สังคม

เลิกได้เลิก! หมอชี้ลงโทษเด็ก ‘สก็อตจั๊มพ์’ เสี่ยงกระดูกเข่าร้าว - ครูยันสั่งไม่ถึงร้อยครั้งตามที่เป็นข่าว

โดย nattachat_c

21 มิ.ย. 2566

355 views

จากกรณี วันที่ 19 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านโป่งแดง ต.ทุ่งหัวช้าง จ.ลำพูน พบว่า มีครอบครัวเด็กป่วยจากโรคกระดูกมานาน ใช้ไม่ค้ำยันตลอดระยะเวลารวมประมาณ 5 เดือน รักษาอย่างไรก็ไม่หาย วันนี้อาการหนักมาก จากรักษาในหมู่บ้าน ครอบครัวต้องนำตัวส่งรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดลำพูน อย่างเร่งด่วน


โดย นายพงษ์ (นามสมุติ) ผู้เป็นพ่อ ได้นำบุตรชาย ชื่อ ดช.ตุ้ย (นามสมมุติ) เป็นคนไข้ของโรงพยาบาลจังหวัดลำพูน รักษาตัวที่ห้องรวม โรคกระดูกชั้น 1 โรงพยาบาลลำพูน สอบถามนายพงษ์ ผู้เป็นพ่อ บอกว่า น้องตุ้ย อายุ 12 ปี น้ำหนัก 80 กิโลกรัม ก่อนนั้น เรียนอยู่ประถม 6 โรงเรียนในหมู่บ้าน ได้รับบาดเจ็บจากกระดูกแตกร้าว และอักเสบที่ขาซ้าย


สาเหตุเกิดจาก ถูกคุณครูประถมทำโทษ เมื่อวันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา น้องตุ้ยทำผิด คือ ลืมเอาหน้ากากอนามัยมาโรงเรียน ถูกทำโทษครั้งแรกตอนเช้า ครูให้ลุกนั่งหรือสก็อตจั๊มพ์ จำนวน 50 ครั้ง ซึ่งครั้งแรกน้องตุ้ย บอกว่า ก็เริ่มเจ็บขาแล้ว


ต่อมา ในวันเดียวกัน เวลาเรียน 13.00 น.ต้องเข้าเรียนในช่วงบ่าย แต่น้องตุ้ยกับเพื่อนๆ เข้าห้องเรียนช้า เพราะไปเล่นฟุตบอล พอเข้าห้องเรียนช้า ครูก็ลงโทษอีกให้ลุกนั่งพร้อมกับเพื่อนๆ ทั้งห้อง จำนวน 100 ครั้ง ทำให้น้องตุ้ยต้องสก็อตจั๊มพ์รวม 150 ครั้ง


ต่อมาน้องตุ้ย กลับบ้านก็รู้ตัวว่า เจ็บขามาก และเพื่อนคนอื่นๆก็เจ็บปวดที่ขาเช่นกัน พอวันแรกไม่กล้าบอกพ่อ เพราะกลัวคุณครู และกลัวที่จะไปหาหมอ วันต่อมาก็ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ เพราะอาการหนักมาก เดินไม่ได้ ทางพ่อ ก็พาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทุ่งหัวช้าง ตั้งแต่วันที่ 11 ก.พ.เป็นต้นมา และได้ลาโรงเรียน ไม่ได้เรียนหนังสือตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน และวันนี้ลูกชายก็ไม่ได้เรียนหนังสือต่อในระดับชั้นมัธยม 1 อีกด้วย

-------------

วานนี้ (20 มิ.ย. 66) ทีมข่าวได้ลงพื้นที่ พบกับ รักษาการผู้อำนวยการโรงเรียน เปิดเผยว่า ตนเพิ่งมารับตำแหน่งเมื่อ วันที่ 8 มิ.ย. 66 แต่ก็ทราบเรื่องเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะทางเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลำพูนเขต 2 ได้กำชับให้ติดตามกรณีดังกล่าว เช่นกัน


โดยเท่าที่ทราบคือ เหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อช่วงเช้าวันที่ 9 ก.พ. 66 ที่ผ่านมา ตอนแรกเด็กถูกครูสั่งทำโทษ โดยการให้ลุกนั่งประมาณ 20-30 ครั้ง ช่วงบ่ายเด็กเข้าเรียนสาย จึงถูกครูสั่งทำโทษอีก 20 ครั้ง และให้เก็บขยะ และไม่ได้สั่งทำโทษเป็นร้อยครั้งตามที่เป็นข่าว


