สังคม

แบงก์ชาติเผยสถิติปี 64 คนไทยเจอแก๊งคอลเซนเตอร์ โทรหลอก 6.4 ล้านครั้ง เพิ่มจากปีก่อน 270%

โดย thichaphat_d

10 พ.ค. 2565

56 views

แบงก์ชาติเผย สถิติคนไทยปี 64 เจอแก๊ง Call Center โทรหลอกลวงถึง 6.4 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 270% และ SMS หลอกลวง เพิ่มขึ้น 57% จากปีก่อน

วันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ทีมพัฒนาและวิเคราะห์ข้อมูล ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงาน “Bi-monthly PAYMENT INSIGHT” ฉบับที่ 14/2565 เรื่อง Financial Fraud: กลโกงทางการเงินใกล้ตัวกว่าที่คิด ว่า

ในช่วงนี้ เราคงได้ยินข่าวคราวมิจฉาชีพ แก๊ง call center ที่มักมาพร้อมอุบายล่อลวงหลอกใหม่ ๆ ที่แยบยลมากขึ้น หรือการใช้บัญชีม้าเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระทำความผิด ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ล้วนเป็นการฉ้อโกงทางการเงิน หรือ financial fraud

โดยแก๊ง call center ไม่ได้เป็นแค่รูปแบบเดียวของ financial fraud ยังมีการฉ้อโกงอีกหลายประเภท สร้างความเสียหายให้กับประชาชนและประเทศอย่างมหาศาล ดังนั้น ภาครัฐและภาคเอกชนจึงต้องร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขปัญหา และที่สำคัญที่สุด คือ การสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนถึงภัยทางการเงินที่อยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด

ทั้งนี้ Financial fraud หรือ การฉ้อโกงทางการเงิน มีหลากลายประเภท ทั้งการขโมยบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือการขโมยข้อมูลบนบัตร เพื่อนำไปซื้อสินค้าออนไลน์ การปลอมแปลงบัตร (skimming) แล้วนำไปกดเงินสดที่ตู้ ATM หรือ การขโมยตัวตนผู้อื่น (identity theft) เพื่อนำไปสวมรอยเปิดบัญชีธนาคารหรือบัตรอิเล็กทรอนิกส์รวมกรณีมิจฉาชีพหลอกลวงทางโทรศัพท์ให้เหยื่อโอนเงิน

สำหรับสถิติ financial fraud ในไทยของปี 2564 พบว่า แก๊ง Call Center มีจำนวนโทรศัพท์หลอกลวงถึง 6.4 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 270% ขณะที่ SMS หลอกลวง เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 57% โดยผลสำรวจของสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เดือนก.พ.65 จากประมาณ 1,221 ตัวอย่าง ระบุว่า คนไทยกว่า 21% เคยเจอแก๊ง Call Center โทรมา

ขณะที่ บัญชีม้า คือ การใช้บัญชีธนาคารหรือ e-Wallet ของผู้อื่นเพื่อนำไปใช้ในการทุจริต ฟอกเงิน เช่น หลอกขายสินค้าทางออนไลน์ แก๊ง call center เพื่อใช้กระทำความผิด โดยบัญชีม้า หรือการใช้บัญชีธนาคารหรือ e-Wallet ของผู้อื่นเพื่อนำไปใช้ในการทุจริต แบ่งออกเป็น 2 ประเกท คือ

1.ม้าสมัครใจ คือ การขายบัญชีธนาคารหรือ e-Wallet ให้ผู้อื่นแล้วมีการนำข้อมูลบัญชีไปขายต่อให้กับกลุ่มมิจฉาชีพ และ 2.ม้าแบบไม่ตั้งใจ /ถูกสวมรอย คือ ถูกหลอกเอาข้อมูลไปใช้ในการเปิดบัญชีธนาคารหรือ e-Wallet เผื่อเอาไปใช้ในการทำธุรกรรมที่ทุจริต/ฟอกเงิน/ก่อการร้าย

และรู้หรือไม่ว่ามีการโทรและส่งข้อความหลอกลวงทั่วโลก ประเทศไทยไม่ใช่ที่เดียวที่ประสบปัญหาการโทรและข้อความหลอกลวงทาง SMS จากมิจฉาชีพ whocalls เผยจำนวนการโทรและข้อความหลอกลวงทั่วโลกสูงถึง 460 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 58% จากปีก่อน ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และคาดว่าน่าจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

ขณะที่เหยื่อ cyber fraud ในสหรัฐฯ FBI (Federal Bureau of Investigation) รายงานว่าในปี 2021 กลุ่มคนอายุมากกว่า 60 ปีในสหรัฐฯ มีสัดส่วนของการตกเป็นเหยื่ออาชญากรไซเบอร์สูงที่สุด คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 1.7 พันล้านดอลลาร์ สูงกว่าเหยื่อกลุ่มอายุ 20-29 ปีเกือบ 4 เท่า



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/cRXHFIhf_2k

คุณอาจสนใจ

Related News