สังคม
ชาวเกาะ 8 หมู่บ้านชายฝั่ง ร้อง! อยู่มา 200 ปี ก่อนกม.บังคับใช้ แต่ถูกเจ้าท่าเก็บค่าล่วงล้ำลำน้ำ
โดย paweena_c
19 ก.ค. 2565
214 views
ชาวบ้านเกาะลิบง เกาะมุกด์ และชายฝั่งกว่า 8 หมู่บ้าน ยื่นหนังสืออบต.เกาะลิบง ขอรับรองเป็นหมู่บ้านดั้งเดิม หลังกรมเจ้าท่าเก็บค่าตอบแทนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำทั้งที่อยู่มาก่อนกฎหมายบังคับใช้
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 19 ก.ค. ที่องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะลิบง ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง สภาองค์กรชุมชนเกาะลิบง นำโดย นายศรายุทธ สารสิทธิ์ โต๊ะอิหม่ามมัสยิดดาริสลาม นายอิสมาแอน เบ็ญสะอาด ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพเกาะลิบง นายสุวิทย์ สารสิทธิ์ อาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงเกาะลิบง ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านกว่า 100 คน จาก 8 หมู่บ้านพื้นที่ เกาะลิบง เกาะมุกด์ บางสัก ควนตุ้งกู หาดยาว และหาดมดตะนอย เข้ายื่นหนังสือให้กับนายสิทธิพร จิเหลา นายก อบต.เกาะลิบง เพื่อขอให้ทบทวนการจัดเก็บค่าตอบแทนสิ่งล่วงล้ำลําน้ำและรับรองการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านดั้งเดิม
หลังจากรับหนังสือแล้ว นายสิทธิพร จิเหลา นายก อบต.เกาะลิบง ก็ได้กล่าวกับชาวบ้านพร้อมทั้งแจ้งว่าจะทำหนังสือไปถึงนายอำเภอกันตัง เพื่อขอเปิดสภา อบต.ทำการลงมติรับรองการตั้งเป็นหมู่บ้านดั้งเดิม ภายในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ ชาวบ้านต่างปรบมือแสดงความพอใจก่อนแยกย้ายกันกลับ บรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
สำหรับปัญหาดังกล่าวสืบเนื่องจากกรณีกรมเจ้าท่าเรียกเก็บเงินค่าตอบแทนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ และค่าปรับอีกเท่าตัว ตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 117 พร้อมระบุว่า ชาวบ้านอยู่หลังปี พ.ศ.2515 ต้องเรียกเก็บเงินค่าตอบแทนรายปี แต่ละครอบครัวถูกเรียกเก็บย้อนหลังตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักหมื่น
ซึ่งชาวบ้านบนเกาะลิบงและพื้นที่ริมชายฝั่งต่างยืนยันว่า อยู่อาศัยกันมาหลายชั่วอายุคนมาเป็นร้อยปี โดยผู้ที่อยู่อาศัยในหมู่ ที่ 1 หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 4 หมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 8 ได้จัดตั้งและอยู่อาศัยมาก่อนปี 2515 เข้าข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 ไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทนสิ่งล่วงล้ำลําน้ำและรับรองการจัดตั้งหมู่บ้านก่อนปี 2515
ที่ผ่านมาเกิดการกัดเซาะชายฝั่ง บนตัวเกาะลิบงโดยเฉพาะหมู่ที่ 5 บ้านหลังเขา ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา ในส่วนของหมู่ที่ 4 และ หมู่ ที่ 7 เสนอให้มีการออกแบบการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งไปพร้อมกับการจัดระเบียบชุมชน และปลูกป่าชายเลนเพื่อกันลมและพายุ ขอให้องค์การบริหารส่วนตําบลเกาะลิบง ทบทวนการจัดเก็บ ค่าตอบแทนล่วงล่วงล้ำลําน้ำและรับรองการจัดตั้งของหมู่บ้าน
