรียนและผู้ปกครองได้รับรู้รับทราบข้อเท็จจริง รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบจากประเด็นดังกล่าวได้ และขอให้สาธารณชนมั่นใจว่า สพฐ. จะกำกับดูแลหน่วยงานในสังกัดให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งผู้เรียนและผู้สอน เป็นไปตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการอย่างแท้จริง” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
แท็กที่เกี่ยวข้อง ข่าวสังคม ,การศึกษา ,ตัดเกรด ,ตัดเกรดเรียน