สังคม

อธิบดีราชทัณฑ์ แจงไทม์ไลน์ยื้อชีวิต 'บุ้ง' พร้อมขอโทษแถลงครั้งก่อน ทำสับสน

โดย panwilai_c

17 พ.ค. 2567

39 views

วันนี้ (17 พ.ค. 67) อธิบดีกรมราชทัณฑ์ชี้แจงช่วงเวลาการเสียชีวิตของบุ้ง เนติพร อีกครั้งและขอโทษ ที่การแถลงข่าวครั้งก่อนทำให้เกิดความสับสน เพราะแพทย์ที่มาตอบไม่ใช่แพทย์เจ้าของไข้ และไม่ใช่แพทย์เวร ขณะที่ทนายความตั้งคำถามถึงกระบวนการรับเอกสารข้อมูลการรักษา ของผู้ตายที่แม้แต่พี่สาวผู้ตายก็รับเอกสารไม่ได้ว่าส่อพิรุธหรือไม่



นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงช่วงเวลาการเสียชีวิตของ บุ้ง เนติพร อีกครั้งโดยระบุว่าว่าบุ้งและตะวัน อยู่ห้องพักเดียวกัน มีกระจกใสกั้น วันเกิดเหตุทั้งคู่ตื่นราวตี 3 จากนั้นทั้งสองได้พูดคุยกัน และตะวันได้ลุกไปเข้าห้องน้ำ เมื่อกลับมาที่เตียงบุ้งซึ่งนอนอยู่ ถามตะวันว่า ยังปวดท้องอยู่หรือไม่



จากนั้นราว 6 โมงเช้ามีเจ้าหน้าที่ได้เข้ามาตรวจสภาพร่างกายตามปกติ ทั้งการตรวจวัดความดัน ออกซิเจน อัตราการเต้นของหัวใจ



ซึ่งการตรวจเจ้าหน้าที่ตรวจบุ้งก่อน แล้วมาตรวจตะวันต่อ แต่ตรวจตะวันได้เพียง 1 นาที ขณะนั้นเวลาประมาณ 6 โมง 20 นาที บุ้งได้ลุกขึ้นนั่งบนเตียงผู้ป่วย แล้ววูบไปทันที ทำให้เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ หรือ อสรจ. 4 คน เข้าให้การช่วยเหลือ โดยยกบุ้งไปทั้งที่นอนจากชั้น 2 ลงไปยังห้องไอซียู ชั้น 1 เพื่อทำการ cpr ระหว่างนั้นมีการตรวจวัดชีพจร ฉีดกลูโคลส ฉีดอะดรีนารีนเพื่อกระตุ้นหัวใจ โดยมีแพทย์เป็นผู้ฉีด



ยืนยันว่ามีการทำ cpr ต่อเนื่องจนกระทั่งนำตัวส่งแพทย์ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ โดยระหว่างนั้นมีการประเมินสภาวะร่างกายโดยการจับชีพจรแต่ไม่สามารถจับสัญญาณการเต้นของหัวใจได้ แต่สัญญาณชีพที่ตรวจวัดได้ครั้งสุดท้ายคือ 90 ครั้ง/นาที ซึ่งเป็นตอนตรวจร่างกายก่อนที่บุ้งจะวูบไป จนกระทั่งเวลาประมาณ 11 โมง ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์จึงแจ้งว่า บุ้งเสียชีวิตอย่างสงบ



ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสงสัยว่าบุ้งได้เสียชีวิตระหว่างนำตัวส่งโรงพยาบาลธรรม ศาสตร์หรือไม่นั้น อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่าจะต้องไปตรวจสอบเพิ่มเติม แต่คิดว่าอยู่ระหว่างการยื้อชีวิตให้ได้มากที่สุด ยืนยันว่าไม่ได้ส่งตัวช้า เพราะหลังเกิดเหตุในการประสานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์โดยทันที แต่ระหว่างนั้นมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการหลายอย่าง ย้ำว่าได้พยายามสุดความสามารถแล้ว และเป็นไปตามมาตรฐานของโรงพยาบาล ยืนยันแต่หลังจากนี้จะต้องมีการตรวจสอบว่าอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการกู้ชีพเพียง พอหรือไม่ และต้องขอโทษที่การแถลงข่าวครั้งก่อนเกิดควาบสับสน เพราะแพทย์ที่มาตอบไม่ใช่แพทย์เจ้าของไข้และไม่ใช่แพทย์เวรจึงไม่สามารถให้รายละเอียดในเชิงลึกได้



