สังคม

DSI มีมติกล่าวหา อดีตรมต.-อดีตผู้บริหารระดับสูง ก.แรงงาน พัวพันค้ามนุษย์ฟินแลนด์

โดย chiwatthanai_t

10 ม.ค. 2567

4.5K views

เริ่มที่ข่าวร้อนเกี่ยวกับแรงงานและการค้ามนุษย์ ที่เป็นคดีพิเศษดำเนินการโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งมีข่าวล่าสุด ว่าพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด มีมติร่วมกันให้กล่าวหาอดีตรัฐมนตรี 2 คน และอดีตผู้บริหาร ระดับสูงของกระทรวงแรงงาน 2 คน รวมเป็น 4 คน ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีพบหลักฐานเกี่ยวข้องขบวนการส่งแรงงาน ไทยเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในสาธารณรัฐฟินแลนด์ เสียหาย 36 ล้านบาท

กรมสอบสวนคดีเผยแพร่ข่าว ระบุว่า คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ นำโดยกองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะพนักงานอัยการที่อัยการสูงสุดมอบหมายให้ร่วมสอบสวน มีมติร่วมกันให้กล่าวหากับอดีตข้าราชการฝ่ายการเมืองระดับรัฐมนตรี 2 คน และผู้บริหารระดับสูง กระทรวงแรงงาน อีก 2 คน รวมทั้งหมด 4 คน ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 โดยจะเร่งสรุปสำนวนการสอบสวน ส่งสำนักงาน ป.ป.ช. ต่อไป


​กรณีนี้ เป็นคดีพิเศษที่ 81/2566 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับหนังสือจากกระทรวงการต่างประเทศ เรื่องแรงงานไทยเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในสาธารณรัฐฟินแลนด์ โดยกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮลซิงกิ ได้ช่วยเหลือแรงงานไทยในสาธารณรัฐฟินแลนด์ ที่ไปทำงานเก็บผลไม้ป่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ในขั้นตอนการเดินทางไปฟินแลนด์


ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษพบว่า เป็นคดีความผิดที่ส่วนหนึ่งเกิดนอกราชอาณาจักร จึงเสนอสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการสูงสุดตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 และอัยการสูงสุด มอบหมายให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษสอบสวนต่อไป โดยมอบหมายพนักงานอัยการมาร่วมสอบสวนด้วย พร้อมกับขอความร่วมมือระหว่างประเทศ ในเรื่องทางอาญา เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานจากสาธารณรัฐฟินแลนด์ในความผิดฐานค้ามนุษย์ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม


ต่อมาทางการสาธารณรัฐฟินแลนด์ ส่งพยานหลักฐานสำคัญตามที่ทางการไทย ร้องขอให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยทั้งจากการสอบสวน และพยานหลักฐานที่ได้ จากความ ร่วมมือระหว่างประเทศ กับตำรวจสาธารณรัฐฟินแลนด์ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีขบวนการสมคบระหว่างนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ และบุคคลธรรมดา ร่วมกันเรียกรับ ผลประโยชน์ จากบริษัทผู้ประสานงานฝั่งไทย ที่ทำหน้าที่ประสานงานกับบริษัท ที่จะนำเข้าแรงงานของสาธารณรัฐฟินแลนด์ เป็นค่า "หัวคิว" (DOE MAMAGEMENT) หรือค่าดำเนินการเฉลี่ยรายละ 3,000 บาท โดยไม่มีสิทธิเรียกเก็บตามกฎหมาย ซึ่งบริษัทประสานงานฝั่งไทย ได้นำมาเรียกเก็บจากคนงาน ที่ไปทำงานอีกชั้นหนึ่ง นอกเหนือ จากค่าใช้จ่ายตามจริง โดยในปี พ.ศ. 2563 - พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นช่วงดำเนินคดี มีผู้อยู่ในข่ายต้องเสียค่าใช้จ่ายดังกล่าว รวมประมาณ 12,000 คน คิดเป็นเงินรวมประมาณ 36 ล้านบาท


คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและพนักงานอัยการ ได้มีมติกล่าวหาบุคคลดังกล่าว รวม 4 คน และจะนำส่งสำนวนคดีพิเศษดังกล่าว ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

คุณอาจสนใจ

Related News