สังคม
สื่อจวกผู้ว่าฯ เชียงใหม่-หน่วยราชการ ปกปิดข้อมูลฝุ่นควัน สร้างภาพอากาศดี ผู้ว่าฯโต้เดือดใครบังคับคุณโกหก
โดย nattachat_c
9 เม.ย. 2567
38 views
วานนี้ (8 เม.ย. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ทวีตเกี่ยวปับปัญหาไฟป่า และฝุ่นพิษ ว่า
รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจเรื่องฝุ่น พยายามอย่างเต็มที่ ทุกมิติ เพื่อแก้ไขปัญหาให้เร็วและยั่งยืนที่สุด
ผมทราบดีถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน จากผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 และมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน ผมได้ขอให้ รมว. สาธารณสุข รมช. มหาดไทย ไปช่วยบริหารสถานการณ์และสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ตามที่จังหวัดได้ออก มาตรการทางสาธารณสุข จังหวัดเชียงใหม่ ในภาวะ PM 2.5
มาตรการด้านสุขภาพ จังหวัดได้เตรียมการเรื่องห้องปลอดฝุ่น การจัดหาหน้ากากอนามัย และผมได้เน้นย้ำให้ดูแลกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษ รวมทั้งให้วางมาตรการเพื่อตรวจความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดด้วยครับ
ส่วนเรื่องไฟป่า ทางจังหวัดเชียงใหม่ ได้ใช้ทุกมาตรการเพื่อป้องกันการเผาป่า และไฟป่า ใช้เครื่องบินฝนหลวงบรรเทาสถานการณ์ ใช้มาตรการด้านอาชีพ และการตั้งรางวัลนำจับผู้เผาป่า แต่ก็ยังพบการเผา ซึ่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการในการดับไฟอย่างรวดเร็วที่สุด แต่ยังมีปัญหาการเผาจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้อำเภอชายแดนมีค่า PM 2.5 สูงมาก
นี่คือปัญหาระดับชาติที่รัฐบาลต้องขอความร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน ฝากพี่น้องประชาชนทุกท่านช่วยดูแลพื้นที่ของท่านเอง หากพบการเผา หรือพบไฟไหม้ป่า ช่วยแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรืออำเภอเพื่อเข้าระงับสถานการณ์โดยเร็วครับ
------------
วานนี้ (8 เม.ย.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ ไฟป่า และฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่ทวีความรุนแรงขึ้น จนต้องประกาศเป็นเขตพื้นที่ภัยพิบัติ ว่า
ได้รับรายงานตามที่ได้รับรายงานจาก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการประกาศเขตภัยพิบัติที่เกิดจากไฟป่าใน 6 อำเภอ และ ได้คุยกับนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า เมื่อวันที่ 7 เม.ย.มีจุดความร้อน 9,000 กว่าจุด ที่ประเทศเมียนมา และในช่วงเช้าวันที่ 8 เม.ย.พบ 7,000 กว่าจุด ซึ่งสาธารณสุขก็ได้มีการแจกหน้ากากอนามัย และทำพื้นที่ให้ประชาชนที่ประสบภัย ซึ่งในวันนี้ ( 9 เม.ย.) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะลงพื้นที่ไปดูเหตุการณ์ด้วยตัวเอง
เมื่อถามว่า ในพื้นที่ 6 อำเภอที่ประกาศเขตภัยพิบัติ จะมีการระดมกำลังเข้าไปช่วยเหลืออย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็เป็นธรรมดาที่ต้องลงไปช่วยเหลืออยู่แล้ว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฝ่ายความมั่นคง กระทรวงมหาดไทย ก็ช่วยกันอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ มีรายงานว่าจังหวัดเชียงใหม่เตรียมที่จะประกาศพื้นที่ภัยพิบัติเพิ่มอีก 2 อำเภอ รวมเป็น 8 อำเภอ
