สังคม

งานวันนักประดิษฐ์ 67 เปิดนวัตกรรมกว่าพันชิ้น หวังเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ ต่อยอดสู่อนาคต

โดย panwilai_c

3 ก.พ. 2567

106 views

ทุกๆ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี จะเป็นวันนักประดิษฐ์ไทย ซึ่งปีนี้สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจะใช้เวทีนี้เป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานประจำปี ถึงความก้าวหน้าในงานวิจัยและนวัตกรรมของคนไทยจากทุกภาคส่วนตั้งแต่ระดับภาคการศึกษา ภาครัฐ และเอกชน ในช่วงตลอดปีที่ผ่านมา ซึ่งปีนี้ยังคงได้รับการตอบรับอย่างดีจากกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และแวดวงวิชาการที่มาดูผลงานสู่การต่อยอดด้านงานวิจัยของพวกเขาในอนาคต



งานวันนักประดิษฐ์ไทย หรือ THAILAND INVENTOR’S DAY 2567 จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 25 ภายใต้แนวคิดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนำประเทศ โดยมีผลงานกว่า 1,000 ชิ้น ของนักประดิษฐ์ไทยจากสถาบันการศึกษาทั้งระดับมัธยมและอุดมศึกษา รวมถึงภาคเอกชนเข้าร่วมจัดแสดงต่อสาธารณชนอย่างเป็นทางการ



งานวิจัยหลายชิ้นได้รับการต่อยอดจากผลงานเดิมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เช่น งานวิจัยการตรวจเศษซากเชื้อโควิด 19 ในน้ำเสีย เพื่อเตือนภัยล่วงหน้าการระบาดในชุมชน ของมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่พัฒนาการตรวจหาเชื้อโควิด 19 จากเดิมที่ต้องใช้ทีมงานหลายคนเข้าเก็บตัวอย่างน้ำเสียในพื้นที่ ก่อนส่งเข้าห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาอีกอย่างน้อย 2 วัน กว่าจะทราบผล แต่ตอนนี้พวกเขาสามารถสร้างชุดตรวจหาเชื้อในน้ำเสียจาก ATK ที่มีความแม่นยำกว่า 95% ได้แล้ว โดยทราบผลได้ในระยะเวลาเพียง 10 นาที



ประหยัดทั้งเวลา ค่าใช้จ่าย และบุคลากรไปได้มากถึงกว่า 95% ราคาชุดละประมาณ 500-600 บาท จากเดิม 6,000 บาท ซึ่งยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ร่วมด้วย



อากาศยานไร้คนขับหรือโดรน ก็เป็นอีก 1 นวัตกรรมที่ได้รับการพัฒนาในทุกๆ ปี โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ได้พัฒนาบุคลากร ในระดับเยาวชน เพื่อเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงระหว่างการแข่งขันการประกอบและเขียนโปรแกรมควบคุม ซึ่งเป็นชุดคำสั่งที่นำมาใช้กับปฏิบัติการจริง



โดยสมาคมสามารถสร้างโดรนระยะไกล ที่สามารถควบคุมได้ผ่านอินเตอร์เน็ต ที่ไม่ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหน ก็ใช้งานได้ เหมาะกับทุกภารกิจที่เสี่ยงภัยและเข้าถึงพื้นที่ได้ยาก



ส่วนผลงานระดับเยาวชน อย่างถุงมือสานฝันปันสุขเพื่อเด็กพิการทางสมอง ของทีมนักเรียนจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เป็นหนึ่งในผลงานที่น่าสนใจ เพราะน้องๆ กลุ่มนี้เริ่มพัฒนาโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งตอนนั้นพวกเขาอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เท่านั้น ผ่านมา 7 ปี ตอนนี้อยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 แล้ว และบางคนก็เติบโตไปศึกษาต่อยังสถาบันอื่น แต่ก็ยังคงร่วมกันพัฒนาผลงานนี้ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และพัฒนาของเล่น รวมถึงองค์กรที่ดูแลเด็กพิการทางสมอง จนกลายเป็นของเล่นเพื่อการแจ้งเตือนและป้องกันการบาดเจ็บในเด็กกลุ่มนี้



ล่าสุดพวกเขาได้ระดมทุนเพื่อผลิตถึงมือดังกล่าวได้ทั้งหมด 2000 ชุด และแจกจ่ายให้กับกลุ่มเป้าหมายโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น



สำนักงานการวิจัยแห่ชาติ ผู้จัดเวทีนี้ จึงวางเป้าหมายให้วันนักประดิษฐ์ในทุกๆ ปี ได้นำเสนอผลงานด้านสิ่งประดิษฐ์ เพื่อเกิดการแลกเปลี่ยนความร่วมมือ เรียนรู้ด้านประสบการณ์ให้กับเยาวชน และ กลุ่มนักประดิษฐ์ สู่การพัฒนาต่อยอดและปรับใช้จริงได้ในอนาคต



งานวันนักประดิษฐ์ปีครั้งที่ 25 ยังมีผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมอีกหลายชิ้นที่น่าสนใจ ครอบคลุมในทุกดด้านทั้งเกษตรกรรม วิศวกรรม เคมีและชีวภาพ ด้วยไปถึงด้านการแพทย์และสุขภาพ งานจะจัดต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้ ตั้งแต่ 9โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา ธีรุตม์ นิมโรธรรม ข่าว 3 มิติ รายงาน

คุณอาจสนใจ