สังคม

“สมคิด” เผยประชาธิปไตยที่กำลังต่อสู้ มีเวอร์ชันแจกกล้วย ลั่น รอ รบ. ประชาธิปไตยแก้ไขปัญหาเป็นไปยาก

โดย paranee_s

27 มิ.ย. 2565

66 views

27 มิ.ย. 2565 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และศิษย์เก่าคณะเศรษฐศาสตร์ รวมเป็นวิทยากรปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ 88 ปี ธรรมศาสตร์กับสังคมไทย เนื่องในวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ครบรอบ 88 ปี โดยนายสมคิดเป็นหนึ่งในผู้ได้รับเข็มเกียรติยศ ในฐานะศิษย์เก่าที่สร้างชื่อเสียงนำพาประเทศขับเคลื่อนท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลาสำคัญ


นายสมคิด ระบุว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สร้างตนมา ตนรู้สึกทราบซึ้งมาก และอีกไม่กี่ปีตนจะอายุครบ 69 ปี ซึ่งตลอด 15 ปีที่เป็นอาจารย์ กว่า 20 ปีที่อยู่บนเส้นทางการเมือง และ 10 ปีที่ดำรงตำแหน่งในภาครัฐบาล ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความยาวนานพอสมควร เคยมีคนถามตนว่าทำไมถึงเลือกเดินทางสายการเมือง ตนตอบว่าไม่ได้เลือกเดิน แต่มีบางสิ่งบางอย่างที่ชี้นำและผลักดันให้ชีวิตมาที่สายการเมือง โดยสิ่งที่ชี้นำ เป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากประสบการณ์เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


โดยช่วงที่ตนเรียน เป็นช่วงที่มีความตื่นตัวสูงสุดทางการเมืองในมหาวิทยาลัย ทุกวันที่เดินเข้ามหาวิทยาลัย จะได้รับข่าวสารทางการเมือง ทั้งติดบนกำแพง ใบปลิว หรือกิจกรรมทางการเมืองและสังคมที่ออกมาในรูปแบบสัมมนา อภิปราย โดยมีภาคสังคมและประชาชนเข้ามาร่วมอยู่ตลอด ช่วงเวลานั้นจะเห็นนักศึกษาที่ตื่นตัวกับการเมือง


“บางครั้งท่านจะได้เห็นเกษตรกร เดินเข้าออกมหาวิทยาลัย เพื่อหารือปัญหาชีวิต การออกค่ายในชนบท เพื่อเรียนรู้ปัญหา เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับชีวิตนักศึกษาในสมัยนั้น ปกหนังสือทุกเล่มที่นักศึกษาถือ เขียนว่าฉันรักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน สิ่งเหล่านี้เป็นบรรยากาศ 4 ปีเต็มในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”


นายสมคิด กล่าวว่า ไม่ว่าโดยตรงหรืออ้อม สิ่งเหล่านี้ปลูกฝังให้อะไรบางอย่างในจิตใจ ทำให้นักศึกษาสนใจสิ่งที่เป็นปัญหาของบ้านเมือง มีทัศนคติมีแรงบันดาลใจและจิตสำนึกร่วมในการทำประโยชน์ให้บ้านเมืองและสังคม รวมถึงเมื่อมีการร่วมแสดงออกเพื่อต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตย ตั้งแต่ปี 2516-2519 ก็ทำให้จิตสำนึกดังกล่าวมั่นคงยิ่งขึ้น ตนเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลโน้มน้าวความคิด ชี้แนะแนวทางประพฤติปฏิบัติและแนวทางดำเนินชีวิตของคนธรรมศาสตร์ในรุ่นนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทใด ก็จะมีจิตสำนึกที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและส่วนรวม จึงมองว่าสิ่งเหล่านี้เรียกว่าจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์หรือไม่


นายสมคิด ระบุว่า 88 ปีเต็ม บางช่วงเวลา ถือว่าสุกงอมสมบูรณ์ ในการผลิตสิทธิ์เพื่อไปขับเคลื่อนสังคมให้การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แต่ในบางช่วงบางตอนก็เจือจาง เบาบางลง เพราะติดขัดในเรื่องข้อจำกัดทางสังคม การเมือง จนมีศิษย์เก่าบางคนกล่าวว่าจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์หายไปแล้วหรืออย่างไร แต่ตนคิดว่ายังไม่หายไปไหน พร้อมที่จะลุกโชนและช่วยแก้ปัญหาได้ทุกเมื่อ เชื่อว่าจิตวิญญาณธรรมศาสตร์เป็นศูนย์รวมเบ้าหลอม ความมุ่งมั่นและจิตสำนึกที่ไม่หยุดนิ่ง เปลี่ยนแปลง ปรับปรุงได้ สามารถเอาองค์ประกอบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของคนในแต่ละยุค มาเป็นเบ้าหลอมที่พร้อมจะผลิตสิ่งต่างๆ ออกมา


เมื่อไหร่ก็ตามที่นักศึกษาได้รับการส่งเสริม สนับสนุน ให้มีความสนใจในมิติที่มีปัญหาของบ้านเมือง จะมีโอกาสแสดงออก ขอให้พร้อมรับฟัง เคารพความคิดของคนกลุ่มนี้ และชี้แนะว่าอะไรดีหรือไม่ดี ให้พูดกันอย่างมีเหตุผล และตนเชื่อว่าจะทำให้ความกระตือรือร้นในการสนใจบ้านเมือง จะกลับมาได้ทุกเมื่อ


