สังคม
กลุ่ม LGBTQ+ ร่วมผลักดันแก้ไขการจำแนกโรค รับความหลากหลายทางเพศ
โดย panwilai_c
26 พ.ค. 2567
202 views
เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 องค์การอนามัยโลก who ได้ประกาศบัญชีจำแนกโรคสากลฉบับใหม่ ในฉบับที่ 11 โดยมีรายละเอียดสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการจำแนกหมวดหมู่ ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้นำนโยบายนี้มาปรับใช้ ตามที่หลายประเทศทั่วโลกได้มีการปรับปรุงแล้ว มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงร่วมกับเครือข่ายรณรงค์และประชาสัมพันธ์สิทธินี้ให้กับกลุ่ม LGBTQ+ ได้รับทราบ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป
เวทีขับเคลื่อนสังคมของมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้นำ เรื่องผลจากการเปลี่ยนแปลงการระบุความเจ็บป่วยในบัญชีการจำแนกโรค หรือ ICD 11 สู่โอกาสการเข้าถึงบริการเข้ามาหารือร่วมกับภาคีเครือข่าย หลังองค์การอนามัยโลก who ได้ประกาศบัญชีจำแนกโรคฉบับใหม่นี้เมื่อวันที่ 1 มกราคม ปี 2565
ผ่านมากว่า 2 ปี แล้ว นโยบายด้านสาธารณสุขสากลฉบับนี้ก็ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติสำหรับประเทศไทย
การประกาศครั้งนี้คือการถอนภาวะการมีเพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิดออกจากหมวดความผิดปกติทางจิต และ พฤติกรรมในบัญชีจำแนกสากลฉบับเดิม หรือ ICD-10 และบรรจุในหมวดที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะทางเพศแทนของ ICD11 แทน เพื่อแสดงออกถึงการเคารพสิทธิในผู้มีความหลากหลายทางเพศ
คุณพ่ออารี ระมิงค์วงศ์ ตัวแทนของกลุ่มผู้ปกครองที่มีบุตรเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ ได้เล่าประสบการณ์ระหว่างเขากับลูกในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิต เพื่อเป็นเสียงสะท้อนโอกาสในการเข้าถึงบริการ จากครอบครัวสู่ระบบบริการสุขภาพ เพื่อยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศ ในเรื่องความต้องการบริการที่เป็นมิตร โดยเริ่มจากกระบวนการข้ามเพศที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อน
เจษฎาพร ทองงาม ประธานกลุ่มพะยูนศรีตรัง เป็น 1 ในผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่สะท้อนปัญหาจากการถูกระบุในเอกสารราชการว่าเป็นบุคคลโรคจิตผิดปกติทางเพศอย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจและการใช้ชีวิตของเธอเป็นอย่างมาก ตลอดกว่า 26 ปี ที่ผ่านมาหลังเข้าตรวจร่างกายเพื่อเกณฑ์ทหาร
แม้เธอจะเรียนจบด้านการเงินด้วยผลการเรียนที่ดีเยี่ยมจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง แต่กลับถูกปฏิเสธจากที่ทำงานหลายแห่งเพียงเพราะข้อความสั้นๆ ในเอกสารรับรองผลการเกณฑ์ทหารของเธอ
มูลนิธิฯ ร่วมกับสมาคมเพศวิถีศึกษา พบว่ามีกลุ่มคนข้ามเพศไม่มีความรู้เรื่องประกาศ ICD11 ที่ประกาศถอดถอนสภาวะการณ์มีเพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิดออกจากหมวดความผิดปกติแล้ว มากถึงกว่าร้อยละ 91 ทำให้กลุ่ม LGBTQ+ ไม่อยากเข้ารับบริการสุขภาพ เพราะไม่ต้องการตอบปัญหาด้านเพศสภาพที่ส่งผลต่อการทำงานและการใช้ชีวิต พวกเขาส่วนใหญ่จึงไม่เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข เนื่องจากในสถานบริการเอกชนมีค่าใช้จ่ายที่สูง เฉลี่ยคนละ 6 แสน ถึง เกือบ 2 ล้านบาท ตั้งแต่กระบวนการรับฮอร์โมน เปลี่ยนแปลงร่างกาย และเปลี่ยนเพศ
กลายเป็นการเสียต้นทุนชีวิตไปกับสิ่งที่ควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งทางประธานมูลนิธิให้ความเห็นว่า ควรพิจารณาบรรจุสิทธิต่างๆ เหล่านี้ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของสปสช.
งานศิลปะเหล่านี้เป็นเสียงสะท้อนอีกมุมมองของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ต้องการให้สังคมได้รับรู้ถึงการถูกตีตราและความไม่เท่าเทียมในสังคม ซึ่งหลายครั้งยังมีอคติปิดกั้นในสิ่งที่พวกเขาควรได้รับตามสิทธิพื้นฐานของมนุษย์คนหนึ่ง โดยทางมูลนิธิจะร่วมกับภาคีเครือข่ายผลักดันประชาสัมพันธ์ประกาศฉบับนี้เพื่อการรับรู้ต่อไป
แท็กที่เกี่ยวข้อง กลุ่มLGBTQ+ ,ความหลากหลายทางเพศ ,องค์การอนามัยโลก (WHO) ,การจำแนกโรคสากล