สังคม

เหตุเกิดจากพรหมลิขิต ตอน 'กฎหมายปลาตะเพียน'

โดย chiwatthanai_t

15 พ.ย. 2566

379 views

อาหารคาวหวานที่ปรากฎอยู่ในละครพรหมลิขิต ช่วงหลายวันมานี้กำลังได้รับความนิยม จนสร้างยอดขายให้กับหลายร้านที่เมนูต่างๆ เหล่านั้น เช่นตัวอย่างของเมนูปลาตะเพียนทอด ที่หลายร้านในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้นำมาเป็นเมนูแนะนำ จนกลายเป็นเมนูหลักของทางร้าน ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าในอดีตปลาตะเพียนที่มีทั่วไปตามแหล่งน้ำ จะเคยมีกฎหมายห้ามจับปลาตะเพียนออกมา ในช่วงรัชสมัยของสมเด็จพระสรรเพชย์ที่ 9 หรือ พระเจ้าท้ายสระ โดยกฎหมายนี้มีบันทึกอยู่จริงในพงศาวดาร จนปรากฎออกมาผ่านบทละครพรหมลิขิต


เมนูปลาตะเพียนขาวทอดกลายเป็นเมนูจานเด่นของร้านวิววัด ที่ไม่ว่าใครมีโอกาสผ่านมาแถววัดราชบูรณะ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็เป็นต้องแวะมาสั่งเมนูนี้แทบทั้งนั้น


เจ้าของร้านเล่าว่า เมนูนี้กลายมาเป็นเมนูยอดนิยมใหม่ของทางร้าน เพราะแม่พุตตาลที่ทำเมนูปลาตะเพียนทอดให้ หมื่นริดและสหายได้รับประทานเป็นประจำแทบทุกครั้งที่มาเยี่ยมเยียนบ้าน จึงเกิดเป็นไอเดียใหม่ในการนำเสนอเมนูอาหารที่สร้างยอดขายได้จากการตามรอยละคร


จุดเด่นของเมนูปลาตะเพียนทอดของร้านวิววัดแห่งนี้ คือ ปลาตะเพียนขาวตัวใหญ่เนื้อแน่น ผ่านขั้นตอนการทำตามสูตรโบราณ ด้วยการทอดอย่างปราณีต บั้งให้ถี่ ทำให้ก้างที่ว่าเยอะของปลาตะเพียนนั้นกรอบจนสามารถรับประทานได้ทั้งตัว
ซึ่งเจ้าของร้านก็แอบกระซิบว่าจริงๆแล้ว สูตรนี้เป็นกรรมวิธีที่ส่งต่อกันมาช้านาน เพราะเมนูปลาเป็นอาหารจานหลักของคนพระนครศรีอยุธยามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เหตุการณ์นี้ในละครพรหมลิขิต มีเค้าโครงมาจากเหตุการณ์จริงที่ถูกชำระไว้ในพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยา



โดย นายปัทพงษ์ ชื่นบุญ นักวิชาการศึกษา สถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ระบุว่า พระราชกำหนดนี้ได้รับการบอกเล่าผ่านบันทึกจากที่มา 2 แหล่ง คือ พงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม และพงศาวดารคำให้การขุนหลวงหาวัด มีข้อความโดยสรุปว่า


เมื่อสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งในขณะนั้นคือพระสรรเพ็ชย์ที่9 หรือ พระเจ้าท้ายสระ ทรงโปรดเสวยปลาตะเพียน จึงมีพระราชกำหนดห้ามให้ผู้ใดก็ตามรับประทานปลาตะเพียน หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับสูงถึง 5 ตำลึง ซึ่งถือว่าสูงมาก


นักวิชาการ จึงแสดงความเห็นไว้ว่า หากพิจารณาตามความเป็นจริงแล้วปลาตะเพียนขาวเป็นปลาท้องถิ่นของประเทศไทยที่พบการแพร่พันธุ์อยู่ทั่วไปตามธรรมชาติ จึงเป็นไปได้ว่ากฎหมายนี้ออกเพื่อเป็นการอนุรักษ์ และ อาจมีกำหนดอยู่ช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งก็เป็นได้


อย่างไรก็ตามพงศาวดารต่างๆ เป็นคำบอกเล่าเรื่องราวของชาติและพระมหากษัตริย์ ซึ่งถูกบันทึกภายหลังเหตุการณ์นั้นๆ ทำให้เกิดการตีความที่หลากหลาย จากหลายมุมมอง จึงยังไม่มีข้อเท็จจริงพิสูจน์ชัดได้ บริบทจึงแปรเปลี่ยนไปได้ตามแต่ละยุคสมัย

คุณอาจสนใจ

Related News