เลือกตั้งและการเมือง

'พิธา' จี้ถามทำไมไม่ประกาศ เชียงใหม่เป็นพื้นที่ภัยพิบัติฝุ่น 'เศรษฐา' แจงยังไม่จำเป็น หวั่นกระทบท่องเที่ยว

โดย nattachat_c

18 มี.ค. 2567

39 views

วานนี้ (17 มี.ค. 67) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงการที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงเรื่องการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ว่า


เมื่อวานได้อ่านข่าวนายกรัฐมนตรี เห็นว่ามีอะไรจะฝากก็ให้ฝากไปได้ จึงอยากใช้โอกาสนี้ สอบถามไทม์ไลน์ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ 2-3 วัน ที่ผ่านมา ถ้าเราดูจะเห็นว่าแย่ที่สุดในโลก วันนี้ดีขึ้น ขยับเป็นอันดับ 3 แสดงว่า มันยังไม่ดีขึ้น ก็เลยอยากจะฝากถามนายกรัฐมนตรีว่าไทม์ไลน์ในการแก้ไขปัญหาฝุ่น โดยเฉพาะภาคเหนือ สัปดาห์นี้ คิดว่าต้องแก้อะไร เดือนหน้า (เม.ย.) จะเป็นเดือนที่ค่าฝุ่นสูงที่สุด หากดูสถิติ จะแก้อย่างไร ปีหน้าจะแก้อย่างไร ถ้าเกิดมีไทม์ไลน์ แบบนี้ ฝ่ายค้านอย่างพวกตน จึงสามารถฝากได้ เพราะถ้าไม่มีไทม์ไลน์มาให้ ก็ไม่รู้จะฝากอย่างไร รวมถึงข้าราชการ และภาคประชาชน ชาวบ้านที่อยากมีส่วนร่วม


“เพราะเขาไม่รู้ว่าจะทำอะไรยังไง สิ่งที่ฉันเรียนรู้มาในอดีต วิธีแก้ไขก็คือเอาไฟชนไฟมาช่วยกัน เพราะไม่มีการบูรณาการกัน ทุกคนก็ขยับไม่ถูก”


นายพิธา กล่าวต่อว่า ตนขอฝากตุ๊กตาให้นายกรัฐมนตรีก็แล้วกัน ตอนนี้ มันสายเกินป้องกันแล้ว คงต้องไปดูว่าสิ่งสำคัญที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินแบบนี้ เช่น หน้ากาก N95 เครื่องฟอกอากาศราคาถูก ที่ชาวบ้านเข้าถึงได้ โดยไม่ได้นำเข้าจากต่างประเทศ อาชีวะบ้านเรามีความสามารถประกอบเองได้ตั้งเยอะ เท่าที่ได้ยินมาจากปีที่แล้ว โรงเรียนเด็กเล็ก และโรงพยาบาล ต้องการเครื่องกรองอากาศ ซึ่งสัปดาห์นี้ สามารถทำได้เลย สามารถเพิ่มสรรพกำลังของคนที่มาช่วยในการดับไฟป่า อย่างที่ตนไปมาเมื่อวาน


ส่วนเดือนหน้าที่ค่าฝุ่นจะสูงที่สุดในทุกปี สิ่งที่ทำได้เลยคือ นายกรัฐมนตรีลองไปดูข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ของสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) หรือของ กรมอุตุนิยมวิทยา


“เอาแผนที่ดาวเทียมมาทับซ้อนกัน 5 ปี คุณจะรู้เลยว่า ปีนี้ โอกาสไฟไหม้ป่าอยู่ที่ไหนบ้าง สามารถที่จะรุกก่อน สร้างธนาคารน้ำเป็นสถานีน้ำให้เหยี่ยวไฟเข้าไปพร้อมที่จะช่วย ฉะนั้น เดือนหน้าแทนที่มันจะหนัก ก็อาจจะทุเลากว่าปีที่ย้อนหลังมา เพราะสถิติมันบอกเราว่า มันไหม้ซ้ำซาก แล้วพอถึงปีหน้า ก็มีเวลาแก้ไขในระยะยาวมากขึ้น”


