สังคม
ถอดบทเรียนโศกนาฏกรรม ครู-นร. 13 ศพ ผู้เชี่ยวชาญแนะ ตรวจเข้มโครงสร้างรถบัส ต้นเหตุทำก๊าซรั่ว
โดย nut_p
6 ต.ค. 2567
68 views
โศกนาฏกรรมที่เกิดกับครูและนักเรียน 13 คน ในรถบัสทัศนศึกษาทำให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางบก ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์ และวิธีตรวจสภาพโดยสาร ที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งต้องตรวจทุกคันให้เสร็จสิ้นภายใน 30 พฤศจิกายนนี้ อย่างไรก็ตาม ข่าว 3 มิติ ได้รับเสียงสะท้อนจากผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องยนต์ก๊าซ NGV คนหนึ่ง ซึ่งผ่านการอบรมติดตั้งก๊าซอย่างถูกต้อง โดยเขาเห็นด้วยกับการตรวจมาตรฐานถังก๊าซ แต่ควรตรวจสอบคุณภาพโครงสร้างรถบัส ที่ประกอบขึ้นใหม่ว่ามีมาตรฐานหรือไม่ เพราะผลการตรวจสอบที่เปิดเผยในคณะกรรมาธิการ ก็ระบุชัดเจนว่ารถบัสที่เกิดเพลิงไหม้ มีจุดเริ่มต้นมาจากเพลาหน้าหัก บวกกับถังก๊าซที่ลักลอบติดเพิ่ม ทำให้เพลิงไหม้ รุนแรงดังกล่าว
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกรมการขนส่งทางบกวันนี้ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสภาพรถขนส่งผู้โดยสารที่ใช้ก๊าซธรรมชาติอัด หรือก๊าซปิโตรเลียม เหลว เป็นเชื้อเพลิง โดยอ้างอิงจากอุบัติเหตุเพลิงไหม้รถบัสทัศนศึกษาของโรงเรียน โดยให้กำหนดให้รถดังกล่าวเข้ารับการตรวจสภาพเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ ที่ใช้ติดตั้ง ในรถที่ใช้ขนส่งที่ใช้ก๊าซ
ประเด็นสำคัญตามประกาศนี้ ระบุว่ารถใช้ก๊าซที่ต้องเข้ารับการตรวจสภาพเครื่อง อุปกรณ์ส่วนควบ คือรถโดยสารประจำทาง และรถโดยสารไม่ประจำทาง โดยรถทั้งสอง ประเภทดังกล่าว ต้องเข้ารับการตรวจให้เสร็จสิ้นภายใน 30 พฤศจิกายน 2567 หรือสิ้นเดือนหน้า
รายละเอียดการตรวจอุปกรณ์และส่วนควบ คือ
1. ตรวจอายุการใช้งาน หรือวันหมดอายุของถัง
2.ตรวจจำนวนถังในระบบงานตรวจสภาพ กับจำนวนถังที่ติดตั้งในรถ
3. ตรวจการชำรุดบกพร่องของเครื่องอุปกรณ์และส่วนควบ
4. ตรวจการรั่วไหลของการก๊าซ
ประกาศนี้บังคับใช้ตั้งแต่ 2 ตุลาคม ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องยนต์ใช้ก๊าซ CNG หรือ NGV ในรถบรรทุกและรถโดยสารขนาดใหญ่ เสนอว่า นอกจากตรวจมาตรฐานถังก๊าซแล้ว ควรตรวจมาตรฐานของโครงสร้างรถบัสเหล่านั้นด้วย
เพราะเป็นที่รับรู้ว่าเป็นรถที่ประกอบขึ้นจากโครงสร้างเก่า เหล็กโครงรถ ผ่านการตัด ต่อ เชื่อม และเปลี่ยนจากแหนบเป็นถุงลมรับน้ำหนักแทน ซึ่งการชี้แจงของกรมการขนส่ง ทางบก ต่อกรรมาธิการคมนาคม ก็ระบุว่า ถุงลมรับน้ำหนักแตก ทำให้น้ำหนักของรถกดทับมาที่คานหรือเพลา จนหัก และรถเอียงตัว จากนั้นจึงทำให้ Fitting หรือข้อต่อท่อทางเดินก๊าซหลุดจากกัน เป็นสาเหตุให้ก๊าซรั่ว จากนั้นแรงเสียดสีของเหล็กกับพื้นถนน ทำให้เกิดประกายไฟไปถึงก๊าซที่รั่วในห้องโดยสาร
ด้วยประเด็นดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการรายนี้เสนอให้เพิ่มมาตรการตรวจเข้มงวด มากกว่าที่จะตรวจสภาพก๊าซเพียงอย่างเดียว
จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่ารถบัสทั้ง 6 คัน รวมคันที่เกิดเพลิงไหม้นั้น ติดตั้งก๊าซส่วนที่เกิดจาก 6 ถังนั้น มาจากที่ใด แต่ชัดเจนว่าขณะที่ถอดออกนั้น ไปดำเนินการ ที่อู่ที่มีชื่อว่า กังการช่าง ซึ่งขออนุญาตเทศบาลโคกกรวด สร้างเป็นโรงจอดรถเท่านั้น อย่างไรก็ตามข่าว 3 มิติ สงสัยว่า อู่ดังกล่าวนี้ เกี่ยวข้องกับรถบัสทั้ง 5 คันนี้ มากกว่าเฉพาะที่ถอดถังก๊าซออกหรือไม่
เพราะทีมข่าวสังเกตุเห็นว่า เบาะที่นั่งรถบัส มีชื่อชินบุตรทัวร์ ที่ถูกวางอยู่ในลานนี้ มีสนิมเกาะหนาแน่นและดูเหมือนจะตาก แดดฝนมานานมากเกินกว่าที่จะถูกถอดออก เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ข้อสงสัยนี้เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ที่จะไขปริศนาให้กระจ่าง
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าสังเกตุว่า หากการถอดถังก๊าซส่วนที่เกินออกจากรถบัส ทิ้งไว้ที่อู่ แล้วนำเฉพาะถังก๊าซที่ได้รับอนุญาตติดรถไว้ เพื่อหวังจะไปสำแดงต่อเจ้าหน้าที่ กรมการขนส่งทางบกนั้น แต่เหตุใดถังที่ทิ้งไว้ กลับมีสติกเกอร์ชื่อบริษัทผู้ทดสอบ และรับรองถังก๊าซ ติดอยู่ที่ถังซึ่งถูกถอดออกนี้ด้วย
เป็นไปได้หรือไม่ว่าเป็นการถอดผิดถัง หรือเป็นไปได้หรือไม่ว่า แท้จริงสติกเกอร์ที่อ้างอิงชื่อบริษัทผู้รับรองการทดสอบ และระบุวันเดือนปีหมดอายุการทดสอบนั้น เป็นเพียงสติกเกอร์ที่ทำเลียนแบบขึ้นมาเท่านั้น ข้อสงสัยเหล่านี้ จึงมีคำถามว่า จำเป็นที่ต้องทำให้กระจ่างหรือไม่ และจำเป็นที่ถังก๊าซที่ถูกถอด ออกมานั้น ควรจะเก็บไปเป็นหลักฐานหรือของกลางในการตรวจสอบหรือไม่