เลือกตั้งและการเมือง
สื่อญี่ปุ่นเผยแพร่บทความพิเศษ บอกเล่าเรื่องราวของ 'ชูวิทย์'
โดย weerawit_c
7 เม.ย. 2567
172 views
บทความดังกล่าวพาดหัวว่า เดอะ ฟาสต์ ไลฟ์ แอนด์ สโลว์ เอ็กซิต ออฟ ไทย โชว์แมน ชูวิทย์ (The fast life and slow exit of Thai showman Chuwit) ซึ่งได้มีการตั้งคำถามว่า ตอนนี้ชูวิทย์อยู่ที่ไหน? หลังจากที่เขาหายตัวไปจากหน้าสื่อ ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา
ในบทความนี้ นิกเกอิบอกว่า นายชูวิทย์ เป็นชายที่มีเส้นทางชีวิตเต็มไปด้วยสีสันมากที่สุดคนหนึ่งของสังคมไทย จาก “เจ้าพ่ออ่าง” สู่นักการเมืองในสภาและนักแฉ ที่ออกมาเปิดโปงปัญหาสีเทาต่าง ๆ ในประเทศไทย
ข้อมูลจากคนสนิทบอกว่า นายชูวิทย์ วัย 62 ปี เดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว เพื่อไปรักษาโรงมะเร็งตับที่โรงพยาบาลในประเทศอังกฤษ ซึ่งเขาก็อยากกลับมาที่ประเทศไทย แต่ก็ไม่แน่ใจว่าเมื่อไหร่ เพราะการอยู่ที่อังกฤษ น่าจะทำให้เขาได้พักผ่อนมากกว่าอยู่ในประเทศไทย ในขณะที่เฟซบุ๊กของเขาก็เงียบสนิทไม่มีการอัปเดตอะไรเหมือนกับแต่ก่อน
การหายตัวไปของชูวิทย์ทำให้เกิดช่องโหว่บางอย่างในประเทศไทย เพราะก่อนหน้านี้ ภาพที่คุ้นชินตา คือเขามักจะปรากฏตัวด้วยการสวมเสื้อเชิ้ตสีขาว ติดไมโครโฟนหลายตัวไว้บนเสื้อ และแฉการทำผิดกฎหมายต่อหน้าสื่อมวลชน พร้อมกระดานขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยแผนภูมิต่าง ๆ
ก่อนเดินทางออกจากประเทศไทย นายชูวิทย์เคยให้สัมภาษณ์กับนิกเกอิ เอเชียว่า เขาเป็นคนดี แต่เขารู้ว่าสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร เขาอยู่ในระบบแบบไทย ๆ มานาน และถ้าหากคนอื่นมาอยู่ในระบบแบบเดียวกันนี้นานมากพอ ก็จะรู้ว่าปัญหาการทุจริตเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา
นายชูวิทย์พลิกอดีตอันมีสีสันของเขา ให้กลายเป็นข้อได้เปรียบอย่างชาญฉลาด ด้วยการยอมรับว่าเขาเป็น “คนสีเทา” ทำให้เขาได้รับการยกย่องจากบางกลุ่มในฐานะของ “ฮีโร่สายดาร์ก”
เขาเล่าว่าตัวเองเคยเข้าคุกมา 3 ครั้ง จากการที่เข้าไปพัวพันกับกฎหมายข้อตกลงที่ดินที่น่าสงสัย ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับบันทึกทางการเงิน และที่ฉาวโฉ่ที่สุด คือ การจ้างอันธพาลไปทำลายบาร์และธุรกิจอื่น ๆ ในใจกรุงเทพมหานคร
อย่างไรก็ตาม ชูวิทย์บอกว่า ในตอนแรก เขาไม่ได้ตั้งใจที่จะใช้ชีวิตในเงามืด แต่ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 (ปี 2523-2532) เขามีความฝันอยากใช้ชีวิต ตามรอย ฮิวจ์ เฮฟเนอร์ (Hugh Hefner) ชาวอเมริกันผู้ให้กำเนิด “เพลย์บอย (Playboy)” นิตยสารสำหรับผู้ใหญ่ เขาจะได้มีผู้หญิงสวย ๆ มารายล้อมและหาเงินได้ง่าย ๆ
