สังคม

ตามรอยพระธรรมทูต จากกรุงศรีอยุธยา เดินทางเผยแผ่พุทธศาสนา ในศรีลังกา

โดย panwilai_c

13 มี.ค. 2567

124 views

ครบ 5 วันของการบรรพชาอุปสมบทของพระภิกษุจากประเทศไทย ที่มาอุปสมบทหมู่ที่ประเทศศรีลังกา และตามรอยการเผยแผ่พระพุทธศาสนา นิกายสยามวงศ์ ของพระอุบาลีเถระ ที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ส่งมาเป็นพระธรรมฑูตและช่วยฟื้นฟูพุทธศาสนาบนแผ่นดิน ลังกา หรือประเทศศรีลังกา โดยตลอด วันที่ผ่านมาได้ศึกษาทั้งพุทธศาสนสถาน ซึ่งหลายสถานที่มีความเชื่อมโยงกับประเทศไทย



พ้นราตรีแรก หลังการบรรพชาอุปสมบทหมู่ที่ประเทศศรีลังกา พระนวกะหรือพระบวชใหม่ทั้ง 47 รูป ได้ออกรับบิณฑบาต โดยสมเด็จพระเทพญาณมุนี เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส และผู้ริเริมโครงการบวชพระภิกษุไทย ที่ศรีลังกา ในโครงการ สยามวงศ์ 1 ได้ถวายภัตตาหารเช้าแด่พระนวกะ ส่วนคณะอุบาสก อุบาสิกา ที่ตามมาจากประเทศไทย ได้ทำบุญตักบาตรพระสงฆทั้งหมด จากนั้นพระสงฆ์ได้ทำวัตรเช้าที่วัดคงคาราม ซึ่งเป็นวัดนิกายสยามวงศ์ และเป็นสถานที่บรรพชาอุปสมบทของพระไทยครั้งประวัติศาสตร์นี้ ก่อนจะมุ่งหน้าไปที่เมืองมรดกโกก อนุราธปุระ เมืองหลวงที่เก่าแก่แห่งแรกของศรีลังกา



ที่เมืองอนุราธปุระ พระศรีมหาโพธิ์ หรือต้นโพธิ์ต้นนี้ นอกจากมีอายุยืนยาวที่สุดในโลก ด้วยระยะเวลากว่า 2500 ปีมาแล้ว ยังเชื่อมโยงไปถึงประเทศไทย ที่คนไทยรู้จักในชื่อโพธิ์ลังกา หรือต้นโพธ์จากประเทศศรีลังกา



หลังพระพุทธเจ้าปรินิพนานแล้ว พระมหินทร์เถระ พระโอรสพระองค์หนึ่งของพระเจ้าอโศกมหาราช นำศาสนาพุทธมาเผยแผ่ที่ศรีลังกา และพระนางสังฆมิตตาเถรี พระราชธิดาของพระเจ้าอโศกมหาราช ที่เสด็จมาด้วย ก็นำนำต้นโพธิ์นี้มาจากอินเดียและปลูกที่นี่ ตั้งแต่พ.ศ 236 ซึ่งการปลูกต้นโพธิ์ เป็นการรำลึกถึงพระพุทธเจ้า ที่ตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ โดยที่ขณะนั้นยังไม่มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นมา



ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทราศุ ให้ข้อมูลว่าในรัชสมัยรัชการที่ 2 ของไทย ทรงแต่งราชฑูตมาที่เมืองลังกา และได้กิ่งต้นโพธิ์นี้กลับไปปลูก 6 ต้น ที่นครศรีธรรมราช และอารามในกรุงเทพ โดยเรียกกันว่าโพธิ์ลังกา ต่อมาในสมัยรัชการที่ 5 จึงนำต้นโพธิ์จากพุทธคยา ประเทศอินเดียกลับไปปลูกที่ประเทศไทย จึงเรียกกันว่า "โพธิคยา"



นอกจากโพธิ์ลังกาและโพธิ์คยา ที่สะท้อนการเชื่อมต่อถึงกันระหว่างสยาม กับลังกาแล้ว รูปแบบการสร้างสิ่งบูชา และพิธีกรรมก็ยังเหมือนกัน เช่นที่พระเจดีย์สุวรรณมาลิก ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ ก็มีหลักฐานปรากฏว่าเป็นต้นทางเจดีย์พระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช และองค์พระปฐมเจดีย์ที่นครปฐม ที่นี่มีพุทธศาสนชิกชนมาสักการะ ด้วยธูปเทียนดอกไม้ และประโคมดนตรีในพิธีห่มพระธาตุเหมือนกับหลายวัดในประเทศไทย



ศรีลังกา รับการเผยแผ่พุทธศาสนามาจากอินเดียก็จริง แต่หลายยุคสมัยที่มีความรุ่งเรืองบ้านเมืองสงบ เมืองจึงมีทั้งกำลังคนและเวลาที่จะสร้างศาสนสถาน ควบคู่กับอาณาจักร



พระพุทธรูปปางประทานพรแกะสลักจากหินผา ยืนเต็มองค์ ขนาด 46 ฟุตนี้ เป็นสิ่งยืนยันว่าศรัทธาทำสิ่งที่ทำได้ยาก ให้เกิดขึ้นได้ เพราะไม่เพียงแต่พระพุทธรูปที่ชื่ออูวะนาคาองค์นี้จะแกะสลักจากหินผาทั้งลูก ซึ่งสะท้อนถึงความสามารถเท่านั้น แต่การแกะสลักผาหิน ให้เป็นริ้วจีวรเหมือนกลีบผ้าจริงสะท้อนถึงความปราณีตอย่างมาก โดยพระพุทธรูปแกะสลักนี สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1000 ที่นี่พระนะวะก ได้ทำวัตรเช้าและฟังการสวดพระปาติโมกข์ จากนั้นจึงมุ่งหน้าไปที่วัดถ้ำดัมบูลลา หนึ่งในศาสนสถานสำคัญของชาวพุทธในศรีลังกา



วัดถ้ำดัมบูลลา เป็นวัดที่สร้างอยู่ภายใต้ซอกหน้าผาหินขนาดใหญ่ สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18 ใต้ซอกหน้าผาหินมี 5 ถ้ำเรียงรายกันอยู่ มีชื่อต่างกันเช่นถ้ำเทวราชา มหาราชา มหาวิหารใหม่เป็นต้น ภายในถ้ำ มีทั้งรูปปั้น รูปแกะสลัก และภาพเขียนพุทธประวัติที่ยังคงงดงามแม้จะสร้างมานับพันปีแล้ว พุทธศาสนสถานเหล่านี้เป็นหนึ่งในสถานที่เรียนรู้ของพระนวกะ ที่มาศรีลังกา



การจาริกศึกษาศาสนสถานของคณะสงฆ์ สิ้นสุดวันนั้น ด้วยกิจของสงฆ์ คือการทำวัตรเย็นใต้ร่มโพธิ์ภายในวัดถ้ำดัมบูลลา ท่ามกลางการยินดีของคณะผู้ติดตาม และแม้แต่ชาวศรีลังกา ที่นับถือพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ ต่างก็ร่วมสวดมนต์ในบทที่คนเหล่านั้นสวดได้เช่นด้วยกัน

คุณอาจสนใจ

Related News