นายพิธา กล่าวว่า เราเข้าใจข้อจำกัดทางกฎหมาย และงบกลาง และเข้าใจว่าทำไมผู้ว่าราชการจังหวัดถึงไม่ประกาศเป็นพื้นที่ฉุกเฉิน ต้องฝากนายกฯรัฐมนตรีลองดูว่า ทำไมผู้ว่าราชการจังหวัดถึงไม่ประกาศ ทั้งที่รุนแรงระดับโลก


“มันเป็น KPI ของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือไม่ ที่บอกว่า พอประกาศเขตฉุกเฉินแล้ว ผู้ว่าฯไม่กล้าที่จะใช้หรือเปล่า แต่ขอจบตรงนี้ว่า ข้าราชการที่นี่ รวมถึง สิ่งที่คนเล่าให้ฟังว่า ผู้ว่าฯที่อยู่แถวนี้ ก็ทำงานถึงสามทุ่มสี่ทุ่ม เพื่อที่จะช่วยกันทำให้ไฟป่าดับ แต่มันเกาไม่ถูกที่คัน”


นายพิธา กล่าวอีกว่า อย่างน้อยถ้ายังแก้ไม่ได้ ก็ต้องมาไล่ว่า ตอนนี้ทำอะไร เดือนหน้าทำอะไร ปีหน้าทำอะไร รับรองได้ว่ามันจะผ่อนหนักเป็นเบา


“ถ้าจะพูดกับนายกรัฐมนตรีตรง ๆ มันคือปัญหาโลจิสติกส์ ไม่ได้เป็นปัญหาทางเทคนิค จะเป็นปัญหาการลำเลียงน้ำ การลำเลียงคนดับไฟป่าให้ถึงจุด … มันคือการที่เข้าใจรูปแบบของไฟ แล้วมี Economies of Speed ไปให้ถึงก่อนที่ไฟจะลาม กับ Economies of Scale คือการขยายทีมในการแก้ไขให้ครบทุกจุดในเวลาที่พร้อมกัน


เมื่อแก้ปัญหานี้ได้ จะกลายเป็นเศรษฐกิจในการแก้ไขปัญหาไฟป่า ที่เอาไปทำต่อในประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศที่มีปัญหาแบบนี้ได้ เราจะกลายเป็นมหาอำนาจในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ … เหมือนที่หลายประเทศแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ ก็เอามาขายประเทศไทย”


เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรี และโฆษกรัฐบาลออกมาชี้แจงว่า มีการใช้งบกลางในการแก้ไขปัญหาแล้ว มีเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ออกมาด้วย

นายพิธา กล่าวว่า อย่างนี้เรื่อง พ.ร.บ.การเกิดภัยพิบัติ ก็ไม่ต้องมี ก็เป็นดุลยพินิจว่าจะใช้ได้หรือไม่ได้ แล้วความแตกต่างระหว่างสถานการณ์ปกติกับสถานการณ์ฉุกเฉิน มันมีความแตกต่างกัน ซึ่งสถานการณ์ก็ไม่คลี่คลายลง


นายพิธา ยังกล่าวว่า งบกลางมี 2 แบบ อย่างของ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตนเข้าใจว่า มีการผ่านงบร้อยกว่าล้านบาท เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีการให้ท้องถิ่นเข้ามาร่วมด้วย แต่มันก็สายเกินไปแล้ว กว่าจะเบิกจ่าย กว่าจะเอาไปใช้ และไม่ทราบว่า ได้อุปกรณ์ที่ถูกต้องหรือไม่


กับอีกก้อนหนึ่งที่เป็นงบกลาง ในส่วนของภัยพิบัติโดยเฉพาะ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนำมาใช้ได้ พวกเราที่อยู่ในที่นี้ตนเชื่อว่า สามารถเข้าถึงได้ แต่พี่น้องที่อยู่สถานเด็กเล็กเชียงดาวเข้าไม่ถึง


เมื่อถามว่า การลงพื้นที่เมื่อวานนี้ ทางกองโฆษกรัฐบาล ออกมาตอบโต้ว่า เป็นการรบกวนคนหน้างาน หรือมีการใช้คำว่า มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ

นายพิธา ระบุว่า 10 ปากว่าไม่เท่าตาเห็น ในหน้าที่ของ สส. มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เพราะฉะนั้น ส่วนที่มาดับไฟ ก็มีส่วนช่วยในการที่ทำให้ตนทำงานได้ดีขึ้น


“ผมเองอดีตประธานกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร


ท่านอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กรมอุทยาน กรมป่าไม้ เข้ามาหาผม และอธิบายถึงสถานการณ์ให้ฟัง เวลาพิจารณางบครั้งหนึ่ง อธิบายเรื่องไฟป่า ผมก็เข้าใจ


แต่พอเวลาฟัง กับการที่ลงพื้นที่ มือร้อน ๆ กับสะเก็ดไฟมาโดนแขนเสื้อ ต้องเอาอุปกรณ์ดัดแปลงมาจากยาฆ่าแมลง ผมพ่นไปแล้ว ก็คิดว่าผมมาฆ่าแมลง แต่จริง ๆไม่ใช่ แต่มันต้องสเปรย์น้อย ๆ เพราะต้องประหยัดน้ำมากขึ้น อันนี้ เป็นสิ่งที่ฟังอธิบดีเป็น 10 ครั้ง ก็ไม่เข้าใจ มันเป็นอะไรที่ต้องเห็นหน้างานด้วยตัวเอง และรบกวนเวลาน้อยที่สุด ใช้เวลาสั้นที่สุด เวลาที่เหยี่ยวไฟมาของบ ก็จะใจเขาใจเรามากขึ้น”

--------------
วานนี้ (17 มี.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงไทม์ไลน์ของปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่จะเข้าสู่จุดสูงสุด ในต้นเดือนหน้า ว่า


ตนคิดว่า ปลายเดือนนี้จะเป็นช่วงที่พีค แต่ว่าเราก็ไม่ได้ที่จะย่อท้อก็จะทำงานต่อไป พร้อมย้ำว่า เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลได้อนุมัติงบกลางให้กับประชาชน มาช่วยกันดูแลทรัพยากรของชาติร่วมกัน


และเมื่อให้ไปแล้ว ก็ต้องมาดูกันว่าจะต้องไม่มีจุดฮอตสปอร์ตอีก ในแง่ของส่วนที่เราได้บริหารจัดการไป


เมื่อถามถึงกรณีที่ นายพิธาลิ้ม เจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เรียกร้อง ที่จะให้มีการเปิดไทม์ไลน์ถึงมาตรการ เพื่อที่จะให้คนในพื้นที่ได้เตรียมพร้อมรับมือ

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า เจ้าหน้าที่ก็มีการทำงานกันอย่างเคร่งครัด และการที่เราได้ให้งบกลางลงไปในพื้นที่ต่าง ๆ ก็จะให้มีจุดเฝ้าระวัง ให้เยอะขึ้น


ที่นายพิธาลิ้ม ตั้งคำถามว่า ทำไมพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีปัญหาฝุ่น PM 2.5 ติดอันดับโลก แต่ไม่มีการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อที่จะได้อนุมัติงบลงมาแก้ไขปัญหา

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า งบเราก็มีให้อยู่แล้ว เรื่องนี้เราก็ทำอยู่แล้ว พร้อมระบุว่า ยังไม่จำเป็นที่จะต้องประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ และรัฐบาลก็ให้งบกลางมากกว่างบฉุกเฉิน


ส่วนมาตรการเร่งด่วนในการดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่นั้น

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า เมื่อวานนี้ ก็มีการแจกหน้ากากอนามัยไป 2 ล้านชิ้น แต่ก็คงเป็นเรื่องของปลายเหตุมากกว่า


ส่วนการดำเนินการเรื่องฝนหลวงนั้นก็ทำตลอด ทั้งยุทโธปกรณ์ของหลาย ๆ ส่วน และเฮลิคอปเตอร์ ของหลายหน่วยงานก็เข้ามาอยู่ที่นี่ เพื่อที่จะสูบน้ำเข้าไปดับไฟป่า


