สังคม

สถาบันคชบาลฯ วอนหยุดดรามาปมปางช้าง มองเป็นแค่ความต่างในการเลี้ยง ชี้ทั้ง 2 ระบบมีกม.คุม

โดย panwilai_c

9 ต.ค. 2567

64 views

สถานการณ์น้ำท่วม เชียงใหม่ ที่ได้สร้างความเสียหายอย่างหนัก โดยเฉพาะที่อำเภอแม่แตง ซึ่งเป็นที่ตั้งของปางช้าง ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีช้างกว่า 400 เชือก โดยมีไม่ต่ำกว่า 15 ปางช้าง ที่เสียหายจากน้ำป่า นอกจากศูนย์บริบาลช้าง มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ที่มีช้างตาย 2 เชือก จนกลายเป็นประเด็นดราม่ากันถึงวิธีการเลี้ยงช้าง ระหว่างการเลี้ยงแบบธรรมชาติ กับการใช้โซ่ ตะขอ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมในการเลี้ยงช้างไทย และการจัดการปางช้างเชิงท่องเที่ยว ซึ่งสถาบันคชบาลแห่งชาติ ไม่อยากให้ความขัดแย้งบานปลายเพราะจะมีมาตรฐานทางกฎหมายที่บังคับใช้อยู่แล้ว



ปางช้างตี๋ตี๋ เป็นหนึ่งในปางช้างที่ได้รับความเสียหายอย่างหนัก จากเหตุน้ำท่วมในอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ คอกช้าง พื้นที่ทำกิจกรรม ห้องน้ำ จมอยู่ใต้น้ำ และยังมีดินโคลนจำนวนมาก แต่ช้าง 5 เชือก ปลอดภัย เพราะอพยพหนีน้ำได้ทัน



ปางช้างตี๋ตี๋ เป็นปางช้างขนาดเล็ก ที่เพิ่งเปิดมาเพียง 7 เดือน การฟื้นฟูสภาพพื้นที่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องการความช่วยเหลือด้วย ซึ่งปางช้าง ตี๋ตี๋ เป็นปางช้างท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ให้ทำกิจกรรม เช่น การให้ความรู้เรื่องช้าง ให้อาหาร ทำวิตามิน พาช้างเดิน และอาบน้ำช้าง



ขณะที่ปางบ้างตระกูลแสน ดูช้างดูดอย ก็เสียหายอย่างหนัก น้ำป่าซัดมาถึงตัวอาคารที่ทำกิจกรรมของช้าง คอกช้าง ห้องครัว ห้องอาหาร พื้นที่กิจกรรมมีสภาพดินโคลนสูง ในขณะยังทำความสะอาด เริ่มมีนักท่องเที่ยวกลับมาวันแรก ซึ่งเข้าใจดีว่าเเกิดน้ำท่วมจึงอยากช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยว โดยที่นี่มีช้าง 15 เชียง เป็นช้างพระครูอ๊อด วัดเจดีย์หลวง 8 เชือก ในส่วนผู้ดูแล อยากฟื้นฟูให้ได้โดยเร็ว



ส่วนที่ปางช้างแม่แตง เปิดรับนักท่องเที่ยวได้ 3 วันแล้ว หลังเร่งทำความสะอาดปางช้างที่ถูกน้ำป่าซัดอย่างหนัก ดินโคลนเข้ามาถึงร้านอาหาร ส่วนพื้นที่ริมน้ำ สะพานขาด และยังเต็มไปด้วยดินโคลน แต่ได้เร่งฟื้นฟูให้กลับมาโดยเร็ว และที่คลินิกปางช้างแม่แตงยังเปิดเป็นศูนย์รับบริจาคอาหาร เพื่อกระจายไปยังปางช้างอีกหลายแห่งที่เสียหายจากน้ำท่วมด้วย โดยนักท่องเที่ยวที่ปางช้างแม่แตง เข้าใจสถานการณ์ที่หยุดบริการล่องแพง แต่ยังทำกิจกรรมขี่ช้าง และกิจกรรมอื่นๆได้