วันต่อมา วันที่ 10 ก.พ. 66 เด็กมาเรียนตามปกติ วันที่ 11 ก.พ. 66 เด็กก็ยังขี่ จยย.มาสอบโอเน็ตได้ปกติ จนวันจันทร์ ที่ 13 ก.พ. เด็กไม่มาโรงเรียนเพราะไม่สบาย วันที่ 15 ก.พ.เด็กก็ไม่มาโรงเรียนอีก ครูจึงโทรไปสอบถาม และไปเยี่ยมที่บ้าน และก็พาเด็กไปหาหมอ เพราะปวดเข่าซ้าย หมอให้ยาแก้ปวดและมารักษาตัวที่บ้าน


จนกระทั่ง วันที่ 16 ก.พ. ผู้ปกครองถึงมาบอกว่า สาเหตุที่เด็กปวดขา มาจากการที่ครูสั่งทำโทษให้ลุกนั่ง ซึ่งครูก็ยังไปเยี่ยม และติดตามอาการเด็กเรื่อยมา


วันที่ 20 ก.พ. ครอบครัวให้ครูไปผูกข้อมือให้เด็ก และขอขมาเจ้าที่ตามความเชื่อ ครูก็ไปให้และวันที่ 23 ก.พ. ทางครูก็รวบรวมเงินกันได้ประมาณ 10,000 บาท และนำไปมอบให้กับครอบครัวของเด็ก เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษา


วันที่ 27 ก.พ. สำนักงานเขตพื้นที่ก็มอบเงินช่วยเหลืออีกสามพันบาท


วันที่ 28 ก.พ. ครูและครอบครัวก็พาเด็กไปหาหมอที่ รพ.ทุ่งหัวช้าง และหมอบอกว่าเด็กอาการหนัก ต้องให้นอนรักษาตัวที่ รพ. แต่ทางครอบครัวไม่ให้เด็กนอนเพราะไม่สะดวก และครูก็คอยติดตามอาการเด็กมาตลอด และเด็กก็ไปรักษาตัวที่ รพ. สลับกับรักษาตัวที่บ้าน


วันที่ 14 มิ.ย. เด็กอาการหนักขึ้น รพ.ทุ่งหัวช้างส่งไปรักษาตัวที่ รพ.ลำพูน และไปทำเอ็มอาร์ไอ (เอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์) ที่เชียงใหม่ และทราบผลเมื่อวาน เด็กมีอาการหนักกระดูกอักเสบ  มีหนอง และฝีในในกระดูก จนกลายเป็นข่าว


ตอนนี้ทางโรงเรียนกำลังหารือเพื่อช่วยเหลือเด็กเช่นกัน และจะเข้าไปเยี่ยมเด็กที่ รพ. และที่ผ่านมา ทางโรงเรียนและครูก็ไม่เคยละเลยเด็ก คอยติดตามอาการเด็กมาโดยตลอด และสิ่งที่ต้องทำตอนนี้คือ โฟกัสในเรื่องการช่วยเด็กก่อน

-------------

นายนพดล มังสังข์ อายุ 30 ปี ครูประจำชันน้องตุ้ย ซึ่งเป็นครูประจำชั้นที่สั่งทำโทษ เปิดเผยว่า


การลงโทษเด็กไม่ได้เยอะมากตามที่เป็นข่าว เพราะทำโทษตอนเช้า 20-30 ครั้ง เพราะไม่ใส่แมสก์ ส่วนตอนบ่ายแค่ 20 ครั้ง แล้วก็มอบหมายให้เก็บขยะ และทำไหวแค่ไหนก็เท่านั้น ให้รู้แค่ว่าเขาทำผิด


ในวันรุ่งขึ้นเขาก็มาโรงเรียนตามปกติ ถ้าดูจากภาพกล้องวงจรปิด ตอนที่พักเที่ยงจะเห็นวิ่งได้อยู่ หลังจากที่เกิดเหตุ ก็ดูแลดูทั้งส่งข้าวเที่ยงให้ พาไปส่ง รพ. พาข้อสอบไปสอบถึงที่บ้านเพื่อให้เด็กจบการศึกษาให้ได้