ทั้งนี้ ตนเชื่อมั่นว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ฝุ่นได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับความคาดหวังด้วย ตนไม่ได้บอกว่าอากาศที่เชียงใหม่ดี แต่ว่า ก็ยังน้อยกว่าปีที่แล้ว เลยวางพื้นที่มีจุดฮอตสปอร์ตน้อยกว่า 2 ใน 3 เลย แต่ค่าฝุ่นก็ยังสูงอยู่ดี เราก็ยังมองเห็นอยู่ ก็ต้องทำงานกันต่อไป


เมื่อถามว่า นายพิธาเสนออยากให้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยดับไฟในป่า

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันก็เป็นหมื่นคนอยู่แล้ว จริง ๆ แล้วต้องพยายามบริหารเรื่องบุคลากร ให้ดีด้วย

-----------------

วานนี้ (17 มี.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยังทวีต เพื่ออธิบายเพิ่มเติม ถึงสาเหตุที่ไม่ประกาศให้เชียงใหม่เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ ว่า


จากกรณีที่มีคำถามมาถึงผมว่า ทำไมจึงไม่ประกาศให้ จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่ฉุกเฉิน ในขณะที่ค่าฝุ่นสูง ผมได้รับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้วครับ เกรงว่าหากประกาศจะส่งผลทางลบมากกว่า เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นคือ จะกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่งฟื้นตัวหลังจากผลกระทบโควิด-19 เพราะนักท่องเที่ยวที่ซื้อประกันมาจากบ้านเขา หากเข้ามาท่องเที่ยวในเขตภัยพิบัติ หรือพื้นที่ฉุกเฉิน ประกันจะไม่คุ้มครองทันที แน่นอนครับว่า จ.เชียงใหม่จะเสียนักท่องเที่ยวที่ตั้งใจมาเที่ยวทั้งระยะสั้น และระยะยาว เราเป็นห่วงกันตรงนี้ครับ


ส่วนเรื่องงบกลางที่รัฐบาลจัดสรรไปที่กรมอุทยานฯ กระทรวงทรัพย์ฯ นั้น พร้อมเบิกจ่ายเมื่อวานนี้ (16 มีนาคม) ครับ ผมขอย้ำว่า การจัดสรรงบกลางนี้ เป็นการจัดสรรงบตรงถึงมือพี่น้องอาสาสมัครที่อาสาเข้ามาดูแลเฝ้าระวังไฟป่า ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการจัดสรรงบฯในลักษณะนี้ เพราะเราต้องการจ้างคนในพื้นที่มาดูแลรักษาพื้นที่ของเขา ตามโจทย์ของพื้นที่ และงบฯที่ให้ไปมีจำนวนมากกว่างบฯ ฉุกเฉินด้วย


วิธีบริหารจัดการเรื่องฝุ่นมีหลายวิธี รัฐบาลพร้อมรับฟังทุกข้อเสนอแนะ แต่รัฐบาลต้องตัดสินใจเลือกทางที่ดี และมีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับพี่น้องประชาชนที่ต้องทำมาหากินด้วยครับ

-----------------

เมื่อวานนี้ (17 มี.ค.67) นายนิรัตน์  พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึง ภาพรวมการบริหารสถานการณ์ไฟป่าหมอกควัน ว่า


ได้นำเรียนนายกรัฐมนตรี ถึงสถานการณ์ของจังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่เป้าหมาย โดยเฉพาะสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว โดยในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เน้นไปที่ในพื้นที่เกษตร ซึ่งทำได้เกือบ 100% ที่ไม่ให้เกิดการเผาเลย


ส่วนในเดือนมีนาคม ก็ได้รายงานนายกรัฐมนตรีไปว่า พื้นที่ท้าทายจะถูกเปลี่ยนเป็นป่า ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ป่าทุกประเภท อยู่ถึง 90% เกือบ 12 ล้านไร่ มากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งทำให้เกิดจุดความร้อนในป่ามากขึ้น จึงใช้วิธีดับให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดควันสะสม ซึ่งปีนี้ สามารถทำให้พื้นที่ที่ถูกเผาไหม้ลดลงถึง 70% ทำให้ไม่เกิดการสะสมของกลุ่มควันในพื้นที่ ซ้ำเติมกับฝุ่นที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน


สิ่งที่จะทำต่อไปในช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้ รัฐบาลได้อนุมัติงบกลางให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ซึ่งกระทรวงทรัพย์ฯ จะจัดสรรให้กรมต่างๆ เช่น กรมอุทยานฯ กรมป่าไม้  จ้างคนที่มีอาชีพหาของป่าที่มีความชำนาญ เข้ามาเป็นพนักงานรักษาป่าเกือบ 2,000 กว่าคน  


และขณะนี้ จังหวัดอยู่ระหว่างเสนอขอรับงบกลางจากรัฐบาล นำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างคนเพิ่ม ดูแลทุกช่องทางการเข้าป่า และเป็นค่าใช้จ่ายของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ออกดับไฟป่า ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จนถึงฤดูฝนมา ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนที่สำนักงบประมาณ


เมื่อถามว่า มีผู้กังวลถึงความไม่โปร่งใสของการใช้งบประมาณ

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ย้อนถามว่า จะเอาอะไรมาไม่โปร่งใส ในเมื่อวันนี้ พ.ร.บ.งบประมาณ ยังไม่ออกเลย เรายังไม่มีเงินใช้เลย ซึ่งจังหวัดอยู่ระหว่างของบไปยังรัฐบาล เงินยังไม่อนุมัติมา เพราะฉะนั้น เรื่องความไม่โปร่งใส การใช้งบประมาณถือว่าเป็นศูนย์ เพราะยังไม่มีงบให้ใช้ อย่าพึ่งไปถามหาความไม่โปร่งใส  หรือทุจริต


“ช่วงเวลาที่ผ่านมา แม้ไม่มีงบ เราทุกคนก็ตั้งใจที่จะทำหน้าที่ป้องกันการเผา ในเดือนนี้มีการเผาเยอะ เราก็ตั้งใจที่จะทำหน้าที่ในการดับไฟให้เร็วที่สุด ให้เกิดควันน้อยที่สุด ให้พี่น้องประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่กล่าว


ส่วนเรื่องการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ จากสถานการณ์ฝุ่น และข้อเรียกร้องงดการบริหารจัดการเชื้อเพลิง 

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า หากใครคุ้นเคยจากสถานการณ์น้ำท่วมขนาดใหญ่ และจำเป็นต้องประกาศภัยพิบัติ คือ สิ่งที่จำเป็น เพราะเป็นสถานการณ์ขนาดใหญ่ และระเบียบเงินทดรองราชการ ของกระทรวงการคลัง ก็เขียนไว้ชัดว่า  มีรายการที่ระบุว่าจ่ายค่าอะไรได้บ้าง


แต่สำหรับภัยที่เป็นฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในระเบียบเงินทดรองราชการ กระทรวงการคลัง ไม่มีเขียนไว้ว่า จ่ายค่าอะไรได้บ้าง นอกเหนือจากค่าน้ำมันรถเจ้าหน้าที่ ระเบียบเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น การประกาศภัยพิบัติเพื่อสู้ฝุ่น ไม่เกิดประโยชน์ในการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยราชการ จึงไม่มีความจำเป็น หรือมีน้ำหนักมากเพียงพอ  หรือเป็นสิ่งจูงใจว่า เราต้องประกาศเพื่อให้นำเงินมาใช้ เพราะไม่เกิดประโยชน์อยู่แล้ว


โดยปัญหานี้ จะได้รับการแก้ไข เมื่อพระราชบัญญัติอากาศสะอาด และกฎหมายลูกผ่านออกมา ที่มีการพูดถึงข้อจำกัดของระเบียบเงินทดรองราชการ หรืองบฉุกเฉินฯ  เพราะประกาศ ไปก็ใช้ไม่ได้จริงสำหรับภัยพิบัติฝุ่น จึงจะต้องออกเป็น พ.ร.บ.อากาศสะอาด และกฎหมายลูก ที่จะมีรายละเอียดค่าใช้จ่ายออกมา