นางสาวแสงเดือน ชัยเลิศ ประธานมูลนิะธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ยอมรับว่าอาจต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูความเสียหายจากน้ำท่วมไม่ต่ำกว่า 3 เดือนถึงจะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง เพราะเสียหายหนัก จึงขอตั้งใจดูแลช้างและสัตว์อื่นๆ ไม่อยากให้เกิดดราม่าบานปลาย ซึ่งเข้าใจว่าปัญหามาจากความเห็นที่ไม่ตรงกันเรื่องวิธีเลี้ยงช้าง ที่นางสาวแสงเดือน ใช้วิธีเลี้ยงแบบอิสระ เพราะส่วนใหญ่เป็นช้างพิการ ช้างแก่ ที่ต้องเปิดเป็นศูนย์บริบาลช้าง ไม่ได้ใช้โซ่และตะขอ จึงทำให้เกิดความขัดแย้งกับวิธีเลี้ยงตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของไทย ซึ่งนางสาวแสงเดือน ยอมรับว่าถูกโจมตีมาโดยตลอด แต่ยืนยันว่า ไม่ได้เลี้ยงแบบนี้เพื่อทำลายวัฒนธรรมช้างไทย ซึ่งสามารถเลี้ยงในวิธีที่ต่างกันได้ แต่ส่วนตัวมั่นใจว่าวิธีการนี้เป็นการให้ช้างอยู่กับธรรมชาติ และยังคงมีควาญช้างในการดูแลด้วย



นางสาวแสงเดือน ชี้แจงกรณีประกาศขอส่งช้างคืน นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา ที่เคยนำพลายขุนเดช และพลายดอกแก้ว มาให้เลี้ยงไว้กว่า 10 ปีแล้ว หากนางสาวกัญจนา เห็นว่าวิธีการเลี้ยงแบบนี้ไม่ดี ซึ่งพลายขุนเดช เคยบาดเจ็บจากกับระเบิด ทางมูลนิธิได้ทำรองเท้าพิเศษให้ จึงขอจบดราม่า และเสียใจที่เกิดปัญหาบานปลาย แต่ไม่อยากให้นำความเกลียดไปลงที่ช้าง



นางสาวแสงเดือน ยังชี้แจงการฝังและเผาซากช้าง ได้ทำตามความเห็นของภาครัฐหลายหน่วยงาน แต่หากยังมีการไม่พอใจ ก็พร้อมทำตามที่ภาครัฐเห็นชอบ เพราะความตั้งใจเดิมจะนำช้างทั้ง 2 เชือกมาฝังที่ปางช้างของตนเองอยู่แล้วโดยประเด็นนี้ นายสัตวแพทย์ ทวีโภค อังควณิชย์ เห็นว่าได้ทำตามขั้นตอนแล้ว



ส่วนประเด็นวิธีการเลี้ยงช้าง ข่าว 3 มิติ ได้สอบถามความเห็นจากปางช้างตี๋ตี๋ และปางช้างตระกูลแสน ที่เป็นเชิงอนุรักษ์ ยอมรับว่า แม้จะเลี้ยงแบบอนุรักษ์ แต่บางครั้งต้องใช้เพื่อควบคุมช้าง จึงอยากเห็นการใช้โอกาสนี้ชี้แจงกับสังคมให้เข้าใจ แม้จะมีวิธีที่ต่างกัน แต่การจัดรูปแบบการท่องเที่ยวของปางช้างในปัจจุบัน เพื่อแก้ปัญหาไม่ให้ช้างออกไปเร่ร่อนด้วย



ขณะที่ปางช้างแม่แตง ที่ควาญยังใช้โซ่และตะขอ ก็ยืนยันว่า ยังจำเป็นเพื่อการดูแลช้างและนักท่องเที่ยวให้ปลอดภัย และทำตามกฏหมายที่ไม่มีการทรมาน รวมถึงการแบกน้ำหนักช้างในกิจกรรมการขี่ช้าง ก็มีการควบคุมให้ทำงานในเวลา และเป็นความต้องการของนักท่องเที่ยว



ในขณะที่ผู้อำนวยการสถาบันคชบาลแห่งชาติ ยอมรับว่าปัญหาวิธีการเลี้ยงช้างถกเถียงกันมานาน ซึ่งหลักการต้องไม่ใช้การทรมานช้าง และมีกฎหมายในการควบคุมปางช้างต่างๆอยู่แล้ว



สำหรับที่ปางช้างแม่แตง ยังมีนักท่องเที่ยวเข้ามาต่อเนื่อง และชื่นชอบกิจกรรมการขี่ช้าง ที่ทางปางช้าง ยอมรับว่า มีกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ด้วย ซึ่งเห็นว่าปางช้างในปัจจุบันได้มีการปรับตัวไปมากแล้ว

คุณอาจสนใจ

Related News