สังคม

'ชูวิทย์' บุกร้องสภาทนายความ ยื่นสอบมรรยาท 'ทนายตั้ม' ซัดเรียกราคาผ่านโซเชียล ทำ ปชช.หลงเชื่อ

โดย nattachat_c

11 เม.ย. 2566

208 views

ชูวิทย์ บุกยก 5 ร้องสภาทนายความ ยื่นสอบมรรยาท ทนายตั้ม ษิทรา เบี้ยบังเกิด ปมตั้งโต๊ะแถลงข่าวโจมตี ทำผิดข้อบังคับ ขอให้ลบชื่อ-เพิกถอนใบอนุญาตว่าความ อ้างเป็นอันตรายต่อประชาชน เรียกราคาผ่านโซเชียล ทำคนหลงเชื่อ ด้านอุปนายกสภาฯฝ่ายกม. เผยทนายตั้มถูกร้องเรียนมาแล้ว12 ครั้ง แต่ยังมีพฤติกรรมมาต่อเนื่อง ชี้ ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบ


วานนี้ (10 เม.ย.) เวลา 13.00 น.ที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมือง ได้มายื่นหนังสือร้องเรียนมรรยาททนายความ นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม  ตั้งโต๊ะแถลงข่าวพาดพิงนายชูวิทย์ ทั้งที่ไม่ได้รู้จักกันและไม่ได้เป็นคู่ความ กล่าวหาโจมตี และยังใช้สื่อออนไลน์เฟซบุ๊กพาดพิงตนเองและลูกชาย

ทั้งนี้ ได้ยื่นหนังสื่อร้องเรียนต่อนายวิเชียร ชุบไทยสง นายกสภาทนายความฯ โดยมีนายวัชระ สุคนธ์ กรรมการมรรยาททนายความ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายสมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นคัวแทนมารับคำร้อง

นายชูวิทย์ เผยว่า สืบเนื่องเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 นายษิทรา หรือทนายตั้ม ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ที่บริษัท ษิทรา ลอว์ เฟิร์ม จำกัด ต่อหน้าสื่อมวลชนหลายสำนัก เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ ซึ่งต่อมาผู้สื่อข่าวหลายสำนักก็ได้มีการนำคำสัมภาษณ์ดังกล่าวไปเผยแพร่

ต่อมาในวันที่ 24 ถึง 27 มีนาคม นายษิทรา ก็ได้แถลงข่าวให้สัมภาษณ์อีกหลายครั้งหลายหน ในทำนองว่า นายชูวิทย์ได้รับเงินจากบ่อนเว็ปพนันออนไลน์ จำนวน 10 ล้านบาท ไม่ใช่ 6 ล้านบาท เป็นค่าปิดปากเพื่อไม่ให้แฉบ่อนเว็ปพนันออนไลน์ แล้วนำเอาเงินนั้นไปทำบุญ, บุตรชายของนายชูวิทย์ได้รับเงินจากบ่อนเว็ปพนันออนไลน์ในรูปเงินดิจิทัลจำนวน 50 ล้านบาท,

และยังแถลงว่านายชูวิทย์ เรียกรับเงินจากสารวัตรซัว และจากบ่อนเว็ปพนันออนไลน์ , นายชูวิทย์ เป็นโรบินฮู้ด หมายถึง เป็นโจรปล้นเงินคนรวยมาให้คนจน โดยการเรียกรับเงินจากบ่อนเว็ปพนันออนไลน์ดังกล่าวแล้วแสร้งเอาเงินที่ได้มาทำบุญบริจาค ,ในวันตรุษจีนบุตรชายของนายชูวิทย์ พานายแทนไทมาที่โรงแรมของนายชูวิทย์  แล้วนายชูวิทย์เรียกรับเงินจากนายแทนไทเพื่อไม่ให้เปิดเผยเรื่องบ่อนเว็ปพนันออนไลน์ของนายแทนไท ซึ่งเป็นความเท็จ

ความจริงก็คือนายชูวิทย์ ได้รับเงินจากอดีตนายตำรวจท่านหนึ่ง จำนวน 6 ล้านบาท ไม่ใช่ 10 ล้านบาท เพื่อมอบให้นายชูวิทย์ นำไปทำบุญหรือบริจาค บุตรชายนายชูวิทย์ ไม่เคยได้รับเงินดิจิตอล จำนวน 50 ล้านบาท และนายชูวิทย์ ไม่เคยเรียกเงินจากบ่อนเว็ปพนันออนไลน์หรืออาบอบนวด และไม่เคยนำเงินจากเว็ปพนันออนไลน์ไปทำบุญ เงินทำบุญเป็นเงินจากกิจการของนายชูวิทย์ ซึ่งตนไม่ใช่โรบินฮู้ด หรือโจร เรียกรับเงินจากเว็ปพนันออนไลน์แล้วนำเงินไปทำบุญ