จนในที่สุด ชูวิทย์ก็เปิด “วิกตอเรีย ซีเคร็ต (Victoria Secret) อาบอบนวดหรูหลายชั้นแห่งแรกในกรุงเทพมหานคร เมื่อปี 2532 ในช่วงที่ธุรกิจรุ่งเรือง ชูวิทย์มีหญิงสาวที่ทำงานให้เข้ามากถึง 2,000 คน และเขาก็มีชื่อเสียงมากขึ้นจากภาพถ่ายที่เขาอยู่ในอ่างอาบน้ำและรายล้อมด้วยพนักงานนวดสาวสวยมากมาย โดยชูวิทย์บอกว่า เขาอยู่ในโลกนี้มา 12 ปี และทำเงินได้อย่างมหาศาล
เป็นที่ทราบกันดีว่าการทำธุรกิจอาบอบนวดนั้นไม่ผิดกฎหมาย หากไม่มีการขายบริการทางเพศ แต่เหตุผลที่ทำให้ธุรกิจของนายชูวิทย์ยังคงดำรงอยู่ต่อไปได้ก็เพราะมีการ “จ่ายส่วย” ให้กับตำรวจ แต่สุดท้าย โครงสร้างที่ไม่มั่นคงนี้ก็พังทลายลงในปี 2546 เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างนายชูวิทย์กับตำรวจมาถึงจุดแตกหัก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เขาก็ออกมาแฉเปิดโปงปัญหาการจ่ายส่วยให้กับตำรวจ ซึ่งเขาเคยเล่าให้สื่อฟังว่า ครั้งหนึ่ง เขาเคยนำถาดที่เต็มไปด้วยนาฬิกาโรเลกซ์ไปให้ตำรวจ และเสนอให้ใช้บริการธุรกิจของเขาฟรีเพื่อแลกกับเสรีภาพในการทำธุรกิจ
ในประเทศที่ไม่ค่อยมีการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ข้อกล่าวหาของเขาเป็นเพียงระเบิด ซึ่งดึงดูดความสนใจของสื่อและสาธารณชน และมอบพื้นที่ให้เขาได้พูดมายาวนานถึง 2 ทศวรรษ แต่อีกด้านหนึ่ง ธุรกิจอาบอบนวด ก็ทำให้นายชูวิทย์ถูกต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิเด็กและสตรี เช่น ปวีณา หงสกุล นักการเมือง และผู้นำองค์กรภาคประชาสังคม (NGO) ที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นความรุนแรงต่อเด็กและสตรี
ขณะที่ ปัญหาต่าง ๆ ถาโถมเข้ามามากขึ้น นายชูวิทย์ก็พาตัวเองออกจากธุรกิจอาบอบนวด ไปทำโรงแรม และตามมาด้วยการเป็นนักการเมือง ลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งในระดับท้องถิ่นและประเทศจนสามารถเข้าไปนั่งอยู่ในสภาได้ในที่สุด
นอกจากนี้ นายชูวิทย์ยังกลายเป็นพิธีกรรายการทอล์กโชว์ยอดนิยมทางโทรทัศน์ โดยนำความรู้เกี่ยวกับ “โลกด้านมืดของกรุงเทพ” มาใช้รักษาภาพลักษณ์ของเขา ซึ่งเขาก็ยอมรับว่าการที่เขาออกมาแฉเรื่องราวแบบนี้มีความเสี่ยง และทำให้ตัวเขาตกเป็นเป้า เนื่องจากมีคนจำนวนมากไม่พอใจ แต่ถึงกระนั้น เขาไม่จำเป็นต้องจ้างคนมาคุ้มกัน และชอบไปไหนมาไหนคนเดียว เพราะมั่นใจว่าสิ่งที่ตนทำอยู่นั้นจะทำให้ทั้งสื่อไทยและคนไทยปกป้องตน
