สังคม
‘แพทย์จุฬาฯ’ เปิดตัวเข็ม ‘วันอานันทมหิดล’ ในงาน น้ำใจ ... สร้างกุศล Your Feelings Matter รู้สึก ... ทุกความรู้สึก
โดย chutikan_o
26 พ.ค. 2565
84 views
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวงาน น้ำใจ ... สร้างกุศล Your Feelings Matter รู้สึก ... ทุกความรู้สึก งานเปิดตัวเข็มวันอานันทมหิดล ประจำปี พ.ศ. 2565 เข็มที่ระลึกเนื่องใน “วันอานันทมหิดล” วันคล้ายวันสวรรคต รัชกาลที่ 8 (9 มิถุนายน) ผู้พระราชทานกำเนิด “แพทย์จุฬาฯ”
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย ศ.ดร.นพ.สิทธิศักดิ์ หรรษาเวก รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ ศ.พญ.บุรณี กาญจนถวัลย์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร และอาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกันแถลงข่าวงาน น้ำใจ ... สร้างกุศล Your Feelings Matter รู้สึก ... ทุกความรู้สึก งานเปิดตัวเข็มวันอานันทมหิดล ประจำปี พ.ศ. 2565 เข็มที่ระลึกเนื่องใน “วันอานันทมหิดล” วันคล้ายวันสวรรคต รัชกาลที่ 8 (9 มิถุนายน) ผู้พระราชทานกำเนิด “แพทย์จุฬาฯ” โดยมี คุณเป้ - อารักษ์ อมรศุภศิริ พร้อมด้วย ดารานักแสดงจาก ทีวีธันเดอร์ ช่องวัน 31 และผู้มีอุปการคุณ จากองค์กรและหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมงาน ณ โถงหน้าห้องประชุม ชั้น 3 โซน A อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โรงเรียนแพทย์แห่งที่ 2 ของ ประเทศไทย กำลังก้าวสู่ปีที่ 75 แห่งการก่อตั้ง ในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2565 นี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โรงเรียนแพทย์แห่งนี้ได้ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพและความโดดเด่น ซึ่งแพทย์จุฬาฯ ทุกรุ่น ต่างมีเป้าหมายในการประกอบวิชาชีพเดียวกัน คือ การเป็นแพทย์จุฬาฯ เพื่อคุณค่าของทุกชีวิต พร้อมมุ่งช่วยเหลือประชาชนอย่างมีคุณธรรมด้วยหัวใจ
ทางด้าน ศ.ดร.นพ.สิทธิศักดิ์ หรรษาเวก ได้กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการฯ ว่าคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ถือกำเนิดขึ้นมาในปี พ.ศ.2490 จากพระราชปรารภ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ที่ทรงต้องการให้ผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้น ให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน ซึ่ง ฝ่ายกิจการนิสิต ได้ดำเนินการจัดทำเข็มวันอานันทมหิดลมาอย่างต่อเนื่อง ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2528 โดย รศ.นพ.ปรีดา ทัศนประดิษฐ อดีตคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง รองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต ได้ริเริ่มจัดทำขึ้นในรูปแบบของสติ๊กเกอร์ ต่อมาได้มีการพัฒนา จนกระทั่งเป็นเข็มดั่งในปัจจุบัน การดำเนินงานอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ สโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