----------
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลดำเนินการด้วยความมุ่งมั่น ขอบคุณความร่วมมือร่วมใจจากทุกส่วน ซึ่งผลจากการทำงานอย่างหนักทำให้จุด hot spot น้อยลงกว่าปีที่แล้วมาก และสถานการณ์ PM 2.5 ในภาคเหนือล่าสุด พบว่าจุดกำเนิดของจำนวน hot spot ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากประเทศไทย โดยมีจำนวน hot spot ในเมียนมากว่า 7,600 จุด ในลาวกว่า 5,000 จุด ในไทยราว 1,600 จุด ดังนั้น จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่าปัญหา PM 2.5 ในปัจจุบันมีสาเหตุหลักมาจากฝุ่นควันข้ามพรมแดน
ซึ่งทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ตัดสินใจดำเนินการตามขั้นของแผนการจัดการปัญหาวิกฤตมลภาวะทางอากาศ ด้วยการประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉินอัคคีภัยไฟป่า รวม 5 อำเภอ มุ่งเป้าไปที่พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงในบางตำบลภายในเขต 5 อำเภอที่ส่วนใหญ่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้เพื่อเร่งเปิดทางให้การช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ด้านสาธารณสุขสามารถเข้าถึงพื้นที่ได้โดยเร็วที่สุด
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า ต่อปัญหา PM 2.5 นั้น ต้องถือว่าเจ้าหน้าที่ฝั่งไทยทุกภาคส่วนได้ร่วมแรงร่วมใจกันป้องกัน กำกับ และควบคุมสาเหตุต้นทางได้อย่างดีเยี่ยม เป็นไปตามแนวทางที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำกับดูแลการทำงานอย่างเคร่งครัดเสมอมา ซึ่งทำให้จำนวนจุด hot spot น้อยกว่าปีที่แล้วมาก
“อย่างไรก็ดี การดำเนินการของผู้ว่าฯ เชียงใหม่ เป็นไปตามขั้นของแผนการจัดการปัญหาฯ ของรัฐบาลซึ่งได้เตรียมการไว้ เชื่อมั่นว่าจะทำให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์อย่างรวดเร็ว ความช่วยเหลือถึงพื้นที่อย่างมุ่งเป้าโดยเร็วที่สุด” นายชัย กล่าว
------------
วานนี้ (8 เม.ย. 67) ที่ห้องประชุมบุญสม มาร์ติน ชั้น 1 อาคารบุญสม มาร์ติน โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
- นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่
- ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)
- ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนฤมิตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
- นพ.จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่
- นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่
- นายดุสิต พงศาพิพัฒน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัดเชียงใหม่
ร่วมกันแถลงข่าวสถานการณ์ไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เชียงใหม่ และปฏิบัติการทางการแพทย์ในการดูแลประชาชน และนักท่องเที่ยว
นายนิรัตน์ กล่าวว่า เพราะพื้นที่ป่าของเชียงใหม่มีมากเป็นอับดับหนึ่งของประเทศ ถือเป็นโจทย์ใหญ่มาก แม้จะห้ามเผาแต่การจัดการคนเผาบางส่วนไม่ได้ จากตัวเลขในบัญชีที่มีกว่า 5,000 คน ส่วนนอกบัญชีที่ไม่รู้อีกมาก แต่ยังมีคนไม่ยอมฟัง ยังคงเผา ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินคดีได้ 5 คดี และจ่ายเงินให้ตามรางวัลนำจับรายละ 10,000 บาท