“วัตถุประสงค์ คือ ไม่ได้ขอมาซื้อหน้ากากอนามัยใด ๆ ทั้งสิ้น  เรื่องเงินทอนต่าง ๆ ตัดไปได้เลย ผมระวังตัว และไม่อยากยุ่งกับเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว ตั้งใจที่จะดูแลพี่น้องประชาชนให้ดีที่สุด โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการ ทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ และอาสาสมัคร ที่อยู่กับเราเป็น 10,000 คน  ให้เป็นกองทัพที่เดินด้วยท้อง มีอาหารให้เขากิน มีน้ำให้เขาแบกขึ้นไป มีเสบียง มีอุปกรณ์  มีไม้ดับไฟ  มีรองเท้าที่กันไฟ จึงเป็นค่าใช้จ่ายประเภทนี้เท่านั้น เพื่อให้เขามีกำลังใจ ให้รู้ว่าเราได้ดูแลเข ที่ไปเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ไปสำลักควัน ไปเป็นลมแทนเรา” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าว


ส่วนข้อเรียกร้อง ว่าไม่อยากให้มีการบริหารจัดการเชื้อเพลิงนั้น

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ชี้ว่า เป็นหนึ่งในมติของคณะกรรมการควบคุมไฟป่าจังหวัด ซึ่งเป็นมติของที่ประชุม โดยส่วนตัวก็ย้ำตลอดว่า ไม่เห็นด้วยกับการจุดไฟเผาแม้แต่ครั้งเดียว  


แต่เมื่อเป็นมติที่ประชุม และมีหลักวิชาการป่าไม้เข้ามาอธิบาย ถ้าไม่ชิงจัดการเชื้อเพลิงไว้ก่อน และเกิดไฟไหม้จากคนที่มาแอบจุดนอกเหนือแผน จะเกิดไฟไหม้แบบที่ไร้การควบคุมและจะเกิดไฟแบบแปลงใหญ่ 1,000 ไร่ 10,000 ไร่ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต จึงต้องยอมรับความจริงว่า การบริหารจัดการเชื้อเพลิงตามหลักวิชาการป่าไม้เป็นสิ่งจำเป็น แต่การอนุมัติให้มีการชิงเผาเป็นอำนาจของแต่ละอำเภอ แต่ละท้องถิ่น อบต. ไม่เคยมาถึงผู้ว่าฯ  แต่ถ้าสถานการณ์อยู่ในช่วงอากาศปิด การระบายอากาศเป็นไปได้น้อย  ผู้ว่าฯ ก็จะออกประกาศคำแนะนำว่า ช่วงนี้ควรงดเว้นก่อน และตนได้ทำหน้าที่นี้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ขาดตกบกพร่อง


ส่วนที่บางคน ระบุว่า  ทำไมผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ไม่ดับไฟเอง

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ยืนยันว่า ตนก็ไปกับทีมเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า แต่การดับไฟป่าเป็นภารกิจที่อันตรายอย่างมาก เจ้าหน้าที่จะไม่ให้ผู้ที่ไม่มีความชำนาญ หรือไม่ผ่านการฝึก เข้าไปในพื้นที่ด้วย เพราะไฟร้อน ไฟไม่คุยกับใคร อาจเกิดอันตรายขึ้นได้  ตนจึงไปอยู่ในจุดที่ให้กำลังใจ และส่งเสบียงไปให้


และถ้าผู้ว่าฯ ไปดับไฟเอง แล้วใครจะบริหารสถานการณ์ภาพรวม ใครจะสนับสนุน ใครจะตัดสินใจแก้ปัญหาที่แต่ละหน่วยตัดสินใจไม่ได้  จึงเป็นหน้าที่ของตนที่ทำอยู่ตรงนี้  คอยอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า ให้ทำงานแต่ละจุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ขาดตกบกพร่องอะไร  ก็จัดหาให้  หรือตัดสินใจว่า จะหากำลังเสริมหน่วยอื่น หรือประสานขอเฮลิคอปเตอร์เข้าไปช่วย นี่คือหน้าที่ที่ตนได้ทำในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และทำทุกวัน ไม่มีวันหยุด


“ผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่ได้ผ่านการฝึกดับไฟป่า ที่ต้องใช้ทักษะ ใช้กำลัง ใช้ความอดทน  ผมมีหน้าที่สนับสนุนเสบียงอาหาร น้ำดื่ม  อุปกรณ์กันไฟ รองเท้าทนไฟ หรือสนับสนุนในกรณีที่จุดดับไฟจุดแรกดับไม่ได้ จะส่งชุดอื่นเข้าไปอย่างไร  มีหน้าที่ที่จะอำนวยการให้ พนักงาน ดับไฟป่ากว่า 10,000 คนเชียงใหม่ทำงานได้ โดยไม่ติดขัด และดับไฟได้ทุกจุดภายในวันนั้น นี่คือหน้าที่ของตน”  