รูปแบบของเข็มวันอานันทมหิดลปีนี้ เป็นโลหะทองเหลืองสีเงินด้าน เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 ซม. โดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญรูปพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ประทับนั่งเหนือพระเก้าอี้ ตามแบบพระบรมราชานุสาวรีย์จริง ที่ประดิษฐานด้านหน้าอาคาร อปร.ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทั้ง มีตราพระเกี้ยวสีเงินเป็นสัญลักษณ์แทน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ก่อกำเนิดขึ้นตามพระราชปรารภของพระองค์ ฐานของเข็มกลัดเป็นรูปพวงมาลาประดับด้วยดอกกุหลาบสีส้ม ซึ่งตรงกับสีของวันอานันทมหิดลในปี พ.ศ. 2565 ที่ตรงกับวันพฤหัสบดี ด้านหน้าของพวงมาลามีตัวอักษร คำว่า “วันอานันทมหิดล ๒๕๖๕” ด้านหลังมีตัวอักษรคำว่า “คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”
โดยในปี 2565 ทางคณะกรรมการได้ดำเนินการภายใต้แนวคิด Your Feelings Matter รู้สึก ... ทุกความรู้สึก เนื่องจากทางโครงการฯ ได้ตระหนักถึงปัญหาสุขภาพจิตที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องการรณรงค์ให้ใส่ใจสุขภาพจิตของตัวเองและคนรอบข้าง เพราะอาการของสุขภาพจิตไม่ได้ชัดเหมือนสุขภาพกาย และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่คนในสังคมเกี่ยวกับโรคทางจิตเวช เพื่อลดตราบาป หรือ Stigma ของผู้ป่วยจิตเวช และให้ผู้ป่วยจิตเวชกล้าไปพบจิตแพทย์มากยิ่งขึ้น โดยรายได้จากการรับบริจาค จะนำไปสมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดล พร้อมด้วย มูลนิธิสงเคราะห์เด็ก สภากาชาดไทย ช่วยเหลือพระภิกษุอาพาธ ผู้ป่วยยากไร้ และยังนำรายได้สนับสนุนกิจกรรมจิตอาสา สโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกด้วย นอกจากนี้ ยังนำไปสนับสนุนการรักษาผู้ป่วยจิตเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งจะนำไปจัดซื้อเครื่อง rTMS (Repetitive Transcranial Magnetic Stimulation) เครื่องกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
ศ.พญ.บุรณี กาญจนถวัลย์ ได้เผยถึงความสำคัญของปัญหาสุขภาพจิตและแนวโน้มปัญหาสุขภาพจิตในปัจจุบันว่า การรณรงค์ใส่ใจกับปัญหาสุขภาพจิตในปัจจุบันมีความสำคัญมาก ซึ่งเชื่อมโยงกับเรื่องของแนวโน้มปัญหาสุขภาพจิตปัจจุบันที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 พบภาวะซึมเศร้าในคนไทยถึง 20% ที่เดิมก็สูงมากอยู่แล้ว ซึ่งในช่วงกลางปีที่ผ่านมาเป็นช่วงปัญหาโรคโควิด-19 หนักที่สุด กรมสุขภาพจิตสำรวจพบว่า คนไทยมีอัตราความเครียดสูงประมาณ 45% เสี่ยงเป็นภาวะซึมเศร้า 50% เสี่ยงฆ่าตัวตาย ถึง 30% และมีความรู้สึกหมดไฟ 17% ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก
วิธีการสังเกตว่าคนใกล้ชิดเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่นั้น เริ่มจากการที่คนนั้นได้มีบุคลิกท่าทางเปลี่ยนแปลงไป จะพูดน้อยลง ซึมลง ท้อแท้ เบื่อหน่าย ไม่มีความสุข ไม่สนุกกับกิจกรรมต่างๆ ที่เคยชอบ ไม่อยากพูดคุยกับใคร ไม่อยากออกไปเจอสังคม ไม่อยากเจอเพื่อน บางคนมีปัญหาเบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรือนอนไม่หลับ บางคนอาจจะตรงข้าม เช่น กินมากขึ้น เป็นการทดแทนความรู้สึกเบื่อหน่าย นอนทั้งวัน อารมณ์อาจจะหงุดหงิด โมโหง่ายขึ้นในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งทำให้คนรอบตัวยิ่งเข้าใจผิดมากขึ้น ในด้านความรู้สึกจะรู้สึกไม่มีคุณค่า ผิดหวังตัวเอง มองทุกอย่างในแง่ลบว่าสถานการณ์ไม่สามารถดีขึ้นได้ ตนเองไม่มีความสามารถที่จะทำอะไรต่อไปได้อีก และบางคนอาจจะถึงขั้นมีความคิดไม่อยากอยู่ อยากตาย หรือวางแผนทำร้ายตัวเอง ในส่วนของการช่วยเหลือและดูแลผู้ป่วยนั้น ควรมีทัศนคติที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้ที่มีอาการเศร้า เข้าใจว่าโรคซึมเศร้าคือภาวะการเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง ที่เกิดความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมอง ผู้ป่วยไม่ได้อยากเป็น ไม่ได้เกิดเพราะความอ่อนแอ ไม่สู้ชีวิต ไม่ได้แกล้งทำ ไม่ได้เป็นการเรียกร้องความสนใจ สิ่งสำคัญคือการให้ความเห็นอกเห็นใจพร้อมรับฟังปัญหา เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้พูดถึงสิ่งที่ไม่สบายใจอย่างเต็มที่ เต็มใจให้ความช่วยเหลือในเรื่องที่สามารถช่วยเหลือได้โดยไม่ทำให้เกิดปัญหาตามมา นอกจากนี้ การให้ความใส่ใจกับความคิดอยากตายหรืออยากฆ่าตัวตายของผู้ป่วย ให้โอกาสผู้ป่วยได้พูดถึงความรู้สึกรุนแรงดังกล่าว ซึ่งจะเป็นโอกาสให้คนอื่นได้มีโอกาสช่วยเหลือก่อนเกิดจริง
ผู้บริจาคเงินสามารถเลือกรับเข็มวันอานันทมหิดล พร้อมโปสการ์ดพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 8 และ รัชกาลที่ 9 หรือ เข็มที่ระลึกชุดพิเศษ 3 เข็ม ประกอบด้วย เข็มวันอานันทมหิดล ตั้งแต่ปี 2563-2565 พร้อมโปสการ์ดพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 8 โดยโครงการได้จัดทำเข็มชุดพิเศษนี้ขึ้น เนื่องจากปี 2565 เป็นปีพิเศษของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กำลังก้าวสู่ปีที่ 75 นอกจากนี้ ยังเปิดให้สั่งจองเสื้อยืดที่ระลึกของโครงการ โดยมี 2 สี คือสีขาว และสีส้ม ตั้งแต่ไซส์ S–4XL ซึ่งขั้นตอนการบริจาค การขอรับเข็มวันอานันทมหิดล และเสื้อยืด มีรายละเอียดดังนี้
1. เข็มวันอานันทมหิดล พ.ศ. 2565 พร้อมโปสการ์ดพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 8 และ รัชกาลที่ 9 บริจาคเงินเข็มละ 100 บาท
2. เข็มที่ระลึกชุดพิเศษ 3 เข็ม คือ เข็มวันอานันทมหิดล ตั้งแต่ พ.ศ. 2563-2565 พร้อมโปสการ์ดพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 8 บริจาคเงินชุดละ 200 บาท
3. เสื้อยืดที่ระลึกของโครงการ ทุกสี ทุกไซส์ บริจาคเงินตัวละ 250 บาท
บริจาคเงินผ่านเลขที่บัญชี 045-508231-4 บัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชีวันอานันทมหิดล ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย จากนั้น ลงทะเบียนเพื่อขอรับเข็มฯ เสื้อยืด และติดตามสถานะการบริจาค ได้ทางเว็ปไซต์ https://anandaydonation.docchula.com โดยมีค่าจัดส่งรวมใบเสร็จ จำนวน 40 บาท (ไม่จำกัดจำนวน) ผู้บริจาคสามารถขอใบเสร็จเพื่อนำไปลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า
ทั้งนี้ ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งจุดรับบริจาค ณ อาคาร ภปร, อาคารวชิรญาณวงศ์, ศาลาทินทัต, อาคารอานันทมหิดล และ ต่างจังหวัด ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ สามารถติดตามข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับโครงการเข็มวันอานันทมหิดล ได้ที่ Facebook Fan page: ANAN DAY หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ โทร. 02 256 4183 เวลา 08.00 – 17.00 น. วันจันทร์-ศุกร์ เว้นวันหยุดราชการ
แท็กที่เกี่ยวข้อง แพทย์จุฬาฯ ,วันอานันทมหิดล ,ร.8 ,เข็มวันอานันทมหิดล ,งานการกุศล