เลือกตั้งและการเมือง

“ชัยธวัช” ไม่กังวลถูกยุบพรรคบอกคุยลูกพรรคหลายรอบแล้ว-เห็นด้วย กมธ.นิรโทษ ให้ตั้ง คกก.พิจารณานิรโทษฯ

โดย kanyapak_w

2 พ.ค. 2567

92 views

“ก้าวไกล” ไม่กังวลถูกยุบพรรค “ชัยธวัช” บอกคุยลูกพรรคหลายรอบแล้ว โอดจะพิจารณาแบบคดีก่อนหน้าไม่ได้ เหตุความมุ่งหมาย-ความร้ายแรงของโทษต่างกัน ยันเวลาแทบไม่พอ เพราะต้องวิ่งขอคนมาเป็น “พยานผู้เชี่ยวชาญ” อุบแนวทางการต่อสู้ ชี้ ต้องไต่สวนข้อเท็จจริงใหม่อย่างถึงที่สุด




2 พ.ค. 2567 นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญขยายเวลาให้พรรคก้าวไกลแก้ข้อกล่าวหาในคดีล้มล้างการปกครอง ว่า คดีนี้มีความร้ายแรงมากกว่าคดีก่อนหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุติการหาเสียงการแก้ไข มาตรา112 เพราะเป็นการสั่งให้ยุบพรรคก้าวไกล รวมถึงตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ดังนั้น ศาลควรเปิดโอกาสให้มีระยะเวลาและโอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เรามีความจำเป็นต้องใช้ระยะเวลามากที่จะแสวงหาข้อเท็จจริงและมุมในแง่ของกฎหมาย รวมถึงการประสานงานกับพยานผู้เชี่ยวชาญ ที่ต้องใช้เวลาไปคุย วางประเด็น ประสานงาน เพื่อจะต่อสู้คดี เสนอให้ศาลไต่สวนข้อเท็จจริงมากกว่าคดีที่สั่งให้ยุติการกระทำ โดยเงื่อนไขสภาพความเป็นจริง ไม่ควรจะได้เวลาน้อยกว่าคดีที่แล้ว



เมื่อถามว่าการแก้ข้อกล่าวหาจะแก้ว่าอย่างไร นายชัยธวัช กล่าวว่า ตนไม่ขอลงรายละเอียด เรายืนยันว่าในคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาไปแล้วตามมาตรา 49 จะพิจารณาเห็นว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองหรือไม่ ศาลก็วินิจฉัยให้ยุติการกระทำ แต่เมื่อพิจารณาเรื่องยุบพรรค ตามมาตรา 92 ของ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง



“เราเห็นว่าไม่สามารถพิจารณาแบบยุติข้อเท็จจริงได้เลยตามอัตโนมัติ เมื่อมาตรา 49 ตามรัฐธรรมนูญผิด มาตรา 92 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ก็ต้องผิดไปด้วย และยุบพรรคโดยอัตโนมัติ เพราะความมุ่งหมายของกฎหมายต่างกัน ความร้ายแรงของโทษต่างกัน ดังนั้นต้องพิจารณาอย่างถึงที่สุด” นายชัยธวัช กล่าว



นายชัยธวัช ระบุว่า เมื่อศาลเห็นว่ากระทำผิด ในส่วนนี้คือรายละเอียดที่ต้องต่อสู้ ในคำวินิจฉัยที่ให้ยุติการกระทำ กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงหลายอย่างยังไม่ถึงที่สุด แต่เป็นความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าพรรคก้าวไกลกระทำอย่างนั้นอย่างนี้ และเป็นการมัดรวมองค์ประกอบหลายอย่างมารวมกัน โดยที่ไม่ใช่การกระทำของพรรคก้าวไกล แล้วบอกว่าเป็นการกระทำอย่างเป็นขบวนการต่อเนื่องกัน คดีนั้นศาลมองแบบนี้ แต่เป็นเพียงแค่การสั่งให้ยุติการกระทำ แต่หากเป็นคดียุบพรรคการเมืองต้องมีการไต่สวนข้อเท็จจริงใหม่อย่างถึงที่สุด และต้องเฉพาะเจาะจงส่วนที่เป็นการกระทำของพรรคเท่านั้น



เมื่อถามว่าระยะเวลาที่ขอขยายไปเพียงพอหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า ไม่ค่อยเพียงพอ ส่วนจะมีการขอเพิ่มหรือไม่นั้น ก็คงจะต้องขอเพิ่ม แต่ในระยะเวลา 15 วัน ก็ต้องทำให้ดีที่สุด



เมื่อถามว่าบรรยากาศในพรรคเป็นอย่างไรบ้าง นายชัยธวัช กล่าวว่า ไม่ได้มีอะไรพิเศษ เราก็เพิ่งประชุม สส.ไป มีการอัพเดตความคืบหน้าของการต่อสู้คดี รวมถึงแนวทางในการต่อสู้คดี แผนการของพรรค สส.ไม่ได้มีความกังวลแต่อย่างใด เรื่องนี้มีการพูดคุยในพรรคมาหลายรอบแล้ว