---------------

เมื่อวานนี้ (17 มี.ค. 67) นายพัลลภ แซ่จิว ประธานสภาฯท่องเที่ยวเชียงใหม่ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่  ระบุว่า


สถานการณ์ PM2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ ณ วันที่ 17 มี.ค.67 ถือว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและคนอาศัยอยู่เชียงใหม่ ครับ


แต่การที่มีผู้เสนอให้ ประกาศให้ จ.เชียงใหม่ เป็นเขตพื้นที่ฉุกเฉิน หรือประกาศเป็นพื้นที่ประสบ”ภัยพิบัติ” นั้น  กระผมขอเห็นค้านครับ เพราะจะเป็นการซ้ำเติม เพิ่มปัญหาให้เชียงใหม่ครับ อาจส่งผลกระทบเลวร้าย เป็น 2 เด้ง  เพราะว่า


1.ฝุ่นก็ยังไม่หาย กระทบสุขภาพ


2.แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะหายหมดเสียก่อนเมื่อประกาศเป็นเขตภัยพิบัติครับ


ตัวเลขผู้โดยสารต่างประเทศ บินตรงเข้ามายังจังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 1 -16 มีค.67 รวม 52,416 คน อย่างน้อยก็มีเม็ดเงินเข้ามาให้คนเชียงใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เลี้ยงปากท้องทางตรง กว่า 1,000 ล้านบาท ถ้าปิดเมือง หรือประกาศเขตฉุกเฉินไปแล้ว สายการบิน โรงแรม ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว ร้านค้าของที่ระลึก ,รถรับจ้าง และ มัคคุเทศก์ จะเป็นอย่างไร?ฃ


ผมเกรงว่าปัญหาจะบานปลาย เกิด NPL วนกลับมาอีกครับ


ในนาม สภาฯท่องเที่ยว จ.เชียงใหม่. ขอร้องอย่าปิดเมือง อย่าประกาศให้เชียงใหม่เป็นเขตภัยพิบัติ “ฉุกเฉิน” เลยครับ

---------------
เพจ ฮักเน่อ เชียงใหม่ Hugner Chiangmai : ข่าว กิน เที่ยว โพสต์ข้อความระบุว่า 


ปัญหามลพิษทางอากาศของเชียงใหม่ช่วงนี้ ออก CNN เป็นที่เรียบร้อย


แล้วก็ไม่ใช่ข่าวเก่าปีก่อนเอามาวนใหม่ด้วยนะ เป็นข่าวใหม่เอี่ยมของวันนี้เลย March 17,2024 


เข้าดูได้ที่ https://edition.cnn.com/.../thailand-pollution-holmes-dnt... เวอร์ชั่นฟรีก็ดูได้แต่ต้องดูโฆษณา 30 วินาทีก่อนดูข่าวนี้ ต้องรอนิดนึง


The air pollution problem in Chiang Mai has recently been featured on CNN. This is not old news from last year being recirculated; it's brand new news from today, March 17, 2024

---------------
เมื่อวานนี้ (17 มี.ค.67) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า


“Working hypothesis สมมุติฐานการป้องกัน แก้ไข จัดการ ก่อนฤดู ระหว่างฤดู และ หลังฤดูไฟป่า  ปัญหาไฟป่า เป็นปัญหาจากการลำเลียงขนส่งเป็นส่วนใหญ่ เพราะ 90% ของพลังงานหมดไปกับการ ลำเลียงคน ลำเลียงของ ลำเลียงไปให้ทันไฟ เพื่อที่จะสามารถจัดการไฟป่าได้ ต้องสามารถทำ 3 เรื่องนี้ให้ได้ คือ


1) เข้าใจพฤติกรรมของไฟ และประเมินได้เร็ว


2) เข้าถึง หัวไฟ หางไฟ และจำกัดมันได้เร็วก่อนมันลาม


3) มีทรัพยากร เครื่องมือหลากหลายเพื่อกำจัดไฟ ในรูปแบบป่าที่แตกต่างกัน ไหม้ไม่เหมือนกัน


