เลือกตั้งและการเมือง

เสวนา 'วันปรีดี พนมยงค์' นักการเมือง-นักวิชาการ ถกบทบาทสว.ชุดเก่า กับอนาคตปชต.ยุค สว.ชุดใหม่

โดย panwilai_c

11 พ.ค. 2567

78 views

สถาบันปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาทางวิชาการ วันปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2567 เก่าไปใหม่มา สว. ชุดใหม่ อนาคตประชาธิปไตย อนาคตประเทศไทย โดยมีตัวแทนนักการเมือง นักวิชาการ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกี่ยวกับบทบาทของสว.ชุดรักษาการณ์และระเบียบกกต.เกี่ยวกับการแนะนำตัวของผู้สมัครสว.ชุดใหม่



นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ สส.พรรคเพื่อไทย กล่าวถึง สว.ชุดปัจจุบัน ว่า ไม่ได้มองว่าเป็นคนดี หรือคนไม่ดี เพราะเป็นเรื่องของระบบ ที่ให้อำนาจ สว.ซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าที่เคยมีมาในอดีต และถือว่าได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ ตามที่ผู้มีอำนาจออกแบบมา ดังนั้นหากจะมีสิ่งที่อยากฝาก คือ ในช่วงรักษาการระหว่างมีสว.ชุดใหม่ เนื่องจากไม่มีกติกาเหมือนรัฐบาลรักษาการ จึงขอว่าอะไรที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องทำจะดีกว่า



นายจาตุรนต์ ยังพูดการเลือก สว.ชุดใหม่ ว่าสิ่งที่กกต.ทำอยู่ เป็นการออกระเบียบเกินกว่ากฎหมาย และจำกัดเสรีภาพของประชาชน ทั้งผู้สมัคร สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ถามว่าจะเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยอย่างไร เมื่อออกแบบโดยประชาชนไม่เกี่ยว



ส่วนสิ่งที่คาดหวังจากสว.ชุดใหม่ คืออย่างไรก็ดีกว่าสว.ที่กำลังหมดวาระ ต้องผลักดัน สว.อย่างน้อย 67 คนขึ้นไปที่พร้อมสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีสสร.มาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาใหญ่ ที่ไม่เชื่อมโยงกับประชาชน กกต.ควรทำให้ระเบียบเกิดความชัดเจน ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม เปิดกว้างการรณรงค์ จะช่วยให้สว.มีความเชื่อมโยงกับประชาชน



ขณะที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.พรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง สภาผู้แทนราษฏร พูดถึงสว. 250 คนชุดปัจจุบัน ว่า ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ตามวัตถุประสงค์ที่มีอยู่ คือ การแช่งแข็งประชาธิปไตยของประเทศ ถือเป็นรูปธรรมของปัญหาที่เกิดขึ้นตามรัฐธรมนูญปี 60 โดยเฉพาะ 3 เรื่องสำคัญ ทั้งบทบาทการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่แทรกแซงกระบวนการจัดตั้งรัฐบาล การขัดขวางแก้ไขรัฐธรรมนูญ การรับรององค์กรอิสระ ที่ใช้อำนาจปฏิเสธบุคลากรหลายคน และถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับทัศนคติของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อหรือไม่



นายพริษฐ์ พูดถึง โครงสร้างที่มาของ สว.ชุดใหม่ อาจดีขึ้นกว่าชุดที่แล้ว แต่ต้องยอมรับว่า ยังห่างไกลจากความเป็นประชาธิปไตย ดังนั้นการลดความเสียหายได้ คือทำอย่างไรให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจสว.ชุดเก่า ไปสุ่ชุดใหม่ เกิดความราบรื่น รวมถึงการคัดเลือก ที่แม้ไม่ใช่การเลือกตั้ง อย่างน้อยก็ควรให้ประชาชนมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็น เข้าสังเกตการณ์ ตรวจสอบได้กว้างขวางที่สุด



ด้านดร.สิริพรรณ นกสวนสวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตการทำงานของสว.ชุดที่ผ่านมา โดยเฉพาะหน้าที่สำคัญในการปฏิรูปประเทศ คิดว่า 5 ปีไม่เห็นปฏิรูปในมิติใดที่ออกดอกออกผลเลย และในมุมกลับกัน สิ่งที่คิดว่าซ่อนเร้น คือ การสืบทอดอำนาจคสช. กลับเห็นภาพได้ชัดเจน ดังนั้นขอบคุณสว.ชุดนี้ ที่เป็นภาพสะท้อนจากการแต่งตั้งสว.โดยคณะรัฐประหาร และทำให้ประชาชนเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรต้องแก้ไขอย่างไร



ส่วนการเลือกสว.ชุดใหม่ที่จะเกิดขึ้น เห็นถึงความไม่ยึดโยงประชาชน และสิ่งที่กังวลใจ คิดว่า กกต ได้ออกระเบียบที่ทำเกินหรือทำนอกเหนือรัฐธรรมนูญ รวมถึงสร้างบรรยากาศความกลัว เพราะมีโทษรุนแรงกว่าการกระทำ เช่นตัดสิทธิ์การเสือง จึงคิดว่าอยากจะเห็น กกต.ผ่อนปรน หรือ อะลุ่มอล่วย ทั้งการการแนะนำตัวของผู้สมัคร และเปิดให้ประชาชนสังเกตการณ์ได้ ซึ่งเชื่อว่าแม้ระบบจะกีดกัน แต่หากประชาชารวมใจกันก็จะชนะระบบได้



ซึ่งก็เป็นความเห็นในทำนองเดียวกับ นายประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ ระบุว่า หากจะตัดเกรด สว.ชุดที่ผ่านมา ให้เต็ม 10 ในแง่การรักษาระเบียบอำนาจเดิมของคสช. ถือเป็นลูกจ้างที่ซื่อสัตย์กับคนที่ตั้งขึ้นมา แต่ถ้ามองการส่งเสริมประชาธิปไตยและตรวจสอบถ่วงดุล เห็นว่าต้องให้คะแนนเป็น 0 ถ้าจะเปรียบเทียบความโดดเด่นของสว.ชุดนี้ มองว่า เป็นสว. ที่มีบทบาทขัดขวาง กัดเซาะประชาธิปไตย



สำหรับบรรยากาศภายในงานเสวนา ด้านนอก มีการตั้งโต๊ะให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำ ผู้ที่สนใจลงสมัคร ส.ว.ชุดต่อไป โดยช่วยตรวจสอบเช็กลิสต์คุณสมบัติที่ต้องมีและเอกสารที่ต้องเตรียมเพื่อเดินทางไปสมัครวันจริง รวมถึง ยังมีการสำรวจความเห็นของคนที่มาร่วมงาน ว่า "ประเทศไทยควรยกเลิกสว.ใช้ระบบสภาเดี่ยว" เห็นด้วยหรือไม่ โดยใช้วิธีแปะสติ๊กเกอร์



นอกจากนี้ iLaw ยังมาร่วมจัดนิทรรศการ เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของ ส.ว.ชุดพิเศษที่หมดวาระ ว่าภายใน 5 ปีที่ผ่านมา ทำอะไรและทิ้งมรดกอะไรไว้เราบ้าง

คุณอาจสนใจ

Related News