นายศรายุทธ สารสิทธิ์ โต๊ะอิหม่ามมัสยิดดาริสลาม กล่าวว่า เกิดความเข้าใจผิดที่ทางหน่วยงานรัฐอย่างกรมเจ้าท่าเอง ในข้อเท็จจริงเรื่องชุมชนเกาะลิบงเป็นชุมชนดั้งเดิม ตั้งมากกว่า 200 ปี มีหลักฐานมีประวัติศาสตร์ออกเป็นเอกสารหนังสืออยู่ วันนี้เราโดนเก็บค่าล่วงล้ำลำน้ำซึ่งมันมีเหตุปัจจัยหลายทั้งในเรื่องของการจัดเซาะชายฝั่ง
วันนี้จึงได้รวมตัวกันเพื่อแสดงจุดยืน อยากเรียกร้องให้ อบต.เกาะลิบงและทางสภาอบต.เกาะลิบงรับรองว่าเป็นชุมชนดั้งเดิม หลังจากมีหนังสือเรียกเก็บเงินดังกล่าวชาวบ้านเครียดมากไม่คิดว่าบ้านที่ตัวเองอยู่มาหลายชั่วอายุคนจะโดนเก็บค่าเช่าและในนั้นก็มีค่าปรับเข้ามาด้วย 100% ซึ่งเป็นมูลค่าที่มาก
บางคนรู้สึกกลัวจนนอนไม่หลับ ยิ่งเศรษฐกิจช่วงนี้ไม่ค่อยดีโดนพายุเข้าก็ออกเรือหาปลาไม่ได้ ไม่มีธุรกิจอะไรที่ใหญ่โต สร้างความหนักใจให้ชาวบ้าน ปัญหานี้เกิดขึ้นไม่กี่ปีก่อน อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดูหลักฐานพิจารณาในข้อมูลประวัติศาสตร์และหลักฐานต่างๆที่จะนำมายื่นให้วันนี้
ด้านนายสิทธิพร จิเหลา นายก อบต.เกาะลิบง กล่าว่า หลังจากรับหนังสือนี้ ตนจะนำเข้าที่ประชุมสภาและแจ้งประธานสภาให้ทราบ จากนั้นจะทำเรื่องส่งไปยังนายอำเภอกันตังเพื่อขอเปิดประชุมให้สภาอบต.เกาะลิบง รับรองว่าเป็นชุมชนดั้งเดิม
ถ้ามีอะไรคืบหน้าตนจะรีบแจ้งให้ชุมชนทราบ หากว่ามีมติให้การรับรองแล้วก็จะได้ทำหนังสือแจ้งกรมเจ้าท่าให้มีการทบทวนการเก็บค่าลุกล้ำลำน้ำดังกล่าว ตอนที่มีการเข้าไปสำรวจพื้นที่ตนก็ไม่ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจ ไม่ทราบละเอียดใดเลย บ้านแม่ของตนที่อยู่บนเกาะลิบงก็โดนเรียกเก็บเงินไปด้วยเป็นจำนวนกว่า 8,000 บาท
ขณะที่นายสุวิทย์ สารสิทธิ์ อาสาสมัครพิทักษ์ดุหยงเกาะลิบง เผยว่า วันนี้รู้สึกสบายใจขึ้นหลังจากได้ยื่นหนังสือให้กับทางนายก อบต.เกาะลิบง ต่อไปนี้เราจะติดตามว่าหลังจากการประชุมวันที่ 1 สิงหาคมนี้ ผลจะเป็นเช่นไร เพื่อดำเนินการต่อว่าขั้นต่อไปเราต้องทำอย่างไร
อยากฝากไปถึงผู้ที่ออกกฎหมายพรบ.ตรงนี้ต้องเข้าถึงชุมชน เข้าใจประวัติศาสตร์พื้นที่ ยิ่งในตอนนี้เศรษฐกิจเองก็ย่ำแย่ ชาวบ้านมีความยากลำบากในการทำงานหาเงิน ยิ่งมาเจอการเรียกเก็บเงินพร้อมค่าปรับแบบนี้อีกเหมือนเป็นการซ้ำเติมชาวบ้าน จากนี้ถ้ายังไม่มีความคืบหน้า เราก็จะมาทวงถามว่าได้ดำเนินการเป็นอย่างไรบ้างและทางกลุ่มเครือข่ายเองก็จะไปยื่นหนังสือถึงระดับจังหวัดอีกครั้ง
จากการสอบถามนายหมาดเส็น มะลิสะ อายุ 74 ปี ชาวบ้านหมู่ 7 บ้านหาดทรายแก้ว ชาวบ้านที่มาร่วมยื่นหนังสือ กล่าวถึงความรู้สึกว่า ตนอาศัยอยู่บนเกาะลิบงมานานหลายปีตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ตา ทวด โดยหลังจากรับหนังสือเรียกเก็บเงินและค่าปรับก็รู้สึกตกใจมาก
ตนถูกเรียกเก็บเป็นเงินกว่า 6 พันบาท ครอบครัวตนอยู่กัน 4 คน และอายุมากแล้วทำงานก็ไม่คล่องแคล่วเหมือนเก่า การหาเงินจำนวนมากมาจ่ายก็ไม่ไหว ตนรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและสุดจะทน ช่วงนี้หน้าพายุก็ออกเรือหาปลาไม่ได้ขาดรายได้ ตนก็อยู่เฉยๆที่บ้านเพราะอายุเยอะทำงานไม่ไหว แต่เมื่อได้มายื่นหนังสือให้เจ้าหน้าที่รับทราบถึงปัญหาก็รู้สึกพอใจ และหวังว่าทางภาครัฐจะเข้าใจชาวบ้านและเร่งคลี่คลายปัญหา.