ที่สำคัญกว่าในช่วงที่มันสายเกินป้องกัน หรือ การดูแลประชาชน เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย ด้วยการเข้าถึง หน้ากากเฉพาะ และ เครื่องกรองอากาศ พื้นที่ clean air เมื่อข้างนอกแย่มาก ๆ ถึงแม้จะปลายเหตุ แต่จำเป็นที่ต้องมี โดนไม่เพิ่มต้นทุนชีวิตคนในช่วงที่เศรษฐกิจซึมอย่างที่เป็นอยู่


นโยบายแก้ไฟป่าที่ดีที่สุดอาจจะเป็นเตรียมตัวล่วงหน้าก่อน ฤดูไฟป่าจะมา ถ้าเอาสถิติจาก @gistda_space รวมถึงข้อมูลพื้นที่ของท้องถิ่น ย้อนหลังไป 5 ปี มาทับซ้อนกันเป็นชั้น ๆ น่าจะสามารถ forecast ไปข้างหน้า ว่าพื้นที่ ไหม้ซ้ำซาก อยู่ที่ใด การเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการเผาในพื้นที่้เสี่ยง การเตรียมสถานีน้ำ เพื่อลดปัญหาลำเลียงในที่ลาดชัน การนำชาวบ้านเข้ามาเป็นส่วนรวมในการวางแผน การ stock อุปกรณ์ที่เพียงพอ และตอบโจทย์หน้างานก่อนไฟมา น่าจะทุเลาปัญหาได้ไม่มากก็น้อย


ทั้งหมดจะเป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ยาก ถ้ายังติดกรอบ

1.กฏหมาย

2.งบประมาณ

3.อำนาจบริหาร หรือข้อกฏหมาย การเงินการคลัง และอุปสรรคในการดำเนินงาน


ท้ายที่สุด ไฟป่าไม่ใช่ทั้งหมดของ PM 2.5 และ PM 2.5 ที่มีค่าที่สูง ก็ไม่ได้มาจากไฟป่าทั้งหมด ต้องถอยออกมาดูภาพใหญ่ขึ้น ถึงจะแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

---------------

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเดินทางมาเชียงใหม่ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ถูกหลายคนออกมาตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการวัดพลังกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่เดินทางมาเชียงใหม่ในช่วงเดียวกัน ว่า


นายพิธาเป็นคนไม่ปกติอยู่แล้ว เป็นนักมายากลที่สามารถทำได้และแสดงได้ทุกเรื่อง ผลที่ได้เป็นแบบไหนเขาไม่ได้ประเมิน แต่อะไรที่เป็นโอกาสของเขา เขาก็ไม่ซีเรียส


“นายพิธา ไม่ได้ประเมินถึงเรื่องมารยาท ความเหมาะความควร สังเกตได้จากพฤติกรรมที่ผ่านมา หลายเรื่องเขาสามารถทำอะไรก็ได้ ส่วนที่เจ้าตัวออกมาบอกว่ามาเชียงใหม่เพื่อประชาชนไม่ได้คิดเรื่องคะแนนเสียงนั้น ประเทศไทยมีอีก 76 จังหวัดทำไมไม่ไป ถ้าดูเรื่องมารยาทไปวันหลังก็ได้ แต่เรื่องการเมืองมันต้องคำนึงถึงมารยาท


ประเทศนี้ทุกคนมีสิทธิไปไหนก็ได้ แต่เรื่องมารยาทางการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้คนมองเลยไปถึงเรื่องวุฒิภาวะ ผมยังเสียดาย หนึ่งคะแนนที่ยกมือให้นายพิธาเป็นนายกฯ ในการโหวตนายกฯ ครั้งแรก ท้ายที่สุดเขาต้องใช้เวลาศึกษามารยาททางการเมืองอีกนาน เพราะเป้าหมายการเป็นนายกฯ ต้องมีวุฒิภาวะมากกว่านี้” นายครูมานิตย์กล่าว

---------------




รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/qXQ2WaAG0Xw

คุณอาจสนใจ

Related News