สังคม

ชาวบ้านยื่น 1,000 รายชื่อ ค้านรื้อสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ ชี้มีประโยชน์ สัญจรไป-มาสะดวก

โดย nut_p

21 ต.ค. 2566

1.7K views

ชาวบ้านกว่า 1,000 คน ร่วมลงรายชื่อส่งศาลปกครองกลาง คัดค้านรื้อสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ โอดเดือดร้อนมากหากรื้อออก เขื่อนก็ไม่มี เวลาน้ำท่วมไม่มีทางออก สะพานมีประโยชน์ช่วยให้สัญจรไป-มาสะดวก



เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 21 ต.ค. 66 ที่สะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์ ถ.ราชพฤกษ์ ต.วัดชลอ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ชาวบ้านกว่า 100 คน ที่ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีที่สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย สมาคมเรือไทย ร้องเรียนไปยังศาลปกครองกลางให้มีการรื้อถอนสะพานดังกล่าว หลังชาวบ้านในพื้นที่ทราบเรื่องว่าศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้รื้อถอนสะพานจึงได้รวบรวมรายชื่อชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากการสัญจรไปมากว่า 1,000 คน โดยมีนายโชติอนันต์ เลิศฤทธิ์ภูวดล หรือ อดีตสจ.เป้ บางกรวย ตัวแทนชาวบ้านเป็นผู้นำเอกสารไปมอบให้กับทางนายกองค์การบริหารส่วนตำบลมหาสวัสดิ์ เพื่อรวบรวมส่งให้กับทางศาลใช้ประกอบการพิจารณาถึงความเดือดร้อนของประชาชน



นางสุชาดา อายุ 70 ปี ชาวบ้านคลองมหาสวัสดิ์ กล่าวว่า ตนเดือดร้อนมากหากรื้อสะพานออก เขื่อนก็ไม่มี เวลาน้ำมาน้ำก็ท่วมไม่มีทางออก แต่อีกฝั่งเขาอยู่บนสวรรค์มีเขื่อนน้ำไม่ท่วมบ้านเขา แต่ฝั่งนนทบุรีน้ำท่วมจะให้ไปทางไหน พอจะมีสะพานข้ามคลองเขาก็ไม่ให้มี คือพวกเราจมน้ำตายมานานแล้วไม่มีทางออก ซึ่งสะพานนี้มีมาตั้งแต่ปี 60 และก็มีเรื่องมาเรื่อยๆ เมื่อก่อนไม่มีสะพานข้ามก็จะพายเรือข้ามคลองส่งลูกเรียนตั้งแต่อนุบาลจนจบปริญญาตรี พอตนได้ยินข่าวว่าจะรื้อสะพานตนก็ไม่สบายใจ เสียใจ ตนอยากให้มีสะพานอยู่เพราะผู้คนจะได้ใช้ ทำไมเขาไม่เห็นใจพวกตนบ้าง เวลาน้ำท่วมก็เหมือนคนจมน้ำต้องลอยคอกัน พอมองไปฝั่งตรงข้ามน้ำไม่ท่วมบ้านเขา ตนก็อยากฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พวกเราไม่อยากให้รื้อสะพานนี้ เพราะมีประโยชน์มากสำหรับชาวบ้านทุกคน เพราะมันไม่มีทางออกแล้ว ถ้าหากรื้อสะพานนี้ไป ก็ต้องไปออกอีกทางซึ่งมันไกล เวลามีคนเจ็บไข้ได้ป่วยก็สามารถใช้สะพานนี้ข้ามไปโรงพยาบาลได้ ถ้าให้ไปใช้อีกสะพานตนก็คิดว่าไม่ได้เพราะมันเล็ก