ต่อมา ผู้ปกครองมาขอให้ไปส่ง รพ.เพราะเด็กไม่เจ็บ ไม่ไข้ ไม่ปวด แต่ลุกไม่ได้ จึงพาไปหาหมอที่ รพ.จนทราบว่าเด็กกระดูกแตกหัก ซึ่งตนเองก็ได้ถามหมอว่าการให้เด็กลุกนั่งจะทำให้เด็กกระดูกแตกหักได้หรือไม่ ซึ่งหมอก็บอกว่าเป็นไปได้ยาก เพราะเป็นกระดูกขาชิ้นใหญ่แข็งแรงมาก ต้องโดนกระแทกอย่างแรงเท่านั้น ซึ่งผู้ปกครองก็ยืนยันว่า เด็กไม่เคยไปกระแทกหรือรถล้มแต่อย่างใด จนวันที่ 14 มิ.ย. 66 พาไปเอ็มอาร์ไอที่เชียงใหม่ และเมื่อวานนี้ทราบผลดังกล่าว และที่ผ่านมายืนยันว่า ได้ติดตามและดูแลเด็กมาโดยตลอด

-------------

ต่อมา ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บ้านของน้องตุ้ย พบกับนางสายใจ สุภา อายุ 37 ปี แม่ของน้องตุ้ย เปิดเผยว่า ลูกชายบอกตนว่าครูสั่งให้สก๊อตจัมพ์ตอนเช้า 50 บ่ายอีก 100 ครั้ง จนเกิดบาดเจ็บ และต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้


แต่ก็ยอมรับว่าลูกชายไม่ค่อยไปหาหมอเพราะกลัวหมอ ตอนนี้ลูกชายถูกส่งตัวจากโรงพยาบาลลำพูน ไปรักษาตัวที่ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่แล้ว
-------------

ด้าน ด.ช.ยา (นามสมมุติ) อายุ 12 ปี เพื่อนของน้องตุ้ย สมัยเรียนชั้น ป.6 ด้วยกัน เปิดเผยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันที่ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา ว่าตอนเช้าวันที่ครูสั่งทำโทษนั้นตนเองก็โดนด้วยเพราะไม่ได้สวมแมสก์ ตนเองกับตุ้ยช่วงเช้าโดนสก๊อตจั๊มพ์ไปคนละ 50 ครั้ง แต่ครูก็ให้เรานับเอง บางคนก็ทำถึงบางคนก็ไม่ถึง


ส่วนตนเองกับเพื่อนคนอื่นก็แค่มีอาการเคล็ดขัดยอกเท่านั้น ไม่หนักเหมือนตุ้ย ส่วนช่วงบ่ายนั้น ตนเองไม่ทราบว่าตุ้ยโดนไปกี่ครั้ง ตอนนี้ก็เป็นห่วงเพื่อนเหมือนกัน และขอให้เพื่อนหายไวๆ
-------------

วานนี้ (20 มิ.ย. 66) เฟซบุ๊กหมอหมู วีระศักดิ์ ของ รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มศว. โพสต์ถึงกรณีข่าวที่ ครูโรงเรียนแห่งหนึ่ง ใน จ.ลำพูน สั่งทำโทษเด็กนักเรียนชั้น ป.6 ให้สก็อตจั๊มพ์หลายครั้ง จนกระดูกแตก ระบุว่า


"เลิกเหอะ สั่งลงโทษนักเรียน ด้วยการ สก็อตจั๊มพ์ ครั้งละเยอะๆ คำว่า สก็อตจั๊มพ์ ความจริงแล้วมาจากคำว่า “สควอท” (Squat) ที่แปลว่านั่งยอง ๆ รวมกับคำว่า จั๊มพ์ (Jump) ที่แปลว่ากระโดด เราจึงควรเรียกว่า “สควอทจั๊มพ์”

จากข่าว พ่อร้องสื่อ ลูก ป.6 ถูกครูทำโทษสก๊อตจั๊มพ์จนกระดูกแตก รักษาตัวใน รพ. 5 เดือน อาการไม่ดีขึ้น ต้องขอเรียนว่า การสั่งลงโทษนักเรียน ด้วยการ ‘สก็อตจั๊มพ์’ ครั้งละเยอะๆ จะส่งผลให้เกิด

1. กระดูกบริเวณนิ้วเท้าหัก หรือเกิดการฉีกขาดของเส้นเอ็นเท้าได้ เนื่องจากการกระโดดนานๆ หลายๆ ครั้ง จะทำให้เกิดการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อขา จนทำให้เกิดการเขย่งกระโดดด้วยนิ้วเท้า หรือส้นเท้า ซึ่งเป็นท่าที่ผิด และจะทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ง่าย

