สังคม
นักวิจัยแนะ รบ.เร่งจำกัด เผยฉากทัศน์การระบาด 'ปลาหมอคางดำ' ขยายพันธุ์ 4 แสนตัวใน 4 เดือน
โดย nut_p
19 ก.ค. 2567
162 views
ปัญหาเเละผลกระทบจากปลาหมอคางดำ ทำให้หลายฝ่ายกังวัลว่า ถ้าภาครัฐไม่เร่งดำเนินการควบคุม หรือมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมเเละเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ปัญหานี้อาจจะยิ่งทวีความรุนเเรง-ลุกลามไปในภูมิภาคต่าง ๆ หรือไม่ วันนี้ข่าว 3 มิติ ไปคุยกับ รศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับ"ปลาหมอคาง" ต่อเนื่องมาตั้งเเต่เริ่มพบการระบาดเมื่อหลายปีก่อน มีข้อเสนอเเนะ รวมไปถึงฉากทัศน์เเละเเบบจำลองที่จะเเสดงให้เห็นว่า "ถ้าไม่ควบคุมจะเกิดอะไรขึ้น" เเละปลากระพงขาวที่นำไปปล่อย ถ้าจะให้ได้ผล จะต้องคำนึงถึงปัจจัยอะไรบ้าง
รศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ เริ่มศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการระบาดของปลาหมอคางดำ ตั้งเเต่ 3-4 ปีที่เเล้ว ด้วยขณะนั้นเห็นว่าเรื่องนี้ หากไม่เร่งหยุดยั้งหรือมีมาตรการที่เป็นรูปธรรม อาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ ที่ส่งผลกระทบทั้งต่อระบบนิเวศ เกษตรกร รวมถึงประชาชนผู้บริโภค
งานวิจัยชิ้นนี้ เริ่มจากการตั้งคำถาม ว่าทำไมปลาหมอคางดำถึงระบาดหนัก เเละเพิ่มจำนวนเร็ว ซึ่งได้คำตอบว่า พวกมันมีอัตราการออกไข่ครั้งละหลายร้อยตัว เเละใช้เวลาตั้งท้องรวดเร็วเพียง 22 วัน หากปล่อยลงสู่ธรรมชาติ ภายใน 4 เดือน ปลาหมอคางดำจะเพิ่มขึ้นประมาณ 4 เเสนตัว
จากข้อมูลนีั จะเห็นว่าอัตราการเกิดใหม่มีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เเละใช้เวลาไม่มาก สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่พบว่า ตั้งเเต่เริ่มทำวิจัยมาจนถึงตอนนี้ คือเดือนกรกฎาคม การระบาดได้เเพร่กระจายไปถึง 16 จังหวัดเเล้ว จะเห็นว่าใกล้เคียงกับกับตัวเลขในงานวิจัย ที่พบว่าในปี 2567 ปลาหมอคางดำ จะรุกราน-เเผ่ขยายออกไปอยู่ที่ประมาณ 20 จังหวัด
นี่คือฉากทัศน์ในงานวิจัย ที่จำลองขึ้นมาเพื่อให้เห็นว่า ถ้าไม่มีมาตรการควบคุม จะเกิดอะไรขึ้น จากกราฟิกจะเห็นว่า ในปี 2567 ปลาหมอคางดำจะระบาดใน 20 จังหวัด ดูตามรายชื่อจังหวัดจะเห็นว่า นอกจากพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทย ก็อาจจะลามไปถึงภาคกลางที่มีเเม่น้ำสายหลักเชื่อมถึงกัน
อีก 5 ปีจากนี้ ถ้าไม่ควบคุม มีเเนวโน้มจะระบาดครอบคลุมถึง 50 จังหวัดอีก 10 ปีจะไปถึง 68 จังหวัด 15 ปี 74 จังหวัด เเละอีก 20 ปี ผลวิจัยชี้ว่าถ้าไม่ควบคุม จะระบาดทุกจังหวัด ขึ้นไปจนถึงเหนือสุด คือ เชียงราย
นอกจากฉากทัศน์คาดการณ์พื้นที่ระบาด ในงานวิจัยนี้ ยังเสนอเเนวทางเเก้ปัญหา เช่น มาตรการ eDNA ตรวจเเหล่งน้ำในชุมชน ซึ่งเป็นมาตรการเชิงรุกที่ โดยไม่ต้องรอให้พบการระบาดหนัก
ตรวจเจอก่อนเริ่มดำเนินการก่อน การใช้ศัตรูธรรมชาติ เช่นปลากระพงขาว การส่งเสริมรายได้ชุมชน จับไปเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหาร สุดท้ายก็คือ การดัดเเปลงพันธุกรรมประเด็นนี้ถือว่าละเอียดอ่อน ต้องใช้เวลาศึกษาวิจัย หากเป็นไปตามมาตรการ เมื่อดูจากกราฟผลจากงานวิจัยชี้ว่า ในเเต่ละปีอัตราจะลดลง จึงเห็นว่ารัฐต้องเร่งดำเนินการ
เมื่อถามว่าปลากระพงขาวที่ปล่อยไปล่าปลาหมอคางดำ จะได้ผลหรือไม่ ผลวิจัยชี้ว่าช่วยได้ เเต่จะต้องปล่อยในปริมาณที่มากพอ หมายความว่า ต้องมีปลากระพงขาวอยู่ในเเหล่งระบาดไม่น้อยกว่า 1 % เเบบจำลองจากงานวิจัย จึงสรุปได้ว่า ปลาหมอคางดำ จะระบาดรุนเเรง หากไม่เร่งดำเนินการ
แท็กที่เกี่ยวข้อง ปลาหมอคางดำ ,จับปลาหมอคางดำ ,กำจัดปลาหมอคางดำ ,ปลาหมอคางดำระบาด