นางเฉลา อายุ 76 ปี กล่าวว่า ถ้ารื้อสะพานไปตนจะเดือดร้อนมากต้องไปข้ามสะพานโค้งที่อยู่ไกลๆ ซึ่งตนก็เข็นของแบกของไม่ไหวเพราะอายุเยอะแล้ว และสะพานตรงนี้ก็เข็นรถสบาย มีของกี่กล่องๆก็ไปสบาย บางทีก็เป็นของสวนที่ขนบ้าง ตนเดินไปมาตรงนี้ 60-70 ปีแล้ว ตั้งแต่เด็กก็เดินมาโรงเรียนวัดตอนนี้มีสะพานสะดวกมาก ตนไม่อยากให้ทุบเลย และคนส่วนใหญ่ก็ไม่อยากให้รื้อทุบ เพราะใช้สัญจรไปมาสะดวก เดินทางไปโรงพยาบาลก็สะดวก คนที่ป่วยหนักจะไปโรงพยาบาลศิริราชก็สะดวก ถ้าจะให้อ้อมไปอีกสะพานคือสะพานกรุง-นนท์ อีกหลาย 10 กิโลเมตร อาการคงแย่ และคนที่เดินทางไปฝั่งนนทบุรีก็ไปได้ เช่น โฮมโปร รพ.บางกรวย บางใหญ่ไปสุพรรณ หรือเวลาไปซื้อกับข้าว เขาก็สัญจรไปมาสะดวก ตนดีใจมากที่มีสะพานนี้ และก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรถึงถนนจะแคบเขาก็ใช้ความระมัดระวังกัน ตั้งแต่สร้างสะพานมา ตนก็อยู่ที่นี้ไม่เห็นเกิดอุบัติเหตุแม้แต่ครั้งเดียว



นอกจากนี้ชาวบ้านที่สัญจรไป-มา ต่างแสดงความคิดเห็นว่า ไม่เห็นด้วยกับการรื้อสะพานตรงนี้ออกไป เพราะคนส่วนใหญ่เขาใช้สัญจรกันไปมา มีอีกหลายสะพานที่ใช้ข้อกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ ชาวบ้านเขาใช้สะพานกันมาเยอะแล้ว ตนอยากให้มีสะพานนี้ต่อไป ไม่รื้อดีที่สุดเพราะวัน ๆ หนึ่งรถสัญจรไปมาเยอะ ยิ่งช่วงเย็นรถยิ่งเยอะเพราะว่าเวลาเด็กไปโรงเรียนหรือเลิกเรียน ทางนี้ก็สะดวกและรวดเร็ว ถ้ารื้อไปก็จบ หาทางออกไม่ได้ สะพานนี้เด็กนักเรียนโรงเรียนเซนต์คาเบรียลใช้สัญจรกันอยู่ ปกติเด็ก ๆ ต้องตื่นตั้งแต่ตี 05.00 น. เพื่อไปโรงเรียน หากสะพานนี่ถูกรื้อทุกคนต้องไปอ้อมไกล นักเรียนอาจจะต้องตื่นเช้ากว่านี้เพื่อไปเรียนตั้งแต่ตี 04.00 น. ซึ่งบริเวณนี้มีนักเรียนที่เรียนเซนต์คาเบรียลค่อนข้างเยอะ ไหน ๆ ก็สร้างมาแล้วไม่ควรจะรื้อออก จริง ๆ แล้วชาวบ้านได้ประโยชน์กับสะพานนี้ ชาวบ้านได้ใช้ บางทีให้ไปข้ามสะพานโค้งตรงนั้นเป็นจยย. จะลำบาก เขาก็ให้ลูกให้หลานไปส่งฝั่งทางนี้ เพื่อทำสวนเก็บผัก มาขาย และฝั่งทางนู้นก็ข้ามมาฝั่งนี้ เพื่อไป รพ.บางกรวย รพ.อนันต์ฯ ซึ่งมันใกล้และสะดวก จึงทำให้ไม่มีใครอยากให้ปิดสะพาน ก็ได้รับผลประโยชน์ทั้ง 2 ฝั่งไม่ใช่ได้ผลประโยชน์แค่ฝั่งเดียว ตนก็เห็นด้วยที่จะไม่ให้รื้อสะพานออก



