สังคม

วช. ชูโมเดล 'สวนลดฝุ่น' ชวนปชช. เพิ่มพื้นที่สีเขียว ปลูกพืชดักจับ PM 2.5

โดย nut_p

27 ก.พ. 2566

83 views

วันนี้เป็นอีกวันที่ 14 จังหวัดของประเทศไทย พบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานสูงที่สุดอยู่ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ขณะที่กรุงเทพมหานคร วันนี้อยู่ในเกณฑ์ปกติ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. จึงชวนประชาชนจัดภูมิทัศน์พรรณไม้ลด PM 2.5 เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว หลังทีมวิจัยพบว่า ต้นไม้บางชนิดสามารถช่วยดักจับปริมาณฝุ่นละอองและมลพิษได้มากถึงร้อยละ 50 โดยสามารถทำได้ทุกที่ แม้จะมีพื้นที่จำกัดก็ตาม



พื้นที่สวนหย่อมขนาด 700 ตารางเมตร บริเวณด้านหน้าสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ถูกปรับปรุงและออกแบบภูมิทัศน์ใหม่ ให้เป็นสวนภูมิทัศน์พรรณไม้ลด PM 2.5 ด้วยการใช้พันธุ์ไม้หลากหลายชนิด ที่มีคุณสมบัติดักจับฝุ่นและกรองอากาศ โดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่ทดสอบจริงในระยะสุดท้าย



งานวิจัยนี้จึงเริ่มตั้งแต่การออกแบบกลไกบำบัดฝุ่นและคุณภาพอากาศ โดยอ้างอิงจากข้อมูลอัตราการไหลของอากาศในพื้นที่จริง ซึ่งพื้นที่นำมาใช้ทั้ง 3 ระดับ จะช่วยกันทำหน้าที่ของพวกมันในเบื้องต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ



โดยแนวสูง ใช้ต้นราชพฤกษ์ ประดู่บ้าน และพิกุลปกคลุมพื้นที่ด้านล่าง ระดับกลาง ใช้ต้นที่มีใบขนาดเล็ก ทรงโปร่ง อย่างต้นโมกหรือไทรเกาหลี เป็นแนวดักลมให้อากาศเคลื่อนที่ช้าลง ฝุ่นละอองขนาดเล็กก็จะถูกดักจับลงสู่พันธุ์ไม้ด้านล่าง ที่ช่วยคายความชื้น เพิ่มเวลาให้พืชดักจับฝุ่นได้มากขึ้นได้ โดยสามารถทำได้ทุกสถานที่ไม่ว่าจะมีพื้นที่จำกัดหรือไม่ เช่น ที่บ้าน คอนโด หรืออาคารสำนักงาน



สิ่งสำคัญต่อมาคือ การเลือกพันธุ์ไม้ ที่ไม่ได้ระบุว่าจะต้องเป็นแบบเฉพาะเจาะจง เพียงมีคุณสมบัติของกิ่งก้านใบตามนี้ก็สามารถนำมาปรับใช้ได้ แบ่งเป็นโซนต่าง ๆ คือ โซนดักจับกลิ่น ต้องเป็นพันธุ์ไม้อวบน้ำ ในตระกูลลิ้นมังกร ต้นสับปะรดสี ช่วยลดสารระเหย กลิ่นเหม็นและฝุ่นได้ดี โซนพันธุ์ไม้มีขน ลด PM หลายชนิด มีใบที่มีขนช่วยดักจับฝุ่น เช่น พรมกำมะหยี่และพรมญี่ปุ่น และสุดท้ายโซนพืชลดมลพิษ ซึ่งเป็นคุณสมบัติโดยตรงของพืชนานาพรรณ เช่น ต้นหมาก เดหลี พลูปีกนก และกวักมรกต



รองศาตราจารย์ชัยรัตน์ ตรีทรัพย์สุนทร ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี แนะนำว่า ต้นไม้ที่มีคุณสมบัติดักจับที่ดี ควรมีใบขนาดเล็ก มีพุ่มและใบมีขน โดยพบว่าต้นไม้แต่ละต้นที่นำมาศึกษา สามารถลดฝุ่นได้มากถึงร้อยละ 40-60 ที่ความเข้มข้นของ PM 2.5 เริ่มต้นที่ 450-500 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร



งานวิจัยนี้ประสบความสำเร็จมาแล้วจากห้องปฏิบัติการ ซึ่งได้รับการสนับสนุนโครงการโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดยโมเดลสวนต้นแบบแห่งแรกนี้ คือ การปรับใช้กับสถานที่จริงในสภาพแวดล้อมที่มีปัจจัยภายนอกร่วมอยู่ด้วย จึงต้องอาศัยระยะเวลาติดตามผลอีกอย่างน้อย 1 ปี สำหรับหน่วยงานหรือผู้ที่สนใจ ทาง วช. และทีมวิจัยก็พร้อมให้คำแนะนำในการสร้างสวนลดฝุ่น เพื่อสร้างคุณภาพอากาศที่ดีในพื้นที่

คุณอาจสนใจ

Related News