สังคม

‘ปลัด - อส.’ ยันบริสุทธิ์ พร้อมสู้คดี หลังแม่ผู้ต้องหาค้ายา แฉถูกเรียกเงินแลกปล่อยตัวลูก

โดย paweena_c

26 ต.ค. 2565

74 views

ปลัดและอส.ที่ถูกแจ้งข้อหาเรียกรับเงินแลกตัวผู้ต้องหาคดียาเสพติด ยันตัวเองบริสุทธิ์ พร้อมสู้คดี ขณะที่แม่อดีตผู้ต้องหา เผยเคยถูกหนึ่งในอส.ชุดที่ถูกจับ ไกล่เกลี่ยให้นำเงินมาแลก เพื่อลดจำนวนยอดยาเสพติด

จากกรณี จ่าเอกไพรัช พร้อม อส. อีก 5 นาย ได้นำตัวนายธนกร ผู้ต้องหาเดินทางไปยังพื้นที่แห่งหนึ่ง อ้างว่า เป็นการไปติดต่อล่อซื้อ ไอซ์ 8 กิโลกรัม แต่กลับถูกชิงรถยนต์และยาบ้า 2 หมื่นเม็ดไป ต่อมาเมื่อมีการจับตัวผู้ต้องหาได้แล้ว ก็พบว่า ผู้ต้องหาให้การว่า จ่าเอกไพรัชและพวก เรียกรับผลประโยชน์ เพื่อแลกกับการกับปล่อยตัวผู้ต้องหา

จากนั้น ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ได้อนุมัติหมายจับ จ่าเอกไพรัช และพวก ในความผิดฐาน เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ซึ่งทั้งหมดได้เข้ามอบตัวกับตำรวจ สภ.รัตภูมิ จ.สงขลา เมื่อวานนี้ (25 ต.ค.) และมีการสอบปากคำ ยาวนาน ถึง 12 ชั่วโมง

พ.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า จากการสอบสวน ทีมปลัด และ อส. ทั้ง 6 นาย แต่งเรื่องขึ้นมา ไม่ใช่เรื่องจริง และไม่ได้มีการทำงานขยายผลเรื่องยาเสพติด แต่นำตัวผู้ต้องหาไปแลกกับเงิน ซึ่งเจ้าหน้าที่มีหลักฐานชัดเจนว่า มีการเรียกเงิน 1 ล้านบาท แต่ต่อรองเหลือ 200,000 บาท พร้อม ยาไอซ์อีก 8 กิโลกรัม มูลค่า 800,000 บาท โดยมีมูลค่ารวมกัน 1 ล้านบาท จึงขออนุมัติศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 9 ออกหมายจับปลัด และ อส. ทั้ง 6 คน ซึ่งการก่อเหตุเรียกรับเงินครั้งนี้ พบเป็นการทำครั้งแรก แต่หากประชาชน เคยเจอก็สามารถร้องเรียนมาได้

ต่อมา ปลัด และ อส. ได้ยื่นขอประกันตัว ซึ่งมีปลัดจากอำเภอต่างๆ มาใช้ตำแหน่งค้ำประกันให้ โดยตีวงเงินประกันคนละ 3 แสนบาท รวม 1.8 ล้านบาท และได้รับการประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวน

ด้าน จ่าเอกไพรัช ได้เปิดใจกับผู้สื่อข่าวเป็นครั้งแรกว่า ตนและเจ้าหน้าที่ทุกนายได้มาพบตำรวจ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจในการปฏิบัติหน้าที่ที่ผ่านมา ส่วนรายละเอียด และข้อเท็จจริงนั้น ได้ให้การกับพนักงานสอบสวนไปแล้ว เขาเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และมั่นใจในความบริสุทธิ์ใจล้านเปอร์เซ็นต์ ไม่มีความกังวลใดๆ เพราะปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ขณะที่แม่ของผู้ต้องหาคดียาเสพติดรายหนึ่ง ใน อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา มาร้องเรียนกับผู้สื่อข่าวว่า ลูกชายถูกเจ้าหน้าที่ชุดนี้จับกุม และเรียกรับเงินแลกกับการปล่อยตัว เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ในช่วงเวลา 23.30 น. ลูกชายถูกจับกุมไอซ์ 100 กรัม และมีเพื่อนสนิทของลูกชาย โทรมาหาภรรยาของลูกชาย ว่าให้หาเงิน 2 แสนบาทมาให้เจ้าหน้าที่แลกกับการปล่อยตัว แต่ทางครอบครัวไม่มีเงิน และโทรศัพท์ต่อรองกับชุดจับกุมชื่อว่าหมวดอาร์ม ซึ่งลดให้เหลือ 150,000 บาท

