สังคม

นักวิชาการซัด 'แยกวิชาประวัติศาสตร์' ยัดเยียดความรักชาติให้เด็ก - เพิ่มภาระทั้งครูและนักเรียน

โดย nattachat_c

28 พ.ย. 2565

236 views

จากกรณี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ผ่านมา ศธ.ได้มีนโยบาย 8+1 โดยการกำหนดโครงสร้างเวลาเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ แยกออกมา 1 รายวิชาอย่างชัดเจน เพื่อบ่มเพาะให้นักเรียนภาคภูมิใจรักความเป็นไทย หวงแหนในสิ่งที่บรรพชนให้ไว้เป็นมรดกทางปัญญา รักษา สืบสาน ต่อยอดและนำมาปรับประยุกต์ในปัจจุบัน


ดังนั้น เพื่อให้มีการแยกรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ออกมาเป็น 1 รายวิชาอย่างเป็นทางการ จะมีการพิจารณาร่างประกาศ ศธ. กําหนดให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดโครงสร้างหลักสูตร สถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ 1 รายวิชา โดยจัดเวลาเรียนรายวิชาประวัติศาสตร์ ระดับประถมศึกษา 40 ชั่วโมงต่อปี ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 40 ชั่วโมงต่อปี (1 หน่วยกิตต่อปี) และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวม 3 ปี 80 ชั่วโมง (2 หน่วยกิต)

----------------

นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า

การแยกวิชาประวัติศาสตร์ ของศธ.ครั้งนี้ เป็นการกระทำอย่างโจ่งแจ้ง และเป็นการใช้อำนาจบังคับเพื่อให้เด็กรักชาติ ซึ่งผิดหลักการทางการศึกษา


ที่ผ่านมาวิชาประวัติศาสตร์สอนให้เด็กรักชาติ รักบรรพชนแบบท่องจำ การสอนแบบนี้จะทำให้เด็กมีอคติกับประเทศเพื่อนบ้าน แม้จะมีข้อดีคือเด็กจะสนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมากขึ้น แต่คำถามที่ตามมาคือ ทำไม ศธ.ถึงปรับปรุงวิชาประวัติศาสตร์แค่วิชาเดียว ทำไมไม่ปรับปรุงหลักสูตรครั้งใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะการเรียนวิชาภาษาอังกฤษที่ควรจะปรับปรุงก่อนวิชาอื่นๆ


การแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมา เป็นการยัดเยียดความรักชาติให้เด็ก ซึ่งการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ เป็นเรื่องไม่ปกติทางการศึกษา มองว่าการไปย้ำให้สอนและแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมา อาจจะทำให้เด็กตั้งคำถามมากขึ้น และอาจจะต่อต้านมากกว่าเดิม และหันไปเรียนประวัติศาสตร์แบบอื่นๆ มากกว่า


และหลักสูตรการเรียนในปัจจุบันที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2544 แม้จะมีการปรับปรุงมาตลอด แต่หลักสูตรกำหนดให้นักเรียนต้องเรียนมากกว่า 1,200 ชั่วโมง ถือว่าประเทศไทยมีชั่วโมงการเรียนมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก การแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมา ยิ่งจะทำให้เด็กต้องเรียนหนักขึ้น


การสอนวิชาประวัติศาสตร์ที่ดี ศธ.ควรจะปฏิรูปการเรียน โดยเปลี่ยนการสอนให้เด็กตั้งคำถาม ให้เด็กศึกษาประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ สอนให้เด็กสามารถหาข้อมูลที่เป็นเหตุเป็นผล ซึ่งการเรียนรู้แบบนี้ จะทำให้เกิดการรักชาติแบบมีตรรกะและเหตุผล เรากำลังทำผิดพลาดครั้งใหญ่


ตนไม่เห็นด้วยที่จะแยกวิชาประวัติศาสตร์ เพียงเพราะมีเป้าหมายเพื่อต้องการให้เด็กรักชาติ ซึ่งการทำแบบนี้ จะทำให้การเรียนรู้ล้าหลัง และทำให้เกิดความอนุรักษ์นิยมสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ

----------------
ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า


ปัญหาสำคัญของการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ในระดับประถมและมัธยมศึกษาคือการขาดหลักสูตรที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม และขาดตำราที่มีเนื้อหาถูกต้อง ทันสมัย หรือเป็นตำราที่สอนให้คนคิดเป็น นอกจากนี้ ยังขาดฐานข้อมูลกลางให้นักเรียนเข้าถึงความรู้ถูกต้อง


โดยปกติ วิชาประวัติศาสตร์รวมอยู่ในกลุ่มสาระสังคมศึกษาอยู่แล้ว มีหน่วยกิตประมาณ 0.5 หรือ 1 หน่วยกิตต่อสัปดาห์ที่ต้องเรียน เพราะฉะนั้น นักเรียนในระดับประถมและมัธยมศึกษาต้องเรียนอยู่แล้วตลอด 12 ปี ในทุกสัปดาห์ จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องแยกออกมา เพื่อเพิ่มภาระทั้งครูและนักเรียน


สำหรับปัญหาสำคัญที่สุดอยู่ที่

1.เนื้อหาวิชาไม่ทันสมัย ไม่สอดค้ลองกับความก้าวหน้าทางวิชาการ ควรต้องปรับปรุง

2.ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเชิงความคิดของคนในสังคมปัจจุบัน ที่เน้นเรื่องการคิดวิเคราะห์ และการศึกษาประวัติศาสตร์ในเชิงกระบวนการเรียนการสอน


ประวัติศาสตร์บ้านเรา ถ้าคิดจะปรับปรุงควรให้ความสำคัญกับเสียงของครูและนักเรียน ควรถามความเห็นด้วยว่าคิดอย่างไร ตอนนี้เป็นเหมือนการปรับปรุงในเชิงระบบราชการ คือคิดแบบท็อปดาวน์ คือบนลงล่าง กระแสจึงออกมาในเชิงต่อต้านมากกว่ายอมรับ


และควรตั้งคำถามอย่างแท้จริงด้วยว่าสาเหตุอะไรที่ทำให้คิดจะปรับปรุง เราคำนึงถึงผู้เรียน ความรู้ หรือสุดท้ายคำนึงถึงนโยบายของชาติ หรืออุดมการณ์ของชาติเป็นสำคัญ ถ้าคิดถึงอุดมการณ์เชิงชาตินิยม อยากให้ประเทศสามัคคีกัน เกิดสำนึกการรวมหมู่ การปรับปรุงโดยการแยกวิชาออกมา สุดท้ายตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนหรือผู้สอนหรือไม่ นี่คือสิ่งที่อาจต้องคิดให้มากขึ้น ไม่ใช่มีไอเดียบางอย่าง หรือรับนโยบายบางอย่างมาแล้วคิดจะทำ


ปัจจุบันคำถามอยู่ตรงที่ว่า คนรุ่นหนึ่งคิดว่าอยากให้คนในสังคมเกิดความรัก สมัครสมานสามัคคี ซึ่งเวลาเราพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า 'รักชาติ' มันคือเซนส์ของชาตินิยม ถ้ามองไปข้างหน้าต้องเริ่มต้นก่อนว่า หัวใจสำคัญของวิชาประวัติศาสตร์มันสอนให้คนเข้าใจว่าอดีตมีความเป็นมาอย่างไร และเราจะนำมาใช้ประโยชน์ในปัจจุบันอย่างไร เพื่อมองไปสู่อนาคต
----------------





คุณอาจสนใจ

Related News