สังคม

เปิดบรรยากาศเสวนาถอดบทเรียน 'หยก' สถานะนักเรียน

โดย parichat_p

25 มิ.ย. 2566

2.6K views

กรณีหยก เยาวชน 15 ปี นักเคลื่อนไหวทางการเมืองเรียกร้องสิทธิด้านการศึกษา วันนี้ มีการเสวนา "ถอดบทเรียนอำนาจนิยม.. กรณีหยก ..ขบถโรงเรียน กับทิศทางการปฏิรูปการศึกษาไทย?" ซึ่งผู้เสวนาชี้ตรงกัน โรงเรียนควรคำนึงถึง พรบ.สิทธิเด็ก มากกว่ายึดระเบียบของสถานศึกษา


บรรยากาศ การเสวนา ที่คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย หรือ ครป. และมูลนิธิเด็ก จัดขึ้น มีนางรัชนี ธงไชย ผู้อํานวยการโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก / นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ / นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ส.ส.จากพรรคก้าวไกล ร่วมเวทีเสวนา


นางอังคณา กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นภาคีของอนุสัญญาเด็กแห่งสหประชาชาติ ซึ่งหมายถึงคุ้มครองเด็กทุกคน ดังนั้นเด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษา ซึ่งคุ้มครองเด็กและกำหนดตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าเด็กจะมีสัญชาติอะไร


ในส่วนกรณี หยก นางอังคณา มีความกังวล เพราะบทบาทของโรงเรียน ครอบครัวและสังคม ยังร่วมมือกันน้อยไป และรู้สึกผิดหวังต่อแถลงการณ์ของโรงเรียน ที่บอกว่า หยกไม่มีสถานภาพการเป็นนักเรียน เพราะไม่มีผู้ปกครองมามอบตัว ตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งในความเป็นจริงต้องพูดคุยกัน ถ้าพ่อแม่ไม่มา ต้องตั้งกรรมการคุ้มครองเด็กมาพูดคุยแทน โรงเรียนไม่ควรใช้อำนาจ เอาตำรวจเข้ามาไว้ในโรงเรียน


ด้าน นางรัชนี ธงไชย ผู้อํานวยการโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก กล่าวว่า ในประเด็นของหยกมีหลายอย่างต้องศึกษาเพราะการจัดตั้งการศึกษาไม่ใช่มีเฉพาะกฏหมายของกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น จริงๆยังมีพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กด้วย ดังนั้นการพูดวันนี้จะพูดในแง่การจัดการระบบ ไม่ใช่การจัดการที่ตัวบุคคล


เนื่องอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กมี 4 ข้อสำคัญ หนึ่งในนั้น คือการมีส่วนร่วมของเด็ก แต่ที่ผ่านมาไม่มีรัฐมนตรีคนไหนพูดเรื่องสิทธิเด็ก เพราะในความเป็นจริงการออกกฎระเบียบ เด็กต้องร่วมพูดคุยและโหวตในระเบียบนั่นด้วย เพราะต้องคำนึงถึงสิทธิเด็ก ดังนั้นในความเป็นจริงการต่อสู้ของหยก คือการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยจากอำนาจนิยม / ในความเป็นจริงถ้าโรงเรียนมีเด็กนักเรียนแบบหยก จะเป็นเรื่องสนุก เพราะเราจะได้ฟังความเห็นมุมมองที่หลากหลายของเด็ก ได้ดูว่าเด็กคิดอะไร ในความเป็นจริงแล้วคุณครูต้องรู้ว่ามีกฎหมายอะไรบ้างที่เอื้อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ แต่ครูบางคนถูกครอบงำด้วยอำนาจนิยมที่ปลูกฝังต่อๆกันมา


นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกพรรคก้าวไกล ระบุว่า ประเด็นของหยก หลายคนมองเรื่องการใส่ชุดนักเรียน แต่ความจริงต้องมองในมุมกว้าง คือการมีส่วนร่วมของเด็ก ในความจริงโรงเรียนต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจภายใต้บทบาทการเข้าใจซึ่งกันและกัน / หลายคนตัดสินเด็กคนหนึ่ง เพียงจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง ไม่ได้มองบริบทโดยรวมที่เด็กคนหนึ่งต้องเจอ ทั้งโดนคดี 112 และต้องถูกนำไปควบคุมตัวในสถานพินิจ คำถามที่เกิดขึ้นคือ ปัญหามันเกิดขึ้นตอนไหน จริงๆมันเกิดจากวันที่ 14 มิถุนายน ที่โรงเรียนประกาศว่าหยก ไม่มีสถานภาพ การเป็นนักเรียน หยกจึงต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของเขา ส่วนวิธีการต่อสู้อาจจะผิดหรือถูกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การต่อสู้ด้วยความรุนแรงต่อกันทั้ง 2 ฝ่าย การใช้ไม้แข็ง ไม่เห็นภาพการพูดคุยกันแบบเห็นอกเห็นใจ


คำถามที่ต้องถามโรงเรียนคือ ทางโรงเรียนไม่รู้เหรอว่าหยกมีปัญหาในครอบครัว เพราะในความเป็นจริงโรงเรียนต้องเข้าไปในชุมชน เข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้เด็กได้เรียนในระบบ ต้องทำตามเจตนารมณ์ พรบ.คุ้มครองเด็ก แต่คุณครูกลับทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับ พรบ.คุ้มครองเด็ก ในความจริง ถ้าพ่อแม่ไม่มาเซ็นต์มอบตัว ต้องเปิดโอกาสให้คนในชุมชน สามารถเซ็นต์มอบตัวเด็กแทนพ่อแม่เด็กได้ / ส่วนตัวยืนยันว่าหยกไม่ได้ปฏิเสธการสวมชุดนักเรียนตั้งแต่ต้น แต่หยกต้องการแสดงออกทางสัญลักษณ์ว่าชุดนักเรียนที่เขาใส่ และหลายคนบอกว่าใส่ชุดนักเรียนให้รู้ว่าเป็นนักเรียน จะมีความปลอดภัย แต่วันนี้ชุดนักเรียนที่หยกเคยใส่ ไม่สามารถปกป้องสิทธิ์ของหยกได้ จึงต้องแสดงออกเชิงสัญลักษณ์


นายวิโรจน์ ย้ำว่า การกระทำของหยกอาจจะมีบางอย่างผิด บางอย่างไม่ถูกต้อง แต่ตอนนี้ไม่มีผู้ใหญ่คนไหนที่เห็นว่าหยกทำผิด เข้าไปพูดคุยแนะนำ เพราะผู้ใหญ่เองก็กลัวคำถามกลับจากเด็ก ที่จะกล่าวหาสะท้อนกลับไปที่ผู้ใหญ่เอง ว่าผู้ใหญ่ก็มีความผิด / เพราะตอนนี้มันมีธง ซึ่งอาจเป็นธงที่ผิด ที่ยืนยันว่าไม่อยากให้หยกเรียนในโรงเรียนที่เกิดเหตุ / สำคัญที่สุด เด็กต้องสิทธิในการเรียน มากกว่ามากกว่าการถกเถียงว่าเด็กจะใส่หรือไม่ใส่ชุดนักเรียน


https://youtu.be/7dX1WquKq3c

คุณอาจสนใจ

Related News