สังคม

ชาวบ้าน 'แม่สลองนอก' จ.เชียงราย ร้องจนท.ช่วยจัดหาที่อยู่ใหม่ หวั่นดินถล่มซ้ำ หลังพบเป็นจุดเสี่ยง

โดย panwilai_c

10 ต.ค. 2567

107 views

ชาวบ้านหลายครอบครัวในตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เรียกร้องเจ้าหน้าที่จัดหาที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ให้ชาวบ้าน หลังจากเกิดเลื่อนไถลของดิน จนบ้าน เรือนหลายหลังทรุดตัว และเสี่ยงที่จะเผชิญดินถล่ม ขณะที่กรมทรัพยากรธรณี ระบุว่าชุมชนดังกล่าวมีความเสี่ยงภัยจริง เพราะตั้งอยู่บนดินที่เลื่อนไถลออกจากภูเขาเมื่อหลายปี ซึ่งแนวดินเหล่านี้พร้อมจะทรุดตัวเมื่อถูกกระตุ้นทั้งจากธรรมชาติและการใช้ประโยชน์ของมนุษย์



หมู่ 1 บ้านแม่สลองใน ต.แม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เป็นหนึ่งในหมู่บ้านที่กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดให้เป็นหมู่บ้านเสี่ยงภัยสูงต่อดินถล่ม ทั้งเพราะการตั้งอยู่บนแนวสันเขา และยังมีภูเขาสูงที่อยู่เหนือขึ้นไปอีก โดยที่บ้านเรือนตั้งอยู่ในแนวลาดเอียง



สัญญาณความเสี่ยงภัยที่เห็นชัดเจน ก็คือทุกๆปีจะเกิดดินเลื่อนไถลเสมอมากน้อยแตกต่างกันไป แต่ฝนตกหนักเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ถือว่าทำให้เกิดปรากฎการณ์ดินเลื่อนไถลรุนแรงที่สุดในรอยหลายปี และเสี่ยงที่จะเกิดการเลื่อนถล่มตามมา



ความเสียหายของบ้านเรือนหลายหลังในกลุ่มนี้เป็นตัวอย่างชัดเจน เพราะโครงสร้างของบ้าน แตก หัก ร้าว และทรุดตัวอย่างเป็นได้ชัด อบต.แม่สลองนอก ต้องประกาศห้ามอาศัยในบ้านหลังนี้ // ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีอีกหลายหลังที่ทรุดตัวพัง ตลอดหลายปีที่ผ่านมาจนอาศัยไม่ได้เช่่นกัน



ชาวบ้านที่นี่บอกว่าดินเลื่อนไถลทุกปี แต่ปีนี้หนักที่สุด บางคนบอกว่าในเวลากลางคืนพวกเขาได้ยินเสียงดังของการหักโค่นของต้นไม้ เสียงการแตกร้าวของพื้นซีเมนต์ หรือโครงสร้างบ้าน บางคนในหมู่บ้าน เรียกร้องให้ช่วยจัดหาที่อยู่ใหม่ ให้ผู้คนที่อยู่ในจุดเสี่ยงภัย



ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการบริหารจัดการ ทรัพยากรธรณี ระบุว่าที่ดินนี้ มาจากแนวดินที่เคยเลื่อนไถลหรือสไลด์ลงมาจากเชิงเขาเมื่อหลายปีก่อน จึงไม่มั่นคง เมื่อถูกกระตุ้นจากธรรมชาติ การใช้ประโยชน์จากมนุษย์ และการทรุดตัวในดินชั้นล่างทำให้ ทำให้ที่นี่เสี่ยงภัย



ลักษณะภัยพิบัติจากดินถล่ม มีหลายรูปแบบก็จริง แต่อาจเห็นได้ชัดจากลักษณะทางธรณีสัณฐานนี้ ที่จะประกอบด้วยการเลื่อนไถลของดิน ซึ่งอาจมองเห็นรอยแยก หรือแตกของผิวดินบนเชิงเขา รวมถึงการดินทรุดหรือเลื่อนออกมาเป็นแผ่นหรือเรียกว่าเลื่อนเป็นกะบิ จากนั้นก็เลื่อนไถลออกมาเป็นแนว ตั้งแต่ส่วนตัวจนถึงส่วนตีนหรือปลายของดินที่ถล่ม



นอกจากนี้ ยังอาจมีปรากฏการณ์หินร่วง หรือหินตก ประกอบกับการทรุดหรือถล่มของหน้าผา ทำให้เศษดิน หิน หรือซากจากธรณีวิทยาที่จะถูกซัด หรือพัด หรือทับบ้านเรือนให้เสียหาย



เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลทางวิชาการและสภาพพื้นที่หมู่บ้านนี้ที่เสี่ยง ทำให้อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่าชุมชนเสี่ยงเช่นนี้ ต้องติดตามการเตือนและเฝ้าระวังเตือนภัยใกล้ชิด



ที่หมู่บ้านนี้มีสถานีตรวจวัดการเคลื่อนตัวของมวลดิน ของซึ่งติดตั้งมาตั้งแต่ปี 2558 จากข้อมูลของเซนเซอร์ที่อยู่ลึกลงไป ในระดับ 3 เมตร และ 6 พบว่า เซนเซอร์ที่ปักเป็นแนวตรง ได้เคลื่อนตัวเล็กน้อยตลอด 9 ปีที่ผ่านมา ถือว่าไม่ผิดปกติ แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะเพิกเฉยหรือประมาทได้



นอกจากเครื่องตรวจวัดการเคลื่อนตัวของมวลดินแล้ว กรมทรัพยากรธรณี ได้เพิ่มทักษะความรู้ เครื่องมือ และจำนวนของเครือข่ายเตือนภัยธรณีพิบัติ ซึ่งอาสาสมัครหลายคนที่ร่วมเป็นเครือข่ายรุ่นแรงตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ได้กลายเป็นเครือข่ายสำคัญในการเตือนภัยให้ชุมชน

คุณอาจสนใจ

Related News