สังคม

เจ้ากรมแผนที่ทหาร เตรียมลงพื้นที่ สอบปมพิพาท ออกโฉนด 4-01 รุกอุทยานเขาใหญ่ พรุ่งนี้

โดย nut_p

17 ก.พ. 2567

162 views

วันพรุ่งนี้เจ้ากรมแผนที่ทหาร กระทรวงกลาโหม ร่วมกับคณะทำงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะ ส.ป.ก. จะไปตรวจสอบพื้นที่พิพาทระหว่างที่ดินในการดูแลของ ส.ป.ก.นครราชสีมา กับที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ หลังจากกรมอุทยานฯ ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.นครราชสีมา ออกโฉนด 4-01 รุกเข้าไปในเขตอุทยานเขาใหญ่ ซึ่งคาดว่าจะได้ความชัดเจนมากขึ้นว่า แปลงที่ดินที่ออก สปก.นั้น รุกเข้าไปในเขตอุทยานฯ หรือไม่



อย่างไรก็ตาม ข่าว 3 มิติ ยังได้ข้อมูลมาเป็นระยะ โดยเฉพาะกรณีผู้มีชื่อได้โฉนดทั้ง 5 คน บนที่ดินในบ้านเหวปลากั้งนั้น ผู้ใหญ่บ้านเหวปลากั้งบอกว่า ไม่ใช่คนในปกครองของตัวเองแน่นอน



เอกสารนี้ คือรายชื่อผู้ได้รับโฉนด สปก.4-01 ในบ้านเหวปลากั้ง ม.10 ต.หมูสี อ.ปากช่อง ซึ่งกำลังเป็นข้อพิพาทกับกรมอุทยานฯว่าที่ดินตั้งอยู่ในเขตอุทยานฯเขาใหญ่หรือไม่ โดยพบว่าผู้ได้สิทธ์ตามบัญชีนี้ลำดับที่ 1 หญิงวัย 25 ปี ชาวตำบลหมวกเหล็ก ได้แปลงที่ 13 20 ไร่ ลำดับที่ 2 หญิงวัย 57 ปี ต.หนองสาหร่าย ปากช่อง แปลงที 14 เนื้อที่ 11 ไร่ ลำดับที่ 3ชายวัย 47 ปี ตำบลกลางดง แปลงที่18 เนื้อที่ 15 ไร่ ลำดับที่ 4 ชายวัย 47 ปี ชาวต.จันทึก แปลงที่ 24 เนื้อที่ 10 ไร่ และลำดับที่ 5 ชายวัย 46 แปลงที่ 17 เนื้อที่ 15 ไร่



ที่จริงการที่ผู้ได้รับสิทธิ์สปก. เป็นบุคคลนอกหมู่บ้านที่แปลงที่ดินที่ตั้งอยู่นั้น ไม่ถือว่าผิดระเบียบ แต่ผู้ใหญ่บ้านเหวปลากั้ง ซึ่งเป็นท้องที่ของที่ดินแปลงพิพาท ตั้งข้อสังเกตว่า หากจะจัดสรรเป็น สปก. เหตุใดคนในหมู่บ้านที่ขาดที่ทำกิน ไม่ได้รับสิทธิ์ก่อน และนอกจากนี้ เขาก็ระบุว่า ไม่เคยเห็นว่าแปลงที่ดินเหล่านี้ถูกทำประโยชน์เกษตรกรรมใด ๆ มาก่อน แต่ยังอยู่ในแนวถนนที่กั้นเขตอุทยานเขาใหญ่ด้วยซ้ำ



นอกจากคำยืนยันจากผู้ใหญ่บ้านเหวปลากั้งแล้ว ภาพแผนที่นี้ เห็นกรอบสีแดง ที่เป็นแปลงโฉนด สปก.ที่ออกใหม่ 5 แปลง อยู่ใต้แนวเขตเส้นสีฟ้า ที่เป็นเขตอุทยานเขาใหญ่



เมื่อดูแผนที่ แผ่นที่ 2 ยิ่งเห็นขอบเขตแนวป่าชัดเจนระหว่างพื้นที่เหนือเส้นสีฟ้า ที่ทำเกษตรกรรม รีสอร์ต ที่พัก บ้านพัก กับใต้แนวเส้นสีฟ้า ที่เป็นแนวป่า ทั้ง 4 แปลง



และแผนที่ แผ่นที่ 3 แยกมาเฉพาะแปลงที่ 24 เนื้อที่ 10 ไร่ 3 งาน 56 ตารางวา ก็ยิ่งอยู่ลึกไกลจากเส้นสีฟ้าที่เป็นแนวเขตอุทยานชัดเจน ข้อมูลเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ผู้อำนวยการสำนักอุทยาน ชี้แจงว่า จำเป็นต้องถอนหมุด สปก.ออกไป เพราะมั่นใจว่าอยู่ในเขตป่าอุทยานฯ



