สังคม

กมธ.ที่ดินฯ เห็นชอบแผนที่ 'One map' ปี 43 สางปมที่ดินทับลาน

โดย panwilai_c

17 ก.ค. 2567

55 views

กรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นด้วยกับแนวทางแก้ปัญหา เรื่องแนวเขตที่ดินของอุทยานแห่งชาติทับลาน ด้วยการยึดตามแนวเขตที่ดินที่สำรวจรังวัดปี 2543 ตามแนวทางโครงการ One map พร้อมกับเรียกร้องให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ชี้แจงสังคมว่าแนวเขตที่จะกันออก 2 แสน 6 หมื่นไร่ ไม่มีสภาพเป็นป่าแล้ว และเรียกร้องให้ ส.ป.ก.ชี้แจงเช่นกันว่าจะมีมาตรการป้องกันอย่างไร ไม่ให้ที่ดินที่จะถูกกันออก ตกไปอยู่ในมือของนายทุน



หลังจากใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมง เพื่อร่วมกันพิจารณาการชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับปัญหาที่ดินอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยต่อมานายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการฯ ร่วมกันแถลงว่าได้ข้อสรุปที่ดี โดยแยกเป็น สาม ประเด็นคือ



ที่ประชุมเห็นชอบ เหมือนกับที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อ 14 มีนาคมปีที่แล้ว ที่สำนักงานคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ จะปรับปรุงแนวเขตแผนที่อุทยานแห่งชาติทับลานใหม่ โดยใช้เส้นปรับปรุงแนวเขตเมื่อปี 2543 เป็นแนวเส้น One map



ประเด็นต่อมา คือทุกคนเห็นชอบ ที่ต้องรักษาสิทธิ์ประชาชนในแต่ละกลุ่มที่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ได้สิทธิ์ ส.ป.ก.อยู่ก่อนแล้ว และกลุ่มที่เป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติ ซึ่งต้องพิสูจน์สิทธิ์ให้ชัดเจนโดยให้ภาคประชาสังคมได้ทราบข้อเท็จจริงด้วย



ประเด็นที่สาม กรรมาธิการฯ เห็นว่าต้องเร่งรัดในขั้นตอนของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เพื่อรับรองแนวเขต ONeMapโดยเร็ว โดยกรรมาธิการ ได้ขอเอกสารเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นบันทึกการประชุมของอนุกรรมการ OneMap และบันทึกการประชุมของ สคทช. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานด้วย เพื่อพิจารณาให้ชัดเจน



ส่วนที่มีประเด็นว่าในพื้นที่ดังกล่าวมีผู้ถูกดำเนินคดีกว่า 500 คดีนั้น กรรมาธิการฯ ได้ข้อมูลว่า ไม่มีผลต่อโครงการ One map ดังกล่าว



ขณะที่นายนายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะเลขานุการ กมธ. เรียกร้องให้ฝ่ายการเมือง ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงให้สังคมได้เข้าใจว่าพื้นที่กว่า 2แสน 6 หมื่น ที่จะถูกกันออกจากอุทยานฯทับลาน ตามโครงการ One map นี้ มีสภาพเป็นชุมชน ไม่ใช่สภาพป่าสมบูรณ์ และระบุว่านี่ไม่ใช่การออกเอกสารสิทธิ์ แต่เป็นการคุ้มครองสิทธิ์คนที่อยู่มาก่อน ส่วนสิทธิ์จะเป็นแบบใดขึ้นอยู่กับระเบียบกฎหมาย



ขณะเดียยวกันนายเลาฟั้ง ยังเรียกร้องให้ ส.ป.ก. แสดงให้สังคมและภาครัฐได้เห็นให้ชัดเจนว่า หากมีการเพิกถอนที่ดินทับซ้อนดังกล่าวออกมาและส่งมอบให้ ส.ป.ก.นั้น ส.ป.ก.จะดำเนินการอย่างไร ให้สิทธิ์นี้ตกทอดถึงผู้มีคุณสมบัติถูกต้อง ไม่ใช่ตกอยู่ในมือนายทุน ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ให้พื้นที่อย่างไร ให้อยู่ใตกไปอยู่ในมือของคนที่มีคุณสมบัติจริงๆ ไม่ใช่อยู่ในมือของนายทุนที่ไม่มีคุณสมบัติดังกล่าว

คุณอาจสนใจ

Related News