นายโชติอนันต์ เลิศฤทธิ์ภูวดล หรือ อดีตสจ.เป้ บางกรวย อายุ 34 ปี กล่าวว่า วันนี้มีการรวมตัวกันของชาวบ้านผู้ที่อยู่โดยรอบและเดือดร้อนหากมีการรื้อถอนสะพานข้ามคลองมหาสวัสดิ์หรือคลองร่วมใจ พวกเราได้ออกมาแสดงสัญลักษณ์ของการคัดค้านการรื้อถอนสะพาน เพราะหากรื้อถอนชาวบ้านทั้ง 2 ฝั่งจะเดือดร้อน สะพานนี้เป็นสะพานสาธารณะประโยชน์ ใช้ร่วมกันทั้งฝั่งตลิ่งชัน และฝั่งนนทบุรี ตนมองว่าเป็นสาธารณะประโยชน์ที่ใช้ร่วมกันได้ เสียงส่วนใหญ่จากการทำประชาคมลงความเห็นว่าให้ทำสะพาน แต่จะมีเสียงส่วนน้อยที่ไม่เห็นด้วย



สะพานนี้สร้างตั้งแต่ปี 2563 ชาวบ้านใช้เดินทางตลอด เราคาดหวังและทุกคนคาดหวังที่สุดในการยื่นหนังสือครั้งนี้ เพราะรายชื่อ 1,000 กว่ารายชื่อที่เห็นด้วย ทุกคนได้ใช้ประโยชน์หมด ถ้าไม่มีสะพานนี้ต้องอ้อมไปสะพานใกล้เคียงอีก 3 กิโลเมตร ระยะเดินทางช่วงเร่งด่วนประมาณ 1 ชั่วโมง แต่หากใช้สะพานนี้จะลดเวลาในการเดินทางเหลือเพียงครึ่งชั่วโมง ทำให้ร่นเวลาไปได้เยอะและมีประโยชน์กับชาวบ้านมาก มีเหตุผลหลายอย่างที่ผู้ร้องยกเรื่องขึ้น แต่ตนมองว่าไม่น่าใช่ เช่น รถขับเสียงดังทำให้นอนไม่ได้ ตนอยากให้สื่อลงไปดูว่ารถขับเร็วมากแค่ไหน เส้นทางนี้มันจำกัดและไม่สามารถขับด้วยความเร็วได้อยู่แล้ว ตนมองว่าการมีสะพานนี้มันมีความเจริญในชุมชนทั้งฝั่งบางกรวย จ.นนทบุรี และฝั่งตลิ่งชัน กทม. คนที่เป็นผู้ร้องเท่าที่ทราบมีเพียง 47 คน



นายกวิภัฎ อายุ 40 ปี ตัวแทนชุมชนในเขตพื้นที่บางกรวย กล่าวว่า เอกสารทั้งหมดมาจากการรวบรวมรายชื่อของชุมชนและชาวบ้าน ประมาณ 1,000 กว่ารายชื่อ เพื่อจะเอาไปให้อบต.มหาสวัสดิ์นำไปยื่นอุทรณ์ต่อศาลปกครอง ซึ่งบริเวณนี้มีสถานที่ราชการหลายแห่งที่ประชาชนสามารถเดินทางไปใช้บริการตลอด เช่น โรงพยาบาลบางกรวย ประชาชนได้ประโยชน์จากสะพานนี้โดยแท้จริง เพราะทุกคนสามารถใช้ได้ ไม่มีการเก็บค่าใช้จ่าย เป็นที่มาที่ทำให้เราทำหนังสือนำส่งและใส่รายละเอียดไปว่าละแวกนี้มีสถานที่อะไรบ้างที่มีประโยชน์ต่อประชาชน ทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ราชการ



นายสุวรรณ โตสวน รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลมหาสวัสดิ์ กล่าวว่า ตนจะรับเรื่องไว้และได้นำเสนอถ้าทางอัยการเรียกหลักฐานเพิ่ม จะนำเอกสารส่งมอบไป ช่วงนี้อยู่ในช่วงที่ศาลพิจารณาเรื่องอยู่ เมื่อทางพี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนและคัดค้านการทุบสะพาน ทางอบต.จะรับเรื่องและรวบรวมไว้นำเรียนทางศาลในกรณีต้องการความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนเพิ่มเติม

คุณอาจสนใจ

Related News