ข่าว 3 มิติ พบข้อมูลว่านอกจาก 5 แปลงดังกล่าว ที่ออก สปก.4-01 และมีชื่อผู้ครอบครองชัดเจนแล้วนั้น ก็ยังมีแปลงอื่นที่พิพาทกันอยู่



เช่นภาพนี้จะพื้นที่จริง สีชมพู คือแปลงปลูกป่า ของกรมป่าไม้ เส้นประสีเหลือง คือพื้นที่เตรียมผนวกอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเส้นสีฟ้า คือแนวเขตอุทยาน ขณะที่เส้นสีดำ คือแปลง ส.ป.ก.4-01 ที่อุทยานฯ ระบุว่า ออกในพื้นที่อุทยาน จากภาพนี้จะเห็นว่ามีเส้นกรอบสีดำมากกว่า 30 แปลง ที่ทับซ้อนระหว่างแปลงเตรียมผนวกเป็นอุทยาน และทับกับแปลงปลูกป่า และอยู่ใต้แนวเส้นสีฟ้าที่เป็นเขตอุทยานฯ



และกรณีพบหมุด ส.ป.ก.4 หมุด ปักอยู่ในพื้นที่สงสัยเป็นเขตรับผิดชอบของกรมป่าไม้นั้น เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงาน ไปตรวจสอบร่วมกัน ก็พบว่าทั้ง 4 หมุดนั้น อยู่ในแปลงปลูกป่าหน่วยจัดการต้นน้ำลำตะคอง แปลงปี 2531 ในความรับผิดชอบของ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 นครราชสีมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ลงบันทึกหลักฐานตรวจสอบไว้แล้ว



และวันนี้ข่าว 3 มิติ ก็พบเอกสารการแต่งตั้งกรรมการรับมอบพื้นที่สวนป่าของหน่วยจัดการต้นน้ำลำตะคอง ชึ่งขีดเส้นใต้ว่า อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ รับไปดูแลรักษา



อย่างไรก็ตาม ข่าว 3 มิติยืนยันว่าเอกสารเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่กรมอุทยานฯ ยึดถือปฎิบัติ แต่ข้อมูลจะตรงกันกับแผนที่ ที่ ส.ป.ก. ยึดถือปฎิบัติ การตรวจสอบของหลายหน่วยงานวันพรุ่งนี้อาจกระจ่างขึ้น เพราะอาจเป็นไปได้ว่า แปลงที่ดินเหล่านี้ ส.ป.ก.อาจเคยได้รับจากกรมที่ดิน ผ่านคณะกรรมการจำแนกที่ดิน ซึ่งมีมติครม.เมื่อปี 2530 และคณะกรรมการปฎิรูปที่ดินก็มีมติรับเมื่อปี 2531 ไปแล้ว พร้อมกับประกาศเขตสปก. ในท้องที่ดังกล่าวไปแล้ว ตามที่ ส.ป.ก.เคยชี้แจง อุทยานเขาใหญ่



แต่ถึงอย่างนั้น ข่าว 3 มิติ สืบค้นพบเอกสารชุด เป็นบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมป่าไม้ ที่ยังไม่แยกกรมอุทยานฯ ออกมาในขณะนั้น กับ ส.ป.ก.เรื่องแนวทางกันพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ คืนกรมป่าไม้ ซึ่งมีบันทึกตกลงเมื่อ 14 กันยายน 2538  เนื้อหาหลัก 4 ข้อ โดยข้อที่ 1 กล่าวถึงพื้นที่ ที่ไม่สมควรนำไปปฏิรูปที่ดิน และต้องกันออก มี 7 ประเภท คือพื้นที่เป็นป่า พื้นที่ทำเกษตรไม่คุ้มค่า พื้นที่ล่อแหลมต่อการคุกคามระบบนิเวศ และควรอนุรักษ์ไว้ใช้ร่วมกัน พื้นที่เขาสูงชั้นเฉลี่ย 35 เปอร์เซ็นขึ้นไป และพื้นที่ต้นน้ำลำธาร พื้นที่กรมป่าไม้มีภาระผูกพันตามกฎหมาย เช่น ส่วนป่าราชการ พื้นที่ป่าชายเลน และพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่ยังไม่มีราษฎรทำกิน



บันทึกตกลงดังกล่าว ถูกใช้เป็นแนวทางการตรวสอบกันพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ออกจากเขตที่ทำการปฎิรูปที่ดิน ลงนามโดยเลขาธิการ ส.ป.ก. และอธิบดีกรมป่าไม้ ตั้งแต่ 14 กันยายน 2538 เป็นต้นมา

คุณอาจสนใจ

Related News