อธิบดีกรมราชทัณฑ์ระบุด้วยว่า เมื่อช่วงเช้าทางผู้แทนของผู้เสียชีวิต ได้เข้ามาติดต่อรับเอกสารการตรวจรักษาของบุ้งย้อนหลัง 5 วันเรียบร้อยแล้ว ส่วนภาพจากกล้องวงจรปิด คงต้องดูอีกที เพราะมันไม่ไปเกี่ยวข้องกับคนอื่นๆในห้องนั้นด้วย คงต้องมีการเซ็นเอกสารยินยอมจากผู้อื่นก่อน แต่หากทางครอบครัวยังข้องใจเรื่องการเสียชีวิต สามารถร้องศาลเพื่อไต่สวนได้หมด เพื่อพิสูจน์ความจริง



ด้านนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะทนายความของบุ้ง ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เรื่องเอกสาร การตรวจรักษาของบุ้งย้อนหลัง 5 วันว่า ทีมทนายความที่ได้รับมอบอำนาจจาก พี่สาวของบุ้ง ให้เข้าไปขอรับประวัติการรักษาย้อนหลัง 5 วัน และกล้องวงจรปิดจากทางราชทัณฑ์ แต่ทางราชทัณฑ์ยังไม่มอบข้อมูลให้ โดยอ้างว่าการมอบอำนาจไม่ถูกต้อง ตามกฎกระทรวงต้องให้ครอบครัวที่เป็น พ่อ แม่ และพี่สาว เข้าไปรับด้วยตัวเอง ทั้ง ๆ ที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์ยืนยันว่าให้เข้ามารับได้ แต่สุดท้ายก็ไม่ให้



ทนายกฤษฎางค์ยังระบุอีกด้วยว่าการอธิบายช่วงเวลาอธิบดีกรมราชทันฑ์ยังมีข้อสงสัยแต่จะรอให้ข้อเท็จจริงที่กรมราชทันฑ์แถลงหมดสิ้นกระแสความก่อนและเรียกร้องว่าสิ่งที่จะยืนยันได้คือวงจรปิด ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้แถลงต่อสื่อมวลชนแล้ว ก็ควรนำมาเปิดเผยให้เห็นกันไปเลย หากกังวลว่าจะกระทบใครก็เบลอหน้าไว้ได้



ช่วงท้ายทนายกฤษฎางค์ กล่าวว่า ทีมทนายความและครอบครัวผู้ตาย ไม่ได้หวังว่าจะเอาผิดใคร เพียงแค่อยากรู้ว่าลูกสาวเขา น้องสาวเขา ตายเพราะอะไร ก่อนจะฝากทิ้งท้ายถึงผู้บริหาร และอธิบดีกรมราชทัณฑ์ว่า ไม่ได้ประสงค์ที่จะเอาผิดทางคดีกับใคร แต่ต้องเอาความจริงมาตีแผ่ เพราะกรมราชทัณฑ์เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม



ด้านพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีนี้ว่าวันเกิดเหตุ 14 พฤษภาคม มีผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ 9 คน ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้บันทึกลำดับเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิด ทั้งวันเกิดเหตุและวันก่อนเกิดเหตุไว้หมดแล้ว รวมถึงรายละเอียดอาหารที่บุ้งกิน และการจัดส่งอาหารที่พยาบาลบันทึกไว้ทั้งหมด หากครอบครัวหรือทนายอยากดูก็สามารถดูได้



นอกจากนี้ยังระบุว่าขั้นตอนการชันสูตรผู้เสียชีวิตอยู่ระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ จะต้องมีพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการและฝ่ายปกครอง มาร่วมดำเนินการภายใต้คำสั่งของอัยการ โดยทำสำนวนและส่งศาลใน 30 วัน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส จากนั้นศาลจะดำเนินการไต่สวนสำนวนภายใน 30 วัน ซึ่งญาติหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องสามารถสอบถาม หรือหาพยานหลักฐานมาหักล้างได้

คุณอาจสนใจ

Related News