สังคม
ไม่เห็นชอบ! เจ้าของโรงแรมตัวจริงร้องศาล สั่งย้าย 'ครูกายแก้ว' พ้นพื้นที่ ยันไม่รู้เห็นตั้งรูปปั้น
โดย paweena_c
25 ส.ค. 2566
91.9K views
ผู้ถือหุ้นใหญ่โรงแรม ร้องศาลสั่ง ย้ายรูปปั้น “ครูกายแก้ว” ออกจากบริเวณโรงแรม เดอะ บาซาร์ แบงค็อก หลังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม
นายไพโรจน์ ทุ่งทอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สวนลุมไนท์บาซาร์ รัชดาภิเษก จำกัด เจ้าของโรงแรม เดอะ บาซาร์ แบงค็อก เปิดเผยกับทีมข่าวว่า ปัจจุบันตนไม่ได้บริหารกิจการโรงแรม เดอะ บาซาร์ แบงค็อก มาตั้งแต่ต้นปี 2565 แล้ว แต่ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นกว่า 80% อยู่ เนื่องจากช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 โรงแรมได้ประสบปัญหาเนื่องจากนักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้
นายชาญ ตุลยาพิศิษฐ์ชัย หุ้นส่วนที่ถือหุ้นประมาณ 20% พร้อมทนายความ จึงได้มาแนะนำกับตนว่าให้นำธุรกิจเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งตอนนั้นตนเองก็เห็นด้วยเพราะอายุเยอะแล้ว ใกล้จะเกษียณ จึงเซ็นมอบอำนาจให้นายชาญ นำธุรกิจโรงแรมเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ เป็นคดีของศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2565 โดยมีนายชาญ เป็นผู้ทำแผน และมีอำนาจในการบริหารกิจการโรงแรมแต่เพียงผู้เดียวตามคำสั่งศาล
แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้น นายชาญ ได้ห้ามไม่ให้ตน และกลุ่มผู้ก่อตั้งทั้งหมด เข้าไปในบริเวณพื้นที่โรงแรม แล้วก็เริ่มมีการบริหารงานที่แปลกไป จนกระทั่งมีการนำรูปปั้นดังกล่าวมาตั้งบริเวณโรงแรม ซึ่งหลังเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้ตนเองได้รับความเสียหาย เพราะเป็นที่รู้จักว่าเป็นเจ้าของโรงแรมตัวจริง โดยตนถูกสังคมต่อว่า มีโทรศัพท์โทรเข้ามาเป็นร้อยๆ สาย ถามว่าเอาอะไรมาตั้งที่โรงแรม บางคนก็เรียกว่าเป็นปีศาจ เป็นอสูร
นอกจากนี้ ตนยังมีความกังวลและไม่สบายใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะปัจจุบันก็ยังถือหุ้นกว่า 80% อยู่ ตนจึงเป็นห่วงภาพลักษณ์ของโรงแรม เพราะหากโรงแรมจะฟื้นฟูกิจการขึ้นมาได้ คนที่มาทำแผนฟื้นฟู ก็ควรจะทำโรงแรมให้ดีขึ้น สะอาดขึ้น อาหารอร่อยขึ้น ไม่ใช่อยู่ๆ มาทำเป็นโรงขมังเวทย์ ซึ่งตนไม่เห็นด้วยกับการกระทำนี้
ก่อนหน้านี้ ตนได้นำไดโนเสาร์ที่ขยับตัวได้เข้ามาติดตั้งในบริเวณโรงแรม เพื่อที่จะสร้างพื้นที่นี้ให้เป็นพื้นที่ที่น่าท่องเที่ยว เด็กๆ สามารถมาเดินเล่นได้ แต่ นายชาญ ได้นำไดโนเสาร์ออกไป และนำรูปปั้นดังกล่าวเข้ามาแทน ซึ่งเด็กเห็นก็อาจจะรู้สึกกลัวมากกว่า
และตนเอง เป็นคนที่ออกแบบโรงแรมนี้ พื้นที่ที่มีการนำรูปปั้นครูกายแก้วมาตั้ง เป็นพื้นที่ที่ตนตั้งใจออกแบบไว้สำหรับเป็นพื้นที่รวมพล ดังนั้น เมื่อมีการรูปปั้นมาตั้งกีดขวาง หากเกิดเหตุฉุกเฉินก็จะไม่สามารถใช้ที่ได้ และหากจะมีการก่อสร้างทำหลังคาขึ้นมาอีก ตนยิ่งไม่เห็นด้วย เพราะพื้นที่ตรงนี้ได้ทำ EIA ไว้ เป็นพื้นที่ความปลอดภัยของรถไฟฟ้าใต้ดิน
โดยที่ผ่านมา ได้มีบุคคลและองค์กรต่างๆ ไปยื่นเรื่องต่อหน่วยงานราชการ เช่น กรุงเทพมหานคร ขอให้นำรูปปั้นนี้ออกไปจากบริเวณโรงแรม แต่ปรากฏว่าก็ไม่มีกฎหมายใดที่จะสามารถสั่งให้นำรูปปั้นออกไปได้ ตนเองจึงกังวลว่าถ้าปล่อยไว้จะเกิดสิ่งไม่ดี จึงได้ปรึกษาทนายความและเห็นว่าในเมื่อกิจการมีคดีการขอฟื้นฟูกิจการอยู่ในศาลล้มละลายกลาง จึงได้มอบหมายให้ทนายความไปยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งให้ นายชาญ ซึ่งเป็นผู้ทำแผนฟิ้นฟูกิจการ นำรูปปั้นดังกล่าวออกไป
โดยได้ยื่นให้ศาลเห็นว่า การกระทำนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจหลักของโรงแรมจึงอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ และศาลได้นัดไต่สวนในวันที่ 12 กันยายนนี้ เวลา 10.00 น.
นายไพโรจน์ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่นายชาญ ให้สัมภาษณ์ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ของเอกชนนั้น ก็ไม่เป็นความจริง เพราะพื้นที่ของโรงแรมเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งตนได้เช่าพื้นที่ระยะยาว ในนามบริษัท แบงค์ค็อกไนท์บาซาร์ จำกัด
นายไพโรจน์ ย้ำว่า ตนเชื่อในเรื่องของการทำดีได้ดี การจะทำธุรกิจโรงแรมให้ดี มีคนมาพักเยอะ ต้องไม่ใช่เพราะเวทมนตร์ แต่ต้องทำบริการให้ดี ห้องพักสะอาด สิ่งอำนวยความสะดวกครบ และตนในฐานะผู้ก่อตั้งโรงแรม ก็เสียความรู้สึก ผิดหวังกับผู้บริหารชุดใหม่ ที่ตอนนี้โรงแรมมีภาพลักษณ์ที่ผิดวัตถุประสงค์ กลายเป็นสำนักขมังเวทย์ และยังทราบมาว่าอาจจะมีการนำรูปปั้นอื่นๆ มาตั้งเพิ่มอีก ตนจึงจะทำทุกวิถีทางให้มีการนำรูปปั้นออกไปให้ได้ และหากประชาชนที่ไม่สบายใจกับเรื่องนี้ ก็สามารถไปยื่นร้องต่อศาลร่วมกับตนได้ด้วยเช่นกัน