นายชัยธวัช ตุลาธน ผู้นำฝ่ายค้าน ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม แถลงย้ำว่ากรรมาธิการเห็นตรงกันที่จะใช้แนวทางในการตั้งคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาคดีในการนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นความคืบหน้าที่มีนัยสำคัญ แทนที่จะมีการออกกฏหมายเพื่อกำหนดฐานความผิด หรือคดีใดคดีหนึ่งหรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเป็นการเฉพาะ ด้วยเห็นว่าไม่น่าจะสอดคล้องกับความเป็นจริง จากลักษณะปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองสืบเนื่องตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน



และในความเห็นส่วนตัวในฐานะผู้นำฝ่ายค้านเกี่ยวกับคดีทางการเมืองที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า และสถานการณ์ไม่ได้เกิดขึ้นจำนวนมากนัก ในระหว่างที่สภายังไม่ได้มีการพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรม มีกลไกและอำนาจของฝ่ายบริหารที่สามารถดำเนินการได้ และรัฐบาลควรพิพิจารณาเพื่อลดเงื่อนไขความขัดแย้งทางการเมืองลง ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ประชาชนคาดหวัง หลังจากมีรัฐบาลชุดใหม่ที่ไม่ได้ เป็นรัฐบาลที่มีนายกฯมาจากการรัฐประหาร



“ควรมีนโยบายที่ชัดเจนต่อฝ่ายตำรวจว่าการปฏิบัติต่อประชาชนที่แสดงออกทางการเมืองควรเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนประชาชน เคารพกระบวนการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดไม่ให้เกิดการใช้อำนาจนอกกฎหมาย หรือพยายามจะไม่ใช้กฎหมายที่เคร่งครัดเข้มงวดเกินไป จนเกิดคดีความมากขึ้น หรือมีการไปแจ้งความตั้งข้อกล่าวหากับประชาชนในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตไม่ควรเกิดขึ้น” นายชัยธวัชกล่าว



นายชัยธวัชระบุว่าในคดีที่ยังไม่ได้ขึ้นในชั้นศาลรัฐบาลสามารถมีมติส่งความเห็นไปยังอัยการได้ เพื่อไม่สั่งฟ้องในคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางการเมือง หรือคดีนโยบาย เพื่อเป็นการส่งสัญญาณเป็นนโยบายไปทางอัยการสามารถใช้ช่องทางตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ. อัยการที่สั่งไม่ฟ้องคดีที่เป็นประโยชน์ต่อ สาธารณะ



สำหรับรายละเอียดในการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาคดีการนิรโทษจะมีการศึกษารายละเอียดหลังจากนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ ในกฎหมายการนิรโทษกรรมของไทยที่ผ่านมา มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแล้วสองครั้ง คือการนิรโทษฯปี 2489 ให้กับประชาชนข้อหากบฏต่อญี่ปุ่น และปี 2499 เกี่ยวกับคดีข้อหากบฏ ส่วนร่างกฎหมายของพรรคก้าวไก่ที่เสนอสภาไปแล้วก็ได้นำรูปแบบมาจากกฎหมาย 2 ฉบับดังกล่าว



ซึ่งด้วยสถานการณ์บริบททางการเมืองที่ต่างกันอาจจะมีการออกแบบคณะกรรมการที่ต่างกันในบางส่วน ไม่สามารถที่จะหยิบยกมาทั้งหมดได้ และอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีนิรโทษฯ หรือจะพิจารณาเพื่อส่งให้ศาลหรืออัยการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม หรือคณะกรรมการควรมีอำนาจในการเปิดรับคดีจากประชาชนที่ตกหล่นเพื่อยื่นต่อกรรมการพิจารณาได้หรือไม่ หรือจะมีอำนาจพิจารณากระบวนการพิเศษสำหรับคดีบางคดีที่มีความละเอียดอ่อน



“ ถ้าจะมีคณะกรรมการ คณะกรรมการจะมีที่มาจากไหน เช่น รัฐบาลแต่งตั้ง หรือจะให้สภาแต่งตั้ง มีองค์ประกอบจากฝ่ายไหนบ้าง ถึงจะมีความสามารถมั่นใจว่าจะใช้ดุลย์พินิจได้อย่างเป็นธรรมรอบด้านและมีความเข้าใจในเป้าหมายการที่จะลดความขัดแย้งทางการเมืองและการยอมรับจากทุกฝ่าย” นายชัยธวัชกล่าว