ทนายตั้ม มีอาชีพเป็นทนายความ ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องตั้งโต๊ะแถลงข่าวประจานนายชูวิทย์ การกระทำของทนายตั้ม ทำให้นายชูวิทย์ เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือเกลียดชัง และเป็นการทำละเมิดต่อนายชูวิทย์ ยังเป็นการกระทำผิดมรรยาททนาย ตาม พ.ร.บ. ทนายความ พ.ศ.2528 ว่าด้วยข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาทนายความ พ.ศ. 2529 หมวด 4 มรรยาทต่อทนายความด้วยกัน ต่อประชาชนผู้มีอรรถคดีและอื่น ๆ /ข้อ 18 ประกอบอาชีพ ดำเนินธุรกิจ หรือประพฤติตนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี หรือเป็นการเสื่อมเสียต่อศักดิ์ศรีและเกียรติคุณของทนายความ

“พฤติกรรมของทนายตั้ม ไม่เหมาะสมกับการเป็นทนายความ จึงมายื่นคำร้องเพื่อขอให้สภาทนายความลบชื่อนายษิทรา ออกจากการเป็นทนายความ เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง อีกทั้งยังเห็นว่ามีทนายความโซเชียลอีกหลายคนที่มีพฤติกรรมเหมือนกับทนายตั้ม ที่ชอบให้สัมภาษณ์ ไลฟ์สด หรือออกรายการโทรทัศน์ชี้นำสังคมในคดีต่าง ๆ ก็อาจเข้าข่ายผิดมรรยาททนายความเช่นกัน”

นายสมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย สภาทนายความฯ เปิดเผยว่า หลายครั้งหลายคราวที่ทนายตั้ม แถลงข่าวออกสื่อ ส่วนตัวก็เห็นว่าไม่สมควร เข้าข่ายผิดมรรยาททนายความ ซึ่งต้องนำเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาต่อไป ทนายความคนอื่นก็ต้องวางตัวให้เหมาะสมเช่นกัน

สำหรับการพิจารณาลงโทษทนายความที่ทำผิดมรรยาททนายความ มี  4 ระดับ คือว่ากล่าวตักเตือน , ภาคทัณฑ์ , พักใบอนุญาต ไม่เกิน 3 ปี โทษหนักสุดคือลบชื่อออกจากการเป็นทนายความ ส่วนการว่ากล่าวตักเตือนและภาคทัณฑ์นั้นยังสามารถว่าความได้ แต่ความผิดที่ถูกพักใบอนุญาตและลบชื่อออกจะเป็นทนายความนั้น ห้ามว่าความโดยเด็ดขาด

ด้านนายวัชระ สุคนธ์ กรรมการมรรยาททนายความ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า โดยส่วนตัวแล้วพฤติกรรมของนายษิทรา นั้นถือว่าเข้าข่ายผิดมรรยาททนายความ ซึ่งจะต้องนำคำร้องให้คณะกรรมการมรรยาททนายความพิจารณา เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย จะนำหลักฐานไปตรวจสอบโดยจะตั้งเป็นรูปแบบคณะกรรมการ ซึ่งที่ผ่านทนายษิทรา เคยถูกร้องเรียนการทำหน้าที่ของทนายมากกว่า 12 เรื่อง บางเรื่องอยู่ระหว่างตรวจสอบและบางเรื่องยกคำร้องไปแล้ว

การพิจารณาเรื่องร้องเรียนมีกรอบระยะเวลา 2-3 ปี เมื่อรับคำร้องเรื่องจะถูกส่งไปยังคณะกรรมการสอบมรรยาทเมื่อตรวจสอบเรียบร้อยจะส่งต่อคณะกรรมการผู้บริหารสภาทนาความ และมีความเห็น โดยอัตราโทษมีตั้งแต่ภาคทัณฑ์หรือว่ากล่าวตักเตือนไม่เกิน 3 ปี ลบชื่อหรือพักใบอนุญาต 3-5 ปี และโทษสูงสุดสุด ลบชื่อออกจากทำเนียบทนายความหรือการพิกถอนใบอนุญาต

นายวัชระ ระบุว่า สำหรับทนายความ หากถูกลบชื่อออกจากการเป็นทนายความ ทนายความผู้ถูกร้องยังมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ไปยังรัฐมนตรีว่าการยุติธรรม เพื่ออุทธรณ์คำสั่งของสภาทนายความ หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยังมีความเห็นเหมือนเช่นเดียวกับสภาทนายความ ก็ยังสามารถฟ้องศาลปกครอง เพื่อพิจารณาต่อไป

และหากครบกำหนด 5 ปี ที่ถูกลบชื่อออกจากการไปทนายความ สามารถยื่นเรื่องขอเป็นทนายความกับสภาทนายความได้ แต่คณะกรรมการจะพิจารณาว่าสมควรจะให้กลับมาเป็นทนายความได้อีกหรือไม่อย่างไร อย่างไรก็ตามประชาชนสามารถมาร้องที่สภาทนายความได้ หากพบทนายความที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายผิดมรรยาททนายความ สภาทนายความพร้อมจะดำเนินการตรวจสอบทันที


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/qwZmhwtrbOE


คุณอาจสนใจ

Related News