สังคม

เปิดโปงส่วยอีกรูปแบบ 'ค้าสำนวน' จับรถบรรทุกไม่ติดสติกเกอร์ รีดเงินแลกไม่ดำเนินคดี

โดย panwilai_c

8 มิ.ย. 2566

104 views

ส่วยทางหลวง หรือส่วยสติกเกอร์รถบรรทุกน้ำหนักเกิน ที่กำลังถูกเปิดโปง และมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องหลายคน โดยเรียกรับส่วยตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง แต่ขบวนการนี้ ไม่ได้มีแค่เพียงการจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่ แล้วใช้สติกเกอร์เป็นบัตรผ่านทางวิ่งบนถนนหลวงโดยไม่ถูกจับ



ข่าว 3 มิติ พบข้อมูลว่ายังมีการจ่ายส่วยอีกรูปแบบหนึ่ง ที่เรียกกันว่า "การค้าสำนวน" คือเมื่อรถบรรทุกถูกจับแล้ว เจ้าหน้าที่จะเจรจาเรียกรับเงินเพื่อแลกกับการแก้ไขข้อมูลในสำนวน เช่นทำให้น้ำหนักของที่บรรทุกมาลดลง หรือทำสัญญาเช่ารถขึ้นมาใหม่เพื่อช่วยไม่ให้รถบรรทุกคันนั้นถูกยึด



เจ้าของรถบรรทุกรายนี้ยอมให้ข้อมูลกับข่าว 3 มิติ โดยไม่เปิดเผยตัวตน เขาระบุว่าการจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ได้มีเพียงสติกเกอร์ติดหน้ารถบรรทุก ที่ต้องจ่ายเงินซื้อแบบรายเดือนเท่านั้น แต่มีส่วยอีกรูปแบบหนึ่ง ที่จ่ายกันหน้างานเมื่อรถบรรทุกถูกจับ เพราะวิ่งนอกเส้นทางหรือใส่สินค้ามากเกินกว่าที่ตกลงกันไว้



ส่วยรูปแบบนี้คือการแก้ไขสำนวนคดี หรือที่เรียกว่า "การค้าสำนวน" เมื่อรถบรรทุกที่ไม่มีสติกเกอร์ถูกเรียกตรวจและพบว่าน้ำหนักเกิน เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจะเรียกรับเงิน 3 หมื่น ถึง 4 หมื่นบาท แลกกับการปล่อยรถและไม่ดำเนินคดี ในวงการรถบรรทุกเรียกพฤติกรรมนี้ว่า "การตีไก่"



หากเจ้าของรถไม่ยอมจ่าย หรือตกลงราคากันไม่ได้จะถูกส่งให้ตำรวจเจ้าของพื้นที่ ในขั้นตอนนี้ตำรวจจะเรียกเก็บเงิน 3 หมื่น ถึง 8 หมื่นบาท แลกกับแก้สำนวนคดีให้น้ำหนักสินค้าที่บรรทุกลดลง ให้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียงเล็กน้อย เพื่อให้อยู่ในการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ เช่น ตอนถูกจับบรรทุกมา 80 ตัน ในสำนวนคดีระบุเพียง 50.7 ตัน เกินมาเพียง 1-2 ร้อยกิโลกรัมเท่านั้น



แต่หากจ่ายส่วยที่ราคา 5 หมื่น ถึง 1 แสนบาท เจ้าหน้าที่จะทำสัญญาเช่ารถขึ้นมา 1 ฉบับ เพื่ออ้างว่าเป็นรถบรรทุกที่เช่ามา หรือติดสัญญาเช่าซื้ออยู่ เพียงเท่านี้รถบรรทุกก็ไม่ถูกยึด



ข้อมูลเรื่องส่วยค้าสำนวนที่ข่าว 3 มิติ ได้มา สอดคล้องกับข้อมูลจากสหพันธ์ขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ที่พบความผิดปกติเหมือนกัน เพราะหลายครั้งที่ข้อมูลในรายงานจับกุมของเจ้าหน้าที่ ไม่ตรงกับสำนวนคดีที่อัยการสั่งฟ้อง แต่เมื่อทวงถามก็ไม่เคยได้รับคำตอบ



ปลายทางของส่วยค้าสำนวน คือคนขับรถบรรทุกถูกจับ แต่ประกันตัวออกมาสู้คดี และเสียค่าปรับในชั้นศาลไม่กี่พันบาท ส่วนรถบรรทุกเจ้าของมารับคืนไป รถบรรทุกพ่วง 1 คัน ราคา 3 ล้าน ถึง 5 ล้านบาท เจ้าของรถจึงยอมจ่ายส่วยมากถึง 1 แสนบาท เพื่อไม่ให้ถูกยึดรถและนำไปใช้งานต่อได้

คุณอาจสนใจ

Related News