นายชัยธวัช ยังระบุเพิ่มเติมว่ากรรมาธิการใช้ระยะเวลาค่อนข้างมากในการรวบรวมคดีประเภทคดีและฐานความผิด พยายามแยกการนิรโทษกรรม แต่เห็นข้อจำกัดจากข้อเท็จจริงว่าหากจะใช้วิธีการกำหนดฐานความผิด หรือกำหนดคดี จะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ในทางปฏิบัติ จึงมีการพิจารณาพิจารณารูปแบบคณะกรรมการ



ส่วนคณะกรรมการดังกล่าวจะยึดโยง กับสภาหรือไม่อยู่ที่การออกแบบ หรือจะกำหนดให้มีการ ยึดโยงฝ่ายบริหาร ไม่ได้เป็นการโยงให้กับหน่วยงานอื่นแต่เป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน



ทั้งนี้ยืนยันว่าการนิรโทษครั้งนี้ไม่ครอบคลุมเกี่ยวข้องกับคดีความผิดฐานการทุจริตคอรัปชั่น หรือไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี



“กมธ.นิรโทษ” เตรียมเสนอนิรโทษกรรมคดีมีเหตุจูงใจทางการเมือง พวงคดีไม่รุนแรง ตั้งแต่ปี 48-ปัจจุบัน ขณะที่ต้องแยกพิจารณาคดี ม.112 เหตุเป็นเรื่องละเอียดอ่อน



/////



2 พ.ค. 2567 ที่รัฐสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่วมกันว่า จะมีการนิรโทษกรรมการกระทำและการแสดงออกทั้งหลายที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง โดยมีคำนิยามว่ามูลเหตุทางการเมือง หมายถึงการกระทำอะไรบ้าง โดยจะนิรโทษกรรมตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนจะนิรโทษกรรมการกระทำอะไรบ้าง ที่ประชุมมีความเห็นชอบร่วมกันว่าการกระทำที่มีโทษนั้นควรจะเป็นการกระทำที่อยู่ในบทนิยามคำว่า”มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง” ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ จะไปสรุปประเภทคดีว่ามีการกระทำอะไรตั้งแต่ 2548 จนถึงปัจจุบัน ที่อยู่ในข่ายมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ก็จะนำเข้ามาเป็นรายละเอียดพร้อมทั้งแยกแยะให้เห็น เนื่องจากการกระทำหลายอย่างดูแล้วไม่ใช่ และไม่อยู่ในข่ายที่เป็นมูลเหตุจูงใจทางการเมืองโดยตรง แต่การกระทำในทางกฎหมายที่เรียกว่าเป็นความผิดในหลายบท เช่น บางคนอาจจะโดนคดีหลักและมีคดีรอง เช่น คดีจราจรทางบก คดีนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ คดีเกี่ยวกับพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นต้น



นายชูศักด์ กล่าวต่อว่า ทางกมธ.ฯจะแยกแยะการกระทำประเภทนี้ว่ามีการกระทำอะไรบ้างที่จะสมควรได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ ซึ่งบางเรื่องจะมีขอมติให้ขอนิรโทษกรรมไปเลย เพราะบางคดีเป็นความผิดที่ไม่รุนแรงนัก เช่น ความผิดพ่วง เป็นต้น นอกจากนั้นที่ประชุมยังมีมติขอขยายพิจารณาออกไปอีก 60 วัน แต่กมธ.คงใช้ไม่เต็มทั้ง 60 วัน โดยกมธ.จะทำรายงานสรุปให้เสร็จก่อนเปิดสภาฯในครั้งหน้าในเดือนก.ค.



ส่วนมีคดีอะไรบ้างที่จะให้นิรโทษกรรม นายชูศักด์ กล่าวว่า เป็นคดีที่เราระบุเกิดตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันเกี่ยวกับเหตุการณ์ แต่ไม่ได้ระบุถึงประเภทคดีแบบเป็นรายคดีว่าหมายถึงการกระทำหรือคดีอะไรบางที่อยู่ในข่ายควรที่จะได้รับนิรโทษกรรม ซึ่งจะทำเป็นรายละเอียดไปเสนอให้กับคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ได้พิจารณาในชั้นรายละเอียด ส่วนจะเป็นคดีอะไรบ้างเราจะทำเป็นรายละเอียดแนบเป็นรายงานเพิ่มเติมเข้าไป



“เราก็คิดว่าถ้ามีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองแล้วส่วนใหญ่ก็ต้องได้รับการนิรโทษกรรมทั้งหมด โดยไม่มีการแลกเปลี่ยนอะไร”นายชูศักดิ์ กล่าว



นายชูศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนคดีเกี่ยวกับมาตรา 112 จะแยกไปเป็นอีกกรณีหนึ่งเพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและมีความเห็นที่อาจจะยังไม่ตรงกันมาก เราจึงคิดว่าหน้าจะแยกออกมาเป็นการเฉพาะเพื่อพิจารณาว่าเรามีมาตรการอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่โดยจะไม่พิจารณาร่วมไปในเรื่องที่เราพูดกันไปแล้ว

คุณอาจสนใจ

Related News