นายสมคิด กล่าวต่อว่า จากวันที่มีการสถาปนามหาวิทยาลัยจนถึงตอนนี้ บริบทที่มีการทำการเมืองเป็นบริบทแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่ในปัจจุบันคิดว่าชาวธรรมศาสตร์จินตนาการไม่ถึงว่าประชาธิปไตยที่ต่อสู้ มีเวอร์ชันแปลก ๆ


“อาจจินตนาการไม่ถึงว่าการแจกกล้วยเป็นหวี อย่างไม่อายฟ้าอายดิน จนมีคนเรียกติดปากว่าประชาธิปไตยเงินสด จินตนาการไม่ถึงว่าการมีประชาธิปไตยแล้วจะทำให้คนเพียง 1% ของประเทศ มีทรัพย์สินมากกว่า 60 % ของคนทั้งประเทศ จินตนาการไม่ออกว่าประชาธิปไตยที่ได้รับมานั้น ถูกออกแบบให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางการเมือง จนเกิดวิกฤติในอนาคต คำถามคือเราต้องการประชาธิปไตยแบบนี้หรือเปล่า คนรุ่นผมคงไม่ต้องตอบ แต่หากไปถามคนรุ่นใหม่ จะพบว่านี่เป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ต้องการ บางครั้ง ไม่ได้รับความสนใจเลย เขาไม่สนใจการบ้านการเมืองเลย เพราะมันไม่ใช่ประชาธิปไตยที่เขาต้องการ”


นายสมคิด ย้ำว่า คนรุ่นใหม่ต้องการประชาธิปไตยที่ประชาชนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในการเมือง ออกความเห็น สามารถถกปัญหาโดยที่ไม่มีความขัดแย้ง เป็นประชาธิปไตยของปวงชนจริงๆ ไม่ใช่เป็นประชาธิปไตยของคนบางกลุ่ม หรือบางครอบครัว ตนเคยถามลูกชายว่าพวกเขาต้องการแบบนี้ใช่หรือไม่ ลูกชายตอบว่า พวกเขาไม่ต้องการประชาธิปไตยที่เรียกว่า 4 วินาที หากเขาไม่มีโอกาสแสดงออก ไม่มีโอกาสมีส่วนร่วม ความกระตือรือร้นในปัญหาบ้านเมืองจะหายไป


“แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราให้โอกาสและแนะนำ เพราะอนาคตเป็นของพวกเขา ไม่ใช่พวกเรา พวกเรานี่เหลืออีกไม่นานนะ แต่พวกเขายังอีกยาวไกล ถ้าเราไม่ฟังความเห็นเขา เราจะฟังความเห็นใคร”


นายสมคิด มองว่า ปัญหาที่กำลังเผชิญนั้น รุนแรงทุกมิติ ทั้งความไม่เท่าเทียม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเน้นเฉพาะเรื่องการเมืองอย่างเดียวนั้นไม่ได้สร้างอนาคตที่ดีไปกว่านี้ ยกตัวอย่างเรื่องเศรษฐกิจ ไม่นานมานี้ เพียงปีเดียว เฉพาะปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจ ความสามารถในการประเทศไทยตกลงมา 13 จุด ประสิทธิภาพรัฐบาล เรื่องการแข่งขัน ตกลงมา 11 จุด เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องอันตรายมาก และภายใน 4-5 ปีข้างหน้า หากไม่ได้รับแก้ไขเมืองไทยจะลำบากอย่างแน่นอน


ในมุมของเศรษฐกิจโลก ทุกคนทราบดีว่าพายุลูกใหญ่กำลังจะมา เมืองไทยลำบากอย่างแน่นอน เพราะเศรษฐกิจของประเทศไทยเองเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลกมาโดยตลอด หากไม่เร่งขับเคลื่อนความเข้มแข็งภายในประเทศ แรงส่งทางเศรษฐกิจจะหายไป ในวันนี้พี่น้องรากหญ้า ลำบากเลือดตาแทบกระเด็น วันข้างหน้าจะลำบากมากกว่านี้ ดังนั้นการเอาใจใส่เรื่องนี้ต้องมี นอกจากนี้ยังมีปัญหาใหญ่ที่มากกว่านี้ เช่น ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจในประเทศ


นายสมคิด กล่าวว่า หากต้องรอให้รัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยแก้ไข คงเป็นไปได้ยากมาก เพราะมีข้อจำกัดเยอะ จะมานั่งรอไม่ได้ อีกทั้งบริบทการเมืองไทยมองว่าสถาบันการศึกษาจะไม่สามารถแยกเรื่องการเมืองได้ เพราะสถาบันการศึกษาเป็นที่รวมศูนย์ของปัญญา เพื่อรองรับปัญหา นอกจากนั้น มหาวิทยาลัยยังเป็นแหล่งผลิตบุคลากร เพื่อทำงานเอาตัวรอดเท่านั้น แต่เป็นจุดเกิดที่ผลิตบุคลากรในการช่วยขับเคลื่อนสังคม เศรษฐกิจ การเมือง นอกจากหาเลี้ยงครอบครัว


หากถามว่าอนาคตข้างหน้าบทบาทของธรรมศาสตร์เป็นอย่างไร นายสมคิดมองว่า เป็นแหล่งปัญญา ผลิตบุคลากร ผลิตนักศึกษา เพื่อการเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง


คุณอาจสนใจ

Related News