สังคม

แม่ร้อง พาลูกไปบำบัดยาเสพติด ถูกซ้อมซี่โครงหัก ศูนย์ปัดรับผิดชอบ

โดย panisa_p

25 พ.ค. 2566

108 views

วันที่ 25 พ.ค. 66 น.ส.ฮาหวา อายุ 59 ปี เข้าร้องทุกข์ที่ศูนย์ดำรงธรรม อ.เมือง จ.สตูล กรณีลูกชาย อายุ 34 ปี เข้าบำบัดที่ศูนย์บำบัดยาเสพติดแห่งหนึ่ง ต.บ้านควน อ.เมือง จ.สตูล และถูกเจ้าหน้าที่ศูนย์ดังกล่าวซ้อมจนซี่โครงหัก ต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล จึงขอความเป็นธรรมให้กับลูกชาย 


น.ส.ฮาหวา กล่าวว่า ลูกชายเป็นผู้ป่วยที่เคยบำบัดยาเสพติดและยังเป็นผู้ป่วยจิตเวช โดยเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 66 ตนได้พาลูกชายกลับบ้านและนำมาไว้ที่ศูนย์บำบัดยาเสพติด ต่อมาได้นำสิ่งของไปให้ลูกชายที่ศูนย์ฯ พบว่ามีผู้บำบัดถูกซ้อม ประกอบกับตนขอให้ทางศูนย์ส่งภาพเด็กในศูนย์บำบัดมาให้ดู และมีภาพเท้าถูกล่ามโซ่ ตนจำได้ว่าเป็นเท้าของลูกจึงไม่สบายใจ และไปรับลูกกลับบ้านเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 66 สภาพลูกชาย บริเวณต้นขาทั้ง 2 ข้างมีรอยถูกฟาดด้วยหวาย ตกกลางคืนลูกชายบ่นเจ็บหลัง ให้ตนออกไปซื้อยามาให้กิน และวันที่ 22 พ.ค. 66 ตนไปปรึกษาหมอจิตเวช เพื่อหาวิธีพาลูกชายไปหาหมอ หมอจึงให้ยานอนหลับ และนำตัวมาส่งหมอในวันที่ 23 พ.ค. 66


เมื่อไปถึงโรงพยาบาล ลูกชายได้คุยกับหมอ และเขาบอกหมอว่าถูกทำร้าย หมอจึงให้ไปเอ็กซเรย์พบว่าซี่โครงหัก จึงต้องรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล เมื่อทราบว่าลูกถูกซ้อม ตนจึงติดต่อไปที่ศูนย์ฯปรากฏว่า ไม่มีใครรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อ้างว่าไม่เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ ผู้บำบัดทะเลาะกันเองบ้าง บ้างก็บอกว่ามอบเด็กให้เขาดูแลแล้วเป็นสิทธิ์ของเขาที่จะทำอะไรก็ได้ ตนจึงคิดว่าลูกของตนไม่ได้รับความเป็นธรรม


หากมีการซ้อมกันจริงก็เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ ไม่อยากให้เด็กหรือผู้บำบัดคนอื่นถูกกระทำแบบลูกของตน ซึ่งที่ศูนย์ฯ ดังกล่าวเป็นศูนย์บำบัดของเอกชน ที่ต้องจ่ายเงินแรกเข้า 5,500 บาทและจ่ายรายเดือนอีก เดือนละ 3,500 บาท หากลูกของตนอาละวาดจริงก็น่าจะมีวิธีจัดการที่ไม่ใช่การซ้อมจนซี่โครงหัก ซึ่งลูกของตนนั้นต้องกินยาจิตเวชวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ตนเคยถามจนท.ศูนย์ว่าทำไมไม่ให้กินยาเช้า เพราะเห็นยาเช้าแทบจะไม่ได้กิน จนท.บอกว่ากินยาจนเต็มพุงแล้วให้กินเฉพาะเย็นอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งอย่างน้อยทางศูนย์ต้องรับผิดชอบ เยียวยาและช่วยเหลือในเรื่องของค่ารักษาพยาบาลบ้าง


ด้านนายสิทธิวุฒิ ทรงสวัสดิ์ ปลัดอำเภอกลุ่มงานความมั่นคงกล่าวว่า หลังรับเรื่องจะเชิญผู้เกี่ยวข้อง ทั้งผู้บริหารศูนย์บำบัด และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่มาเจราจาไกล่เกลี่ยในกรณีดังกล่าว อย่างไรก็ตามสำหรับศูนย์บำบัดดังกล่าวนั้นทราบว่าเป็นศูนย์บำบัดของเอกชน ที่มีผู้เข้าบำบัดกว่า 100 คน

คุณอาจสนใจ

Related News