สังคม

7 วันในศรีลังกา พระสงฆ์ไทย สืบทอดเจตนารมณ์ 'พระอุบาลี' ศึกษาการเผยแผ่พุทธศาสนา 'สยามวงศ์'

โดย nut_p

14 มี.ค. 2567

150 views

พรุ่งนี้คณะพระสงฆ์ไทยในโครงการสยามวงศ์ 1 ซึ่งไปบรรพชาอุปสมบท ที่ศรีลังกาจะเดินทางกลับประเทศไทย และมีหลายรูปที่จะลาสิกขาในวันพรุ่งนี้ แต่ตลอด 7 วันของการจาริกในศรีลังกา ได้ศึกษาการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของไทย โดยเฉพาะนิกายสยามวงศ์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ที่ชาวพุทธในศรีลังกานับถือ ขณะเดียวกันโครงการนี้เป็นการสืบทอดต่อยอดพระพุทธศาสนา



ปี่ กลอง ประโคมดังไกลมาถึงนอกกำแพงวังที่ประดิษฐานพระเขี้ยวแก้ว หรือที่พุทธศาสนิกชนมักเรียกกันว่า 'วัดพระเขี้ยวแก้ว'  และปี่กลองนี้เป็นสัญญาณว่าอีกไม่กี่นาน จะเปิดให้ผู้คนเข้าไปสักการะได้ในรอบค่ำ ซึ่งเป็นรอบสุดท้ายของวัน



ชาวศรีลังกา ถือเหมือนหนึ่งว่าพระพุทธเจ้ายังคงมีพระชนน์ จึงถวายภัตตาหาร และน้ำปานะต่อหน้าพระเขี้ยวแก้ว พร้อมกับประโคมดนตรี เพื่อฉลองศรัทธาของผู้ถวายและกราบไหว้



คณะสงฆ์ไทย นำโดยสมเด็จพระธีรญาณมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส พร้อมพระอาจารย์ และพระนวกะ หรือพระบวชใหม่ในโครงการสยามวงศ์ 1 อีก 47 รูป เตรียมเข้าไปกราบพระเขี้ยวแก้วของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยระหว่างรอเวลา ได้ทำวัตรเย็นในห้องโถงที่ประดิษฐานพระพุทธรูป



ชาวศรีลังกา ถือกำหนดเคร่งครัดห้ามนำสิ่งของอื่นใด เข้าไปภายในห้องที่บรรจุพระธาตุพระเขี้ยวแก้ว พระสงฆ์ต้องวางย่าม สัมภาระทั้งหมดด้านนอก ฆราวาสก็เช่นกัน และต้องสวมชุดขาวล้วนเท่านั้น จึงจะเข้าไปกราบสักการะได้



และนี่คือภาพที่บันทึกได้จากบ้านนอก ที่มองเข้าไปยังห้องบรรจุพระเขี้ยวแก้ว โดยบริเวณนี้อยู่นอกพื้นที่หวงห้ามของการบันทึกภาพ และอยู่ในระยะไกลที่ไม่รบกวนผู้สักการะ



พระเขี้ยวแก้ว เป็นพระทันตะธาตุส่วนเขี้ยวด้านล่างขวาของพุทธองค์ เดิมอยู่ในแคว้นกาลิงคะของอินเดีย ครั้นเมื่อมีศึกสงคราม และข้าศึกประชิดเมือง เจ้าหญิงเหมมาลากับเจ้าชายทันตกุมาร ปลอมพระองค์เป็นพราหมณ์ แล้วซ่อนพระเขี้ยวแก้วหรือพระทันตธาตุส่วนเขี้ยวของพระพุทธเจ้า แล้วหนีมายังเกาะลังกา หรือศรีลังกาในปัจจุบัน และจากวันนั้นมา 1,700 ปี พระเขี้ยวแก้ว ยังคงอยู่ที่ศรีลังกา โดยไม่เคยถูกนำออกนอกประเทศเลยสักครั้ง



พระเขี้ยวแก้ว ตั้งอยู่ที่เมืองกัณฑีเมืองที่รายล้อมด้วยภูเขา ก่อนที่ชื่อเมืองจะถูกเรียกเปลี่ยนไปเรื่อยมาเป็น แคนดี้ และวัดพระเขี้ยวแก้ว อยู่ในความดูแลของพระมหาสังฆนายก สยามวงศ์ ซึ่งมีอยู่สองฝ่าย คือ ฝ่ายมัลลวัตตะ หรือ คามวาสี ที่คนไทยเรียกว่าพระบ้าน และอัสคิริยะ หรือ อรัญวาสี ที่คนไทยเรียกพระป่าหรือวัดป่า และแต่ละปีจะสลับกันปกครองรักษาพระเขี้ยวแก้ว



เมื่อพูดถึงศาสนาพุทธเถระวาท นิกายสยามวงศ์ ชาวพุทธทั้งในประเทศไทยและศรีลังกา จะรำลึกถึงความหาญกล้าของพระอุบาลีเถระและคณะพระธรรมฑูต บนแผ่นดินลังกาแห่งนี้



เนื่องจากพุทธศาสนาในศรีลังกาถูกคุกคามทั้งปัญหาภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศล่าอาณานิคม ทำให้ในศรีลังกาไม่มีพระภิกษุและพระอุปัชฌาย์แม้แต่รูปเดียว สามเณรชาวศรีลังกา วัย 50 ปี ชื่อสรณังกร จึงทูลขอให้กษัตริย์ลังกา ส่งสารไปขอพระสงฆ์จากกรุงศรีอยุธยา มาฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในลังกา ซึ่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ส่งพระอุบาลี พร้อมพระธรรมฑูตมาที่ลังกาท่ามกลางอุปสรรคในการเดินทาง แต่ก็มาถึงและเผยแผ่พระพุทธศาสนาและอุปสมบทให้พระชาวลังกาไปมาก จนวิถีปฎิบัติและหลักคำสอนที่ถ่ายทอดกันถึงปัจจุบันในลังกา หรือศรีลังกา เรียกกันว่านิกายสยามวงศ์



พระอุบาลีเถระ และพระธรรมฑูตจากกรุงศรีอยุธยา ปฎิบัติศาสนกิจบนแผ่นดินลังกาอยู่หลายปี และพระอุบาลีได้มรณภาพที่นี่ โดยร่างของท่าน จัดพิธีประชุมเพลิงที่วัดเกติเกมหาวิหาร สถานที่ประชุมเพลิงยังมีสัญลักษณ์ไว้จารึกความหาญกล้าของท่าน



การตามรอยพระอุบาลีเถระ และการจาริกศึกษาพุทธศาสนสถานหลายแห่งในศรีลังกา นับถือเป็นโอกาสสำคัญของพระภิกษุไทย ที่ทั้งคณะพระอุปัชฌาย์ และพระภิกษุทั้งหมดที่มาบรรพชาอุปสมบทในศรีลังกาได้ศึกษา และเป็นส่วนหนึ่งของการสืบทอดต่อยอดพระศาสนา ตามความตั้งใจของสมเด็จพระธีรญาณมุนี กรรมการมหาเถระสมาคม และเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส โดยพระนวกะทั้ง 47 รูป จะกลับถึงประเทศไทยในวันพรุ่งนี้

คุณอาจสนใจ

Related News