2. กระดูกเข่าร้าวหรือเคลื่อนหลุด เนื่องจากการกระโดดนานๆ หลายๆ ครั้ง จะทำให้ไม่สามารถเอนตัวไปข้างหน้าเล็กน้อยขณะนั่งยอง ๆ จึงทำให้กระดูกบริเวณเข่าได้รับแรงกระเทือนจากน้ำหนักตัวทั้งหมด ส่งผลให้ข้อต่อหัวเข่าร้าวหรือเคลื่อนหลุดได้

3. ภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย ซึ่งเป็นภาวะอันตรายที่มาจากการที่กล้ามเนื้อลายส่วนที่เสียหายสลายตัว แล้วปล่อยสารที่อยู่ภายในเซลล์เข้าสู่กระแสเลือดจนอาจทำให้ไตวายได้ สาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อลายสลาย อาจเกิดขึ้นได้เมื่อออกกำลังกายหนักมากเกินไป หรือนานเกินไป

ขอรณรงค์ให้เลิกการสั่งลงโทษนักเรียน ด้วยการ ‘สก็อตจั๊มพ์’ ครั้งละเยอะๆ นะครับ เพราะเสี่ยงอันตรายต่อนักเรียนอย่างมากครับ

-------------

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ทวีตข้อความว่า


“หากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าเป็นการลงโทษที่ผิดระเบียบกระทรวง หรือเข้าข่ายการใช้ความรุนแรงกระทำทารุณกรรมต่อเด็ก ก็ต้องมีการดำเนินคดีกับครู และผู้บริหารที่เห็นด้วยกับการสั่งลงโทษ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กอย่างถึงที่สุด”

-------------
[ ได้เวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก กับครูที่กระทำทารุณกรรมต่อเด็ก อย่างจริงจัง ]


ผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนคงได้อ่านข่าว การที่ครูบางคน ใช้ความรุนแรงในการลงโทษ หรือกระทำกับนักเรียน จนนักเรียนได้รับบาดเจ็บทางกาย หรือทางใจ


การสั่งให้นักเรียนลุกนั่ง เป็นร้อยครั้ง โดยไม่ตระหนักเลยว่า การลงโทษดังกล่าว จะเกินกว่าศักยภาพของเด็กจะปฏิบัติได้ หรือไม่ เอาความสะใจของตนเป็นที่ตั้ง จนทำให้นักเรียนกระดูกแตก กล้ามเนื้อฉีก


จงใจกล้อนผมหรือใช้วิธีการใดๆ เพื่อตีตราประจาน ให้นักเรียนรู้สึกอับอาย จนเกิดเป็นบาดแผลในใจ


พูดจาดูหมิ่นเหยียดหยาม ข่มขู่ว่าจะเอาปืนมายิงนักเรียน


พฤติกรรมที่ส่อไปในทางล่วงเกินทางเพศ คุกคามทางเพศ หรือล่วงละเมิดทางเพศ และอื่นๆ


การกระทำเหล่านี้ นอกจากจะเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายอาญา มาตรา 391 ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้ว


ยังเข้าข่ายเป็นการกระทำทารุณกรรมเด็ก ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก มาตรา 26 ซึ่งบทกำหนดโทษตามมาตรา 78 กำหนดไว้ว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 26 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกด้วย


แต่ที่ผ่านมา กลับไม่มีการดำเนินคดีกับครูที่ก่อเหตุอย่างจริงจังเลย มีแต่การลงโทษทางวินัยสถานเบา พอเรื่องซา ครูคนเดิมก็กลับมาสอนอีก แล้วพฤติกรรมเดิมๆ ที่เป็นปัญหา ก็เกิดขึ้นซ้ำกับนักเรียนคนอื่นๆ ไม่จบไม่สิ้น


