สังคม

ปชช. ร่วมกันติด #saveทับลาน ค้านแบ่งที่ดิน ที่เชื่อเอื้อนายทุน

โดย parichat_p

8 ก.ค. 2567

121 views

ความคืบหน้าเเละความเคลื่อนไหว กรณีคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อปี 2566 เห็นชอบให้ สำนักงานคณะ กรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ สคทช. ใช้แนวเขตแผนที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ที่สำรวจใหม่เมื่อปี 2543 ให้เป็นแนวเขตใหม่ของอุทยานแห่งชาติทับลาน ในโครงการ One map ซึ่งจะทำให้เนื้อที่ของอุทยานแห่งชาติทับลาน ลดลงประมาณ 2 แสน 6 หมื่น ไร่ และขณะนี้กรมอุทยานแห่งชาติ อยู่ระหว่างสำรวจความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย และประชาชนทั่วไป กระทั่งตอนนี้กลายเป็นประเด็นร้อนในสังคม จนเกิดกระแสแฮชแท็ค Save ทับลาน เรียกร้องให้คัดค้านการใช้แผนที่ดังกล่าว ที่เชื่อว่าเอื้อประโยชน์ ให้นายทุน ขณะที่อธิบดีกรมอุทยานฯ เชื่อมั่นว่ามติชี้ขาดการเพิกถอนป่าทับลาน จะไม่มากถึง 2 แสน 6 หมื่นไร่


เว็บไซต์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ยังคงเปิดให้ประชาชนเข้าไปแสดงความเห็น ว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย กรณีคณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เห็นชอบให้สำนักงานคระกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ สคทช. เดินหน้าปรับปรุงแนวเขตเพื่อทำแผนที่ใหม่ ในชื่อ วันแมป (One map) ของอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยยึดถือแนวเขตที่เกิดจากการสำรวจรังวัดเมื่อปี 2543 ซึ่งแผนที่ดังกล่าวทำให้เนื้อที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ลดลงประมาณ 2 แสน 6 หมื่นไร่ ซึ่งการเปิดให้แสดงความเห็น จะมีถึงวันที่ 12 กรกฎาคมนี้


อย่างไรก็ตาม ตลอดวันนี้เกิดกระแสในสังคมส่วนหนึ่ง คัดค้านการใช้แผนที่ดังกล่าวมาเป็นแนวเขตใหม่ เพราะกังวลใจว่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนกลุ่มทำรีสอร์ท จนเกิดแฮชแท็ค คำว่า Save ทับลาน ติดอันดับเทรนด์ X อันดับ 1 และอันดับ 2 ขณะที่หลายเพจในสังคมออนไลน์ ก็ขึ้นข้อความคัดค้านการปรับปรุงแนวเขตใหม่ดังกล่าว


ขณะที่เพจมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ก็ขึ้นคำว่า SAVE ทับลาน พร้อมขอให้ร่วมแสดงความเห็น ที่กรมอุทยานฯเปิดรับฟังความเห็นผ่านเวปไซต์


นอกจากนี้ มูลนิธิยังเปิดเผยรายละเอียด 6 ผลกระทบ หากมีการเพิกถอนพื้นที่อุทยาน คือ


ข้อ 1. หากใช้เส้นแนวเขตสำรวจอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี 2543 ตามมติ ครม. เป็นแนวเขตใหม่ เท่ากับว่าอุทยานแห่งชาติทับลาน จะเป็นฝ่ายบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติกว่า 164,960 ไร่ ซึ่งผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ


ข้อ 2 กระทบต่อรูปคดีที่กล่าวโทษดำเนินคดีไว้แล้วตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2504 และอยู่ระหว่างดำเนินการกับนายทุน/ผู้ครอบครองรายใหม่ 470 ราย และเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใช้ประโยชน์ 23 ราย เนื้อที่กว่า 1 หมื่น 1 พันไร่


ข้อ3. เอื้อประโยชน์นายทุนให้ซื้อขายแลกเปลี่ยนมือเพื่อสร้างโรงแรม รีสอร์ท และบ้านพักตากอากาศเพิ่มมากขึ้น