ทางครอบครัวก็ยังไม่มีเงิน ชุดจับกุมบอกให้นำเงินมาให้ 70,000 บาทก่อน และนัดส่งเงินกันที่ริมถนนบริเวณแยกสนามบินใน ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ จากนั้นก็มีรถยนต์สีขาว ขับมาจอดและหยิบเงินไป โดยไม่ลงจากรถและไม่เห็นหน้า ส่วนเงินอีกก้อนจำนวน 80,000 บาท นัดส่งมอบกันที่ริมเสาไฟฟ้าในพื้นที่ ต.บ้านพรุ อ.หาดใหญ่

แต่เมื่อให้เงินครบแล้ว ลูกชายได้โทรมาแจ้งว่า ชุดจับกุมชุดนี้ไม่ได้เรียกรับเงิน แต่ควบคุมตัวไว้และต้องการเงินอีก 50,000 บาท เพื่อนำไปขยายผลล่อซื้อยา หากสำเร็จก็จะคืนเงินให้และจะลดยอดยาให้ ทำให้ครอบครัวต้องนำรถจักรยานยนต์ไปจำนำและโอนเงินอีก 50,000 บาท ไปให้ผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งชุดจับกุมอ้างว่า เป็นขบวนการค้ายาเสพติด จนสุดท้ายสามารถขยายผลจับกุมได้เพิ่ม และนำตัวลูกชายมาส่งที่ สภ.คลองหอยโข่ง

แม่ผู้ต้องหา ได้สอบถามเงินจำนวน 50,000 บาท ที่นำไปล่อซื้อจากหนึ่งใน อส. ชุดนี้ ซึ่งแม่สามารถชี้ตัว อส.คนนั้น จากภาพถ่ายได้อย่างแม่นยำว่าเป็นคนที่มาคุยที่ สภ.คลองหอยโข่ง แต่เมื่อถามเรื่องเงิน 50,000 บาทที่โอนไป ก็บอกว่าไม่รู้โอนไปบัญชีไหนแล้ว ส่วนไอซ์ 100 กรัม ที่ถูกจับกุมมีการลดลงเหลือเพียง 50 กรัม นอกจากนี้ยังชี้ยืนยันตัวบุคคลซึ่งเป็น 1 ในชุดอส.ว่าเป็นคนเจรจาขอไกล่เกลี่ยด้วย

แม่ผู้ต้องหาเชื่อว่า ชุดจับกุมลูกชายน่าจะเป็นชุดเดียวกันกับที่เป็นข่าว ตอนนี้ครอบครัวต้องเป็นหนี้นอกระบบที่นำมาจ่าย 200,000 บาท และลูกชายยังถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยศาลตัดสินลงโทษจำคุกถึง 18 ปี

ขณะที่นางสาวสุดใจ ไข่เสน ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสงขลา รักษาราชการแทน ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 9 มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กลุ่มงานปราบปรามการทุจริต และกลุ่มงานป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสงขลา ติดตามการสอบสวนคดี ปลัดและทีม อส. รวม 6 นาย เรียกรับผลประโยชน์จากแก๊งค้ายาเสพติด เนื่องจากผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเรื่องนี้พนักงานสอบสวนจะต้องส่งสำนวนคดีให้ สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการภายใน 30 วัน

และสำนักงาน ป.ป.ช. จะรับเรื่องมาสอบสวนและตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามหน้าที่และอำนาจ หากพบว่าเป็นการกระทำความผิดจริง ผู้กระทำผิดจะถูกดำเนินคดี มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี และมีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต

คุณอาจสนใจ

Related News