“ยอมรับว่าเดือนเมษายน การเผาไม่ลด โดยเฉพาะวันที่ 2-3 เมษายนที่จุดความร้อน หรือ Hotspot พุ่งแตะ 561 และ 565 จุดต่อวัน และยังคงสถานะอยู่เช่นเดิมในขณะนี้ เจ้าหน้าที่พยายามตอบโต้สถานการณ์แบบทันทีด้วยการดับไฟให้ได้ภายใน 1 วัน หรือให้เร็วที่สุด ซึ่งก็สามารถทำได้ 89-90% เพราะพื้นที่สูงชัน แต่ลดการเผาในพื้นที่ได้ ยกเว้นประเทศเพื่อนบ้าน ที่ในช่วงวันที่ 1-7 เมษายน ก็พบการเผาสูงเฉลี่ย 7,000-9,000 จุด ซึ่งทำให้อำเภอชายแดน 5 อำเภอ มีค่าฝุ่นสูงอันดับต้น ๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอ ยังสูงไม่เท่า แต่วันนี้ ค่าฝุ่น PM2.5 ก็ยังอยู่ที่ 200 แต่เชียงใหม่ก็ดูแลเรื่องสุขภาพประชาชนมานานแล้ว รวมทั้งเตรียมห้องลดฝุ่น แจกหน้ากากอนามัยให้ประชาชนไปแล้ว”
ศ.นพ.บรรณกิจ กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยซับซ้อนเข้ารับการรักษาเพิ่มขึ้น โดยฝุ่น PM2.5 เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายเปลี่ยนแปลงรวมทั้งไปเปลี่ยนแปลงพันธุกรรม ทำให้ร่างกายอักเสบ เปลี่ยนเป็นสารพิษ และเกิดมะเร็งปอดได้ ในขณะที่อัตราโรคหัวใจก็เพิ่มขึ้น 10% จากข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างปี 2566 กับปี 2567 ของโรงพยาบาลสวนดอก คือโรคที่คุกคามเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า ทั้งระบบหายใจ หัวใจ ผิวหนังอักเสบ ผื่นคัน และอื่นๆ รวมทั้งสถิติที่พบว่าภาคเหนือมีการเกิดโรคมะเร็งปอดเป็นอันดับหนึ่งของทุกภาค โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ฝุ่น PM2.5 เป็นส่วนกระตุ้นให้เกิดมากขึ้น โดยมีหลายปัจจัยที่มาจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมมาบวกกัน เพราะฝุ่นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของยีน หน้าที่ของแพทย์คือหาทางป้องกัน แนะนำประชาชนให้ป้องกันตนเอง ทั้งการเตือนให้สวมหน้ากากอนามัย N95 อยู่ในห้องปลอดฝุ่น รวมทั้งทำโรงพยาบาลปลอดฝุ่น เพื่อให้เราผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
ผศ.นพ.นเรนทร์ กล่าวว่า ฝุ่นขนาดเล็กจิ๋วสามารถซึมเข้าปอดและก่อให้เกิดการอักเสบ เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีผลกระทบแน่ และการป้องกันฝุ่นไม่ง่ายเกินกว่าที่ระดับจังหวัดจะแก้ไขได้ และผลกระทบส่งผลต่อดวงตาเป็นอย่างแรก ซึ่งความจริงเรารู้จักคำว่าฝุ่น PM2.5 มาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปี พยายามทำความเข้าใจประชาชนเพราะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และส่งเสริมให้ประชาชนใช้ห้องปลอดฝุ่น มุ้งนาโน ตะกร้าฟอกฝุ่นแบบดีไอวาย โรงพยาบาลเองก็สร้างหอผู้ป่วยปลอดฝุ่นที่ชั้น 5 ตึกสุจิณโณ เพื่อช่วยเหลือในช่วงเกิดสถานการณ์เช่นนี้ และเสียใจมากต่อเหตุการณ์ที่บุคลากรของ มช.เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด รวม 4 ราย และยืนยันว่าฝุ่นขนาดเล็กสามารถเข้าสู่เส้นเลือดและลงปอดโดยตรง ถือเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดการอักเสบ
นพ.จตุชัย กล่าวถึงข้อมูลการเฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน ใน 4 กลุ่มโรคที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด ผิวหนังอักเสบ ตาอักเสบและกลุ่มโรคปอดอุดกั้นเรื่องรังแบบเฉียบพลัน โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ รวบรวมข้อมูลจากผู้มารับบริการโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งในจังหวัดเชียงใหม่ (1 มกราคม 2567-6 เมษายน 2567) เปรียบเทียบผู้ป่วย ปี 2566 และปี 2567 พบว่า กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดมีผู้ป่วยมารับบริการ 57,714 ครั้ง ลดลงจากปีที่ผ่านมา 19,182 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 24.95 โรคผิวหนังอักเสบ 2,195 ครั้ง เพิ่มขึ้น 109 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 5.23 โรคตาอักเสบ 2,502 ครั้ง เพิ่มขึ้น 107 ครั้ง คิดเป็น ร้อยละ 4.47 และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังชนิดเฉียบพลัน 2,691 ครั้ง ลดลง 409 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 13.19
สำหรับมาตรการจัดการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (เชิงรุก) ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ดำเนินการเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง โดยมีจำนวนกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ กลุ่มเด็ก (0-5 ปี) 101,837 ราย หญิงตั้งครรภ์ 3,339 ราย ผู้สูงอายุ 249,363 ราย กลุ่มผู้ป่วย (โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังชนิดเฉียบพลัน โรคหอบหืด โรคหัวใจขาดเลือด และผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง) 16,143 ราย และได้ดำเนินการกิจกรรมออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลสุขภาพและช่วยเหลือประชาชน แจกหน้ากากป้องกันฝุ่นและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวรับมือกับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ซึ่งผลการดำเนินงาน 225 ครั้ง (ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม-6 เมษายน 2567) มีผู้มารับบริการ 9,817 ราย กิจกรรมเยี่ยมบ้านเคาะประตูให้ความรู้ แจกหน้ากากสู้ฝุ่น PM2.5 ในชุมชน ติดตามการเยี่ยมบ้านกลุ่มเสี่ยง กลุ่มผู้ป่วยในชุมชนด้วยทีม 3 หมอ จำนวน 11,720 ราย แจกหน้ากากทั้งหมด 153,557 ชิ้น
นพ.จตุชัย กล่าวยอมรับว่า ในช่วงนี้ผู้ป่วยโรคหอบหืด คออักเสบ หลอดลมอักเสบ เพิ่มขึ้นมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ในส่วนของการดูแลรักษาโรงพยาบาลทุกแห่งยังมีความพร้อมรับผู้ป่วยหนักได้อยู่ โดยขณะนี้มีห้องไอซียูรวม 142 ห้อง การใช้เตียงไอซียูสำหรับผู้ใหญ่ 86.7% และเด็ก 50% แต่บางโรงพยาบาลก็แน่นในบางวัน และโรงพยาบาลนครพิงค์กำลังสร้างเพิ่มอีก 24 ห้อง และยังมีหอผู้ป่วยสามัญรองรับได้อยู่ จึงมั่นใจว่าพร้อมดูแลประชาชนทุกคน อยากเตือนประชาชนชาวเหนือว่าไม่ควรสูบบุหรี่เพราะฝุ่น PM2.5 สูงอยู่แล้ว และสามารถซึมเข้าสู่ร่างกาย และข้อมูลการพบมะเร็งปอดในภาคเหนือสูงมาก เชียงใหม่ 33 รายต่อ 1 แสนประชากร ลำพูน 41 รายต่อ 1 แสนประชากร ลำปาง 44 รายต่อ 1 แสนประชากร
