สังคม

เริ่มแล้วพรุ่งนี้! ประกาศฉบับใหม่ 'ผู้ก่อมลพิษ เป็นผู้จ่าย' แก้การลอบทิ้งกากเคมีตั้งแต่ต้นทาง

โดย panwilai_c

31 ต.ค. 2566

218 views

หลังจากเมื่อวานนี้ มีภาคประชาชนบางส่วน จับตาการประชุมคณะรัฐมนตรีที่อาจมีวาระโยกย้ายอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ถูกนำเสนต่อ ครม. วันนี้ โดยผู้ได้รับผลกระทบจากขยะเคมีที่จังหวัดราชบุรี เคยเรียกร้องไม่ให้ย้ายเพราะยังอยู่ระหว่างแก้ปัญหาที่คืบหน้าไปมาก กระทั่งตอนนี้ยืนแล้วว่า ไม่มีการโยกย้ายตำแหน่งอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และการโยกย้ายในตำแหน่งระนาบเดียวกัน ได้ผ่านพ้นไปก่อนหน้านี้แล้ว เท่ากับไม่มีการโยกย้ายในตำแหน่งนี้แล้วค่ะ



ขณะเดียวกัน พรุ่งนี้ เป็นวันแรกที่ประกาศ ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่องการจัดการสิ่งปฎิกูลที่ไม่ใช้แล้ว ภายใต้แนวคิด "ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย" จะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบ ประกาศฉบับนี้กระทรวงอุตสาหกรรม ต้องการแก้ปัญหาการลักลอบทิ้งขยะเคมีอุตสาหกรรมที่สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านและสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมา ความรับผิดชอบของบริษัทต้นกำเนิด สิ้นสุดลง เมื่อส่งให้บริษัทผู้รับกำจัดกากนำออกจากโรงงาน แต่จากนี้ไปถ้าพบว่ากากขยะอุตสาหกรรมถูกทิ้ง และสืบทราบว่าเป็นของบริษัทใด บริษัทที่เป็นต้นกำเนิดกากนั้น ต้องรับผิดชอบด้วย



โกดังร้างที่ถูกเช่าไว้เก็บกากอุตสาหกรรมที่ถูกจัดเป็นวัตถุอันตราย มากกว่า 4 พันตัน ที่อำเภอภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ไม่เพียงยังไม่ย้ายไปกำจัดอย่างถูกต้อง แต่เจ้าของขยะเคมีเหล่านี้ที่เป็นตัวจริง ยังไม่ถูกดำเนินคดีด้วยซ้ำ



เพราะแม้ในทางสืบสวน จะมีทั้งพยาน หลักฐานบ่งชี้ว่าเป็นของบริษัทใด แต่การนำนิติกรรมอำพรางของผู้เช่า ทำให้เจ้าของโกดังร้างจะต้องเป็นคนแรกที่ถูกดำเนินคดีฐานครอบครองวัตถุอันตราย โดยที่เห็นชัดเจนว่าเจ้าของโกดัง ก็เป็นเหยื่อที่ถูกเจ้าของขยะเคมีหลอกเช่า รวมถึงชุมชนรอบๆโกดังและสิ่งแวดล้อมก็ตกเป็นเหยื่อที่ต้องรับผิดชอบกระทบจากขยะเคมีเหล่านีด้วย ส่วนเจ้าของขยะตัวจริง แทบจะลอยนวล



กรณีโกดังของบริษัทซันเทค เคมีคอล แอนด์โลจิสติก อำเภออุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ก็เช่นกัน มีการสร้างบนที่ดินเช่า เพื่อลักลอบเก็บกากเคมีอุตสาหกรรมที่เป็นวัตถุอันตราย ที่นี่มีหลักฐานหลายอย่าง รวมถึงสลากบนถังสารเคมี บ่งชี้ว่าต้นทางของถังสารเคมีเป็นของบริษัทใด แต่กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจที่จะตามไปเอาผิดบริษัทเหล่านั้นได้ เพราะบริษัทต้นกำเนิดกาก ได้ว่าจ้างบริษัทผู้รับกำจัดกากให้นำไปกำจัดแล้ว แต่บริษัทผู้รับกำจัดกาก กลับนำไปทิ้ง หรือซุกซ่อน โดยไม่กำจัด จนเกิดปัญหาต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมตามมา



ปัญหาเหล่านี้เป็นต้นทางหนึ่ง ที่ทำให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ผลักดันประกาศของกระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดให้บริษัทผู้ก่อกำเนิดกากมีส่วนรับผิดชอบกากขยะเคมีของตัวเอง จนกว่ากากาขยะเคมีนั้น จะถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง



กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกประกาศเรื่อง "การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566" ที่นำหลักการ ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายหรือเป็นผู้รับผิด มาใช้เต็มรูปแบบ โดยจะมีผลบังคับใช้ 1 พฤศจิกายน 2566 หรือพรุ่งนี้



หลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายหรือเป็นผู้รับผิดชอบ (Polluter Pays Principle: หรือ PPP กำหนดความรับผิดตั้งแต่ต้นทางโรงงานผู้ก่อกำเนิด ไปจนกว่าสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วจะได้รับการจัดการจนแล้วเสร็จ



ต่างจากเดิมที่ความรับผิดชอบจะสิ้นสุดเมื่อโรงงานผู้รับกำจัดได้รับมอบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว มาตรการนี้ยังจะกดดันให้บริษัท ที่เป็นผู้ก่อกำเนิดกาก คัดเลือกบริษัทผู้รับกำจัดกากที่มีศัภยภาพ และรับผิดชอบ มากกว่าจะเลือกบริษัทที่เสนอราคาถูก แล้วนำกากขยะนั้นไปทิ้งให้เป็นปัญหาสังคมโดยไม่นำไปกำจัดจริง



จากนี้ โรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสีย Waste Generator: WG) จำนวน 60,638 โรงงานทั่วประเทศ ต้องรายงานประจำปีเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ทั้งที่เป็นของเสียอันตรายและไม่อันตราย เช่นเดียวกับโรงงานผู้รับบำบัดกำจัดของเสีย หรือ Waste Processor: WP) ที่ได้รับอนุญาตลำดับที่ 101, 105 และ 106 จำนวน 2,500 โรงงานทั่วประเทศ ก็ต้องส่งรายงานประจำเดือนว่าได้จัดการวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์อะไรไปบ้าง ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป



หัวใจของมาตรการนี้คือข้อมูลของต้นกำเนิดกาก จะถูกนำมาใช้เทียบเคียงกับข้อมูลผุ้รับกำจัดกาก และหากพบว่ากากของเสียเคมีถูกลักลอบทิ้งที่ใด โรงงานที่เป็นเจ้าของกากของเสียเคมีนั้น ก็ต้องรับผิดชอบด้วย



อันที่จริงปัญหาการลักลอบทิ้งขยะเคมีที่เป็นปัญหาให้ชุมชนและสิ่งแวดล้อมขณะนี้มีมากและซับซ้อนเกินกว่าจะแก้ไขได้ด้วยกฎหมายฉบับเดียว



แต่ก็เป็หนึ่งในความพยายามที่จะนำเอาผู้ประกอบการที่ได้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมนั้นๆ ให้ต้องรับผิดชอบหากอุตสาหกรรมนั้นก่อปัญหาให้สังคมและสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิด ผู้ก่อกำเนิดมลพิษ คือผู้จ่ายหรือรับผิดชอบ

คุณอาจสนใจ

Related News