สังคม
'ตรีนุช' แจงเรียนออนไลน์ ไม่ให้การศึกษาหยุดชะงัก นักวิชาการชี้เด็กเครียดหน้าจอ คุณภาพยิ่งถดถอย
โดย thichaphat_d
9 ก.ย. 2564
1.5K views
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียนเลว ที่เรียกร้องให้หยุดเรียนออนไลน์ ว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกกลุ่ม และขอชี้แจงว่าการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ สืบเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งได้ให้โรงเรียนพิจารณาเลือกรูปแบบการเรียนการสอน 5 รูปแบบ คือ
1.On-site เรียนที่โรงเรียน
2.On-air เรียนผ่านโทรทัศน์ดาวเทียม
3.On-demand เรียนผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ
4.On-line เรียนผ่านอินเตอร์เน็ต
และ 5.On-hand เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร
โดยพิจารณาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ยึดหลักความปลอดภัย และความต้องการของนักเรียนและผู้ปกครองเป็นหลัก รวมถึงได้มอบหมายให้หน่วยงานต้นสังกัดออกแนวปฏิบัติ แนวทางลดภาระครู นักเรียนและผู้ปกครอง เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน หลังจากที่มีการจัดการเรียนการสอนไประยะหนึ่ง และ ตั้ง ศบค.ศธ. เพื่อติดตามสถานการณ์ แก้ไขปัญหา สนับสนุนการเรียนการสอน เพื่อให้การจัดการศึกษาให้เดินหน้าต่อไปได้โดยไม่หยุดชะงัก
ซึ่ง ศธ.ให้ความสำคัญและเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยของเด็กเป็นอย่างมาก เราทราบดีว่าการเรียนออนไลน์ ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ดีเท่ากับการเรียนที่โรงเรียน ซึ่ง ศธ. และรัฐบาล เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ โดย ศธ.ได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดหาวัคซีนมาให้นักเรียนทุกคน แต่กลุ่มนักเรียนถือเป็นกลุ่มที่ความละเอียดอ่อน และต้องมีความระมัดระวัง
และพยายามทำทุกวิถีทางที่จะช่วยให้เด็กเข้าถึงการเรียนรู้และแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง เช่น สถานศึกษาคืน-ลด-ขยายเวลาผ่อนชำระ-ช่วยเหลือค่าเทอมนักเรียน ,เยียวยาค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา คนละ 2,000 บาท , สนับสนุนอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์สำหรับนักเรียน , ปรับการเรียน การสอบเพื่อลดความกังวลของนักเรียน เป็นต้น
ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการการศึกษา จากคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า การแสดงออกของกลุ่มนักเรียนเลว เป็นการตอบโต้ระบบการศึกษาที่ไม่คิดถึงอนาคตของเด็ก มัวแต่กลัวและปฏิเสธความรับผิด ทั้งที่เด็กเป็นผู้ถูกกระทำ ถูกบังคับให้เรียนออนไลน์ 6 เดือน – 1 ปี ทำให้เกิดความเครียด อยู่หน้าจอทั้งวัน ครูให้การบ้านมาก
หากเทอม 2 ยังเรียนแบบนี้ คุณภาพการเรียนจะยิ่งถดถอย เพราะฉะนั้นกระทรวงศึกษาควรคำนึงสิทธิและความต้องการของเด็กมากกว่านี้ และควรยกเลิกรูปแบบการเรียน 5 on เพราะเป็นนโยบายรวมศูนย์ ทำให้ครูคิดติดกรอบ พร้อมเสนอให้ครูออกแบบบูรณาการการสั่งการบ้านร่วมกัน เพื่อไม่ให้เป็นภาระของนักเรียน
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/0hUmjxcCQBU