นายพิชัย กล่าวว่า ในปีนี้ อบจ.จัดหาหน้ากากอนามัยมาแจกจ่ายประชาชนเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านชิ้น จากปีที่ผ่านมา 1.6 ล้านชิ้น มีโรงพยาบาลส่วนตำบลในการดูแลประชาชนเต็มที่ในทุกอำเภอ
นายดุสิต กล่าวว่า วันที่ 9 เมษายนนี้จะดำเนินการบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ทั้งเมือง เพื่อทำความสะอาดหลังเทศบาลนครเชียงใหม่คืนพื้นที่ให้ประชาชนได้เล่นน้ำสงกรานต์ รวมทั้งพ่นน้ำลดฝุ่นละอองโดยจะใช้น้ำสะอาดเพื่อป้องกันฝอยน้ำที่อาจส่งผลกระทบต่อปอดของประชาชนตามคำแนะนำของแพทย์ด้วย
-------------
ช่วงหนึ่งที่เปิดให้สื่อมวลชนได้ซักถามนั้น มีสื่ออาวุโสของเชียงใหม่หลายท่านได้ตั้งคำถามต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานราชการที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง
โดยพี่มะหน่อย นางสาวจินตนา กิจมี " ผู้สื่อข่าวมติชน" ประจำจังหวัดเชียงใหม่ สื่ออาวุโสของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นตัวแทนของสื่อมวลชนเชียงใหม่ ตั้งคำถามเรื่องความพยายามปกปิดข้อมูล สถานการณ์ และปัญหาเรื่องของมลพิษ หมอกควัน และไฟป่าของหน่วยงานราชการจังหวัดเชียงใหม่
แต่หน่วยงานรัฐกลับสร้างความแตกแยกให้กับสื่อในพื้นที่ โดยอ้างว่า สื่อเสนอข่าวไม่เป็นความจริง เสนอข่าวที่เป็นเฟคนิวส์ ซึ่งตัวแทนสื่อก็ยืนยันว่า จะไม่เป็นความจริงได้อย่างไร ในเมื่อหมอกควันบดบังดอยสุเทพมานานหลายเดือนแล้ว ประชาชนชาวเชียงใหม่ที่อยู่ในพื้นที่เอง ต้องสวมหน้ากากอนามมัย ใช้ชีวิตอยู่กับความเสี่ยงเช่นนี้ ยังจะเป็นข่าวไม่จริงอีก
แต่ทางกลับกัน สื่อในส่วนของหน่วยงานราชการเอง โดยเฉพาะสื่อส่วนตัวของท่านผู้ว่าฯ กลับสร้างภาพว่าเชียงใหม่อากาศดี อากาศสดใส เชิญชวนคนมาเที่ยวเชียงใหม่เยอะ ๆ ทั้งที่สถานการณ์วิกฤติขนาดนี้ จึงอยากเห็นการสื่อสารที่ตรงไปตรงมา บอกข้อมูลความจริง ไม่ใช่โกหกไปวัน ๆ ต้องบอกว่า ปีนี้ อากาศไม่ดี มาเที่ยวได้อย่างไรแบบไหนที่จะป้องกันตนเอง แต่สุดท้ายอยากให้ดูแลประชาชนในพื้นที่ก่อน จะได้ช่วยกันต้อนรับนักท่องเที่ยวได้ด้วยความสดใส
ในขณะที่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ก็โต้กลับด้วยน้ำเสียงขุ่นเคืองเล็กน้อย ว่า ใครไปบอกว่าใครไปโกหกคุณ หลังจากนั้น ก็ชี้แจงว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการฝุ่นควัน และไฟป่า ที่ตั้งมานั้น มีสื่อมวลชนบางส่วนร่วมอยู่ด้วย ยืนยันว่าเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา ไม่ได้บังคับให้ใครไปเขียนข้อมูล
ขณะที่ สื่อท่านอื่นที่อยู่ในห้องประชุม ก็เสริมว่าที่ผ่านมา สื่อมวลชนเชียงใหม่พร้อมให้ความร่วมมือในการนำเสนอข่าวที่ตรงไปตรงมาตามข้อมูลข้อเท็จจริงที่จะช่วยเตือนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ให้เตรียมรับมือและป้องกันตนเอง
หลังจากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ก็ขอตัวไปภารกิจอื่นต่อ โดยปล่อยให้ทางคณะแพทย์แถลงข่าวต่อไป
----------------
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/LCuUTonMmT0