สังคม

เพจคลังสารสนเทศ สรุปรายรับรายจ่าย รฟท. ปี 2561 - 2564 พบขาดทุน 6 หมื่นล้าน

โดย nutda_t

20 พ.ย. 2566

846 views

กรณีโซเชียลแชร์เรื่องหลักเกณฑ์การจองตั๋วรถไฟล่วงหน้า ของเพจประชาสัมพันธ์ของการรถไฟฯ ซึ่งหลายคนถึงกับบอกว่าหัวจะปวด บางคนบอกว่าอาจจะต้องกลับไปเรียนวิชาคณิตศาสตร์กันใหม่ เนื่องจากมีการกำหนดหลักเกณฑ์รายะละเอียดการจองตั๋วล่วงหน้า แตกต่างจากการเดินทางแบบอื่นๆ อย่างสายการบิน ซึ่งจองล่วงหน้ากันได้เป็นปี แต่สำหรับรถไฟ จะจองล่วงหน้าต้องขึ้นอยู่กับระยะทาง เช่น

1. กรณีผู้โดยสารที่จองตั๋วเดินทาง น้อยกว่าร้อยละ 25 ของระยะทางขบวนรถ จองตั๋วล่วงหน้าได้ 1 วัน

2. กรณีผู้โดยสารที่จองตั๋วเดินทาง ตั้งแต่ร้อยละ 25 แต่ไม่ถึง 60 ของระยะทางขบวนรถ จองตั๋วล่วงหน้าได้ภายใน 30 วัน

3. ผู้โดยสารที่จองตั๋วเดินทาง ตั้งแต่ร้อยละ 60 ของระยะทางขบวนรถขึ้นไป จองตั๋วล่วงหน้าได้ภายใน 90 วัน ซึ่งกำหนดวันข้างต้นให้รวมถึงการเปลี่ยนแปลงการเดินทางด้วย

ทำเอาคนในโซเชียลคอมเมนต์กันจำนวนมาก เพราะต้องมาคำนวณ หาคำตอบก่อนว่าสถานีที่เราจะไป มีระยะทางคิดเป็นร้อยละเท่าไหร่ ของระยะทางขบวนรถ ซึ่งก็มีการยกตัวอย่าง เช่น

สายใต้ หากผู้โดยสารเริ่มต้นการเดินทางจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ไปจนถึงสถานีหัวหิน เป็นการจองตั๋วเดินทางน้อยกว่าร้อยละ 25 ของระยะทางขบวนรถ จะสามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้ 1 วัน แต่ถ้าไปจนถึงสถานีชุมพร สามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้ 30 วัน และถ้าเดินทางตั้งแต่สถานีสุราษฎร์ธานีเป็นต้นไป สามารถจองตั๋วล่วงหน้าได้ 90 วัน

อย่างไรก็ตาม อินโฟกราฟฟิกดังกล่าวถูกลบไปแล้ว





ด้าน อ.ธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ยังแซวว่า อ่านแล้วสนุกใจเหลือเกิน ขณะที่ อ.สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ก็โพสต์บอกว่า ออกเป็นข้อสอบ ONET ปีนี้น่าจะได้


ตั้งโจทย์ว่า ทะเบียนบ้านอยู่ลำปาง แต่ทำงานอยู่ปราณบุรี หากต้องการกลับบ้านช่วงสงกรานต์ปี 2567 เพื่อไปใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาท ต้องขึ้นรถไฟสายใต้จากต้นทางหาดใหญ่ แล้วไปต่อรถไฟสายเหนือ กรุงเทพ-เชียงใหม่ จะสามารถจองตั๋วได้เร็วที่สุด เดือนใด

ก. ตุลาคม 2566

ข. มีนาคม 2567

ค. เมษายน 2567

ง. ไม่ต้องไป เพราะเงินดิจิทัลยังไม่ออก



ขณะที่ เพจคลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (เพจตัวตึงของรัฐสภา) ทำอินโฟกราฟฟิก ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรถไฟฯ บอกว่า ก่อนจะจองตั๋วรถไฟ แอดมินขอนำเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ​โดยงบปี 2566 ยอดรวม 12,006,430,600 บาท ( 12,006 ล้านบาท) พร้อมกับแจกแจงเป็สัดส่วนว่าเป็นงบเอาไปใช้สำหรับอะไรบ้าง

นอกจากนี้ เพจคลังสารสนเทศสภา ยังนำเอางบกำไรขาดทุนของการรถไฟมาแจกแจงเป็นรายรับรายจ่าย เป็นข้อมูลสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กับยายน 2564 พบว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย มีรายรับ 12,775 ล้านบาท แต่มีรายจ่ายมากถึง 27,980 ล้านบาท ขาดทุนมากถึง 15,204 ล้านบาท

เพจคลังสารสนเทศสภา ขยี้ซ้ำอีก บอกมีสมาชิกเพจบางท่านขอให้รวมกำไร/ขาดทุน ในรอบ 10 ปีให้หน่อย แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องความขยันของแอดมิน เลยสรุปมาให้ 4 ปี คือ ตั้งแต่ปี 2561 - 2564

พบว่า

ปี 2564 ขาดทุน 18,251 ล้านบาท

ปี 2563 ขาดทุน 19,083 ล้านบาท

ปี 2562 ขาดทุน 16,341 ล้านบาท

ปี ​2561 ขาดทุน 12,481 ล้านบาท

​รวม 4 ปี ขาดทุน ​ 66,158,313,593.30 ​ บาท ( 66,158 ล้านบาท)

(ที่มาข้อมูลทั้งหมด ก็มาจาก รายงานประจำปี 2563 - 2565 การรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ต้องแจ้งกับสภา)





แท็กที่เกี่ยวข้อง  การรถไฟแห่งประเทศไทย ,รฟท.

คุณอาจสนใจ

Related News