ที่ผ่านมา เหตุผลที่ไม่มีการดำเนินคดีอาญาอย่างจริงจัง เป็นเพราะว่า


1) แม้ว่าเด็กจะร้องทุกข์เองได้ แต่ในทางปฏิบัติ การร้องทุกข์กล่าวโทษมักจะต้องดำเนินการโดยพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง ซึ่งส่วนมากมักจะถูกกล่อม เชิงข่มขู่ จากผู้บริหารสถานศึกษาบางท่าน ให้พ่อแม่ไม่แจ้งความดำเนินคดี โดยมักจะอ้างว่า "ถ้าแจ้งความแล้ว เด็กอาจจะอยู่ในโรงเรียนไม่ได้" พอพ่อแม่ กังวลว่าลูกจะถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียน ก็จะยอมไม่แจ้งความ หลายกรณีแทนที่กระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นเจ้าภาพในการดำเนินคดีกับครูที่กระทำทารุณกรรมกับนักเรียน อย่างถึงที่สุด กลับทำตัวเป็นผู้ไกล่เกลี่ย เพื่อช่วยให้ครูที่กระทำความผิด ให้ไม่ต้องรับโทษทางอาญา กรณีที่พ่อแม่ยืนยันจะแจ้งความดำเนินคดี ส่วนใหญ่พ่อแม่ต้องย้ายลูกไปเรียนที่อื่น แปลกไหมครับ เด็กที่ถูกกระทำต้องย้ายหนี ในขณะที่ครูผู้กระทำ ยังคงสอนต่อไปที่โรงเรียนเดิม


2) คดีอาญาที่เกี่ยวกับเด็ก ในหลายกรณี ต้องมีนักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ เข้าร่วมในกระบวนการสอบสวนด้วย มีขั้นตอนในการทำงานเพิ่มเติม จึงทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่อยากจะดำเนินคดี ตำรวจจึงมักจะไกล่เกลี่ย ให้ลงเพียงบันทึกประจำวัน


เรื่องการทารุณกรรมเด็ก หรือการใช้อำนาจนิยม หรือการใช้ความรุนแรงกับเด็ก นี่ไม่ใช่เรื่องเล็กนะครับ หลายครั้งนักเรียนถึงกับบาดเจ็บสาหัส บางรายเป็นบาดแผลในใจ จนนำไปสู่การฆ่าตัวตาย หลายรายต้องเติบโตขึ้นมาอย่างมีปมในใจ


ในประเทศที่พัฒนาแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครอง จะมีการวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อปกป้องสวัสดิภาพของเด็กร่วมกัน โดยจะตระหนักร่วมกันว่า "เด็กทุกคน คือ ลูกของผู้ใหญ่ทุกคนในสังคม" หากมีครูที่ไม่ดีบางคน ทำทารุณกรรมต่อเด็ก องค์กรพ่อแม่จะร่วมกันติดตาม เพื่อให้มีการดำเนินคดีกับครูผู้ก่อเหตุอย่างถึงที่สุด และจะไม่ยอมให้ครูเหล่านี้กลับมาทำร้ายเด็กคนไหนได้อีก


เครือข่ายพ่อแม่ผู้ปกครอง จึงถือเป็นกลไกสำคัญอย่างยิ่ง ในการปกป้องเด็ก โรงเรียนไหนที่สมาคมผู้ปกครองเข้มแข็ง โรงเรียนนั้นก็จะมีความก้าวหน้า เด็กๆ ก็จะได้รับการดูแลอย่างดี


ผมคิดว่า สิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งดำเนินการ ก็คือ กระทรวงศึกษาธิการ จะต้องประกาศนโยบาย "โรงเรียนที่ปลอดจากอำนาจนิยม และการกลั่นแกล้งรังแก" ให้ชัดเจน ทำหน้าที่ในการปกป้องเด็กอย่างจริงจัง ขับเคลื่อนนโยบายนี้ ร่วมกับองค์กรครูต่างๆ


มีการอบรมซักซ้อมกับครูประจำการทั่วประเทศ เพื่อให้ครูเป็นกลไกสำคัญ ในการปกป้องนักเรียน


ครูส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงกับเด็กหรอกครับ และไม่คิดที่จะปกป้องครูบางคน ที่มีพฤติกรรมกระทำทารุณกรรมต่อเด็กด้วย ขอเพียงมีนโยบายที่ชัดเจน ผมเชื่อว่าจะได้รับความร่วมมือจากครูบาอาจารย์ทั่วประเทศ


นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปด้วย ก็คือ การส่งเสริมการสร้างเครือข่าย และการมีส่วนร่วมขององค์กรพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นแนวร่วมที่เข้มแข็ง ในการปกป้องเด็กทุกคนในประเทศ


และนับจากนี้เป็นต้นไป หากพบว่าครูท่านใดมีพฤติกรรมกระทำทารุณกรรมต่อเด็ก หากการสอบสวนแล้วพบว่ากระทำผิดจริง นอกจากจะมีการดำเนินการทางวินัยแล้ว กระทรวงศึกษาธิการ จะต้องบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และดำเนินคดีอาญา อย่างถึงที่สุด อีกด้วย

----------------

คุณอาจสนใจ

Related News