ข้อ 4. ลดคุณค่าความเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติที่เป็นต้นน้ำลำธาร และเป็นพื้นที่ความหวังในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง


ข้อ 5. จะเปิดโอกาสให้เกิดการใช้ที่ดิน แบบ ขุด ถม อัด ตัดไม้ ทำลายสภาพพืชพรรณบริเวณนั้น


ข้อ 6.กระทบแหล่งที่อยู่อาศัย หากิน หรือเส้นทางอพยพเคลื่อนย้ายของสัตว์ป่า


ขณะที่นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ฯ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ถือเป็นการทำหน้าที่ตามขั้นตอนกฎหมาย และตามมติ คณะ รัฐมนตรี แต่ในฐานะส่วนตัวได้คัดค้านการใช้แนวเขตดังกล่าว โดยระบุบว่ามีกลุ่มทุนตลอดจนนักการเมืองเข้ามาครอบครอง ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามที่จะ ไม่ให้เกิดการ รื้อถอนสิ่งปลูกที่ศาลตัดสินว่าบุกรุก และหากพื้นที่ดังกล่าวถูกกันออกไปกว่า 2 แสน 6 หมื่นไร่ จะยิ่งทำให้กลุ่มธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่ต้องรื้อถอนอีกเลย


ขณะที่นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เปิดเผยทางโทรศัพท์ว่าการดำเนินการรับฟังความเห็น เป็นไปตามมติ ครม. หากแล้วเสร็จทั้ง 2 ช่องทาง คือ เสวนา และระบบออนไลน์ จะสิ้นสุด 12 ก.ค.นี้ / จากนั้นทางกรมอุทยานฯ จึงจะสรุปเสนอต่อคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติชี้ขาด ซึ่งคาดว่า จะนำเสนอให้พิจารณาได้เร็วสุด น่าจะเป็นเดือน สิงหาคมนี้ โดยยังเชื่อมั่นว่า มติชี้ขาดเพิกถอนป่าทับลาน จะไม่จะเพิกถอนป่าถึง 2 แสน 6 หมื่นไร่ และยืนยันว่า แปลงที่ดินที่จะสำรวจ กับสิทธิ์ผู้จะครอบครองเป็นคนละกรณีนั้น โดยเฉพาะกลุ่มรีสอร์ตกว่า 400 แห่ง ที่ติดในคดี จะต้องไม่ได้ครอบครองที่ดินป่าอนุรักษ์ ซึ่งต้องดูข้อกฎหมายและเป็นคนละส่วนกับการเพิกถอนพื้นที่


ล่าสุดข่าว 3 มิติ ได้รับการยืนยันว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมอุทยานฯ เชื่อมั่นในแผนที่อุทยานฯทับลาน ตามที่ประกาศแนบท้ายในพระราชกฤษฏีกา การประกาศอุทยานฯก่อนหน้านี้ และมีข้อเสนอที่จะให้ทบทวนแนวการแผนที่ปี 2543 เนื่องจาก กรมอุทยานฯมีพรบ.อุทยานฯฉบับปี 2562 ซึ่งมาตรา 64 และ 65 ของพรบ.ฉบับนี้ อนุญาตให้ราษฎร ที่มีการตรวจสอบแล้ว ได้อาศัยและทำกินในป่าอนุรักษ์ได้ โดยไม่บุกรุกเพิ่มเติม


และมาตรา 121 แห่ง พรบ .สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่เป็นการปรับปรุง กฎหมาย ก็อนุญาตให้ราษฎรรายเดิมที่อยู่ในเขตรักษาพันธ์สัตวป่า ทำกินและอาศัยอยู่ได้ โดยห้ามซื้อขายและบุกรุกเพิ่มเติม


ซึ่งกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ ที่ปรับปรุงใหม่ทำให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เชื่อว่าจะให้การให้ประโยชน์ที่ดินไม่ถูกซื้อขายเปลี่ยนมือ หากเทียบกับการแบ่งหรือแยกออกไปเป็นที่ดินประเภทอื่น

คุณอาจสนใจ

Related News