เคล็ดลับความสำเร็จส่วนหนึ่งของเขามาจากลีลาการพูดที่แฝงไปด้วยไหวพริบ เช่น การบรรยายลูกค้าผู้ชายที่มาใช้บริการอาบอบนวดในฐานะผู้นำชีวิตที่มีความเครียด โดยมีพนักงานนวดหญิงเป็นผู้ผ่อนคลาย และครั้งหนึ่ง ก่อนการเลือกตั้งในประเทศไทย เขาบอกกับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งว่า การเมืองก็เหมือนกับผ้าอ้อม และต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่า ซึ่งการกลับใจในลักษณะนี้ทำให้นายชูวิทย์ได้รับความนิยมเป็นพิเศษในสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อปลายปีที่แล้ว เพจเฟซบุ๊กของชูวิทย์มีผู้ติดตาม 1.9 ล้านคน
ด้านธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีตประธานคณะกรรมการกำกับภาพยนตร์ไทย กล่าวว่า ชูวิทย์สร้างตัวตนต่อสาธารณชนได้อย่างแตกต่างจากสิ่งที่คนไทยคุ้นเคย ที่มีการแบ่งแยกอย่างชัดเจนว่า คนดีเป็นสีขาว หรือ คนร้ายเป็นสีดำ สำหรับชูวิทย์เขาผสมสีเข้าด้วยกัน และใช้พื้นที่สาธารณะเป็นเวทีเพื่อแสดงให้เห็นว่า “คนเลว” ก็สามารถทำสิ่งดี ๆ ให้กับสัมคมได้ ดังนั้น เขาจึงไม่ใช่ฮีโร่ทั่วไปและเป็นคนสีเทา
คริส เบเกอร์ (Chris Baker) นักเขียน ที่เชี่ยวชาญด้านการเมือง ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมไทย กล่าวว่า ความสามารถของชูวิทย์ในการสร้างความบันเทิงด้วยการสัมผัสเรื่องต้องห้ามอย่างเปิดเผย ทำให้เขาถูกนำไปเปรียบเทียบกับบุคคลหลากสีสันจากนิทานพื้นบ้านของไทยอย่าง “ศรีธนญชัย” เขาประสบความสำเร็จในการสร้างพื้นที่เพื่อวิจารณ์และพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่อันตรายด้วยวิธีการที่ตลกและน่าขบขัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ตัวละครตัวตลกบางตัวทำ
รายงานของนิกเกอิ เอเชีย ยังบอกด้วยว่า มีครั้งหนึ่งนายชูวิทย์เคยเล่าว่า ตอนที่อยู่ในสภา เขาถูกถามว่าทำให้คนถึงบอกว่าเขาควรถูกเรียกว่า “แมงดา” ไม่ใช่ ส.ส. ซึ่งเขาก็ตอบกลับว่า อย่าเรียกตนว่าแมงดา แต่ให้เรียกว่า “ซูเปอร์แมงดา” ดีกว่า เพราะหน้าที่ของเขาคือการทำความสะอาดรัฐสภา เหมือนที่เคยทำความสะอาดร่างกายในร้านนวด ซึ่งความกล้าหาญดังกล่าวขัดต่อธรรมชาติของคนไทย
ชูวิทย์กล่าวว่า “คนไทยไม่ตรงไปตรงมา ไม่กล้าพูดความจริง และพวกเขาถึงกับช็อกเมื่อผมพูดออกมา แต่พวกเขาก็อยากให้ผมพูดต่อ เพราะอยากให้มีคนพูดในที่สาธารณะเกี่ยวกับการทุจริตหรือกระทำความผิดจนไม่กล้าพูดอย่างเปิดเผย
ความสามารถของชูวิทย์ทำให้ผู้ชมคาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ซึ่งมันปรากฎให้เห็นทันทีก่อนที่เขาจะเดินทางออกจากรุงเทพ เมื่อเขาบอกกับสถานีโทรทัศน์ชื่อดังของไทยว่า เขาไม่น่าจะได้กลับมายังประเทศนี้อีก พร้อมกับทิ้งท้ายว่า “วงจรชีวิตก็เป็นแบบนี้ หลังจากที่เราเกิด เราก็ป่วยและตาย” แต่นั้นก็ไม่มีใครรู้ว่ามันจะเป็นข้อความสุดท้ายของชูวิทย์ที่บอกกับประเทศไทยหรือไม่ เพราะมีเพียงตัวเขาเท่านั้นที่รู้
แท็กที่เกี่ยวข้อง สื่อญี่ปุ่น ,ชูวิทย์กมลวิศิษฎ์ ,เรื่องราวชีวิตชูวิทย์