สังคม

เครือข่ายท้องไม่พร้อม ยื่นจดหมายถึง 'ผู้ว่าฯกทม.' ขอให้จัดสถานบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย หลังมี กม.ให้ทำแท้ง

โดย parichat_p

28 ก.ย. 2565

88 views

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับภาคีเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้ประชาชนเพื่อให้เข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ หลังกฏหมายเปิดให้ทำแท้งปลอดภัยได้มาเกือบ 2 ปี แต่มีสถานบริการใน 38 จังหวัดเท่านั้น และในกรุงเทพมหานคร ยังเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยได้ยาก เครือข่าย 73 องค์กร จึงยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้ผลักดันนโยบายนี้ด้วย


ประเทศไทยมีการแก้ไขและบังคับใช้ประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 301 ที่กำหนดให้หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ สามารถทำแท้งได้โดยไม่ผิดกฏหมาย และมาตรา 305 ที่กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาให้บริการยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่มีความผิด มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 แต่การเข้าถึงยังมีน้อย


ซึ่งสิทธิสุขภาพด้านอนามัยเจริญพันธุ์ ได้รับการรับรองในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือ CEDAW และกติการะหว่างประเทศ ICESCR ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม โดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ เห็นว่า การขาดบริการฉุกเฉินด้านสูติกรรมหรือการปฏิเสธการทำแท้งมักนำไปสู่การเสียชีวิตและการเจ็บป่วยของผู้หญิงที่เป็นมารดา


ซึ่งถือเป็นการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนในการมีชีวิตและสุขภาพอนามัยที่ดี และจากรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนปี 2564 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. พบว่าภายหลังจากที่กฎหมายบังคับใช้ ยังมีปัญหาในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์หลายประการ เช่น โรงพยาบาลของรัฐจำนวนมากยังขาดความพร้อมในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์และไม่ส่งต่อไปยังสถานบริการอื่นที่พร้อมให้บริการ นอกจากนี้ ในรอบ 6 เดือนแรกของปี 2565 พบว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ยังไม่ทราบข้อมูลแหล่งบริการโรงพยาบาลที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ และในวันที่ 28 กันยายนของทุกปีเป็นวันยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยสากล กสม.จึงร่วมกับหลายเครือข่าย จัดเวทีเสวนาเพื่อทำให้ผู้หญิงเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย



ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ ตามมาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2565 กำหนดให้หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ที่จะยุติการตั้งครรภ์ต้องได้รับการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมก่อน แม้จะเป็นประกาศที่ออกมาหลังกฏหมายทำแท้งใช้มาเกือบ 2 ปี แต่เป็นแนวปฏิบัติที่ครอบคลุมมากขึ้น แม้จะพบว่า มีสถานพยาบาลที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์เพียง 102 แห่งใน 38 จังหวัด โดยไม่มีกรุงเทพมหานคร


เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม และภาคี 73 องค์กร จึงได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผ่านแพทย์หญิง เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ ขอให้กรุงเทพมหานครจัดให้มีสถานบริการสุขภาพที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย


จากคาดการณ์จำนวนผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมในประเทศไทย มีประมาณกว่า 3 แสนคนต่อปี พบว่า กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ต้องทำแท้ง และจากข้อมูลจากสายด่วนท้องไม่พร้อม 1663 พบว่ากรุงเทพมหานคร มีผู้ประสบปัญหาท้องไม่พร้อมมากที่สุด เฉพาะปี 2564 มีมากกว่า 7 พันรายและข้อเท็จจริงจากเครือข่ายอาสา พบด้วยว่าในกรุงเทพมหานครมีสถานบริการยุติการตั้งครรภ์เพียง 11 แห่ง ที่อาจไม่เพียงพอ และในกทม.ประชาชนไม่สามรถใช้สิทธิ สปสช. หรือบัตรทอง ในการเบิกค่าบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ซึ่ง สปสช.สนับวนุนให้ครั้งละ 3,000 บาท ต่อครั้งต่อปี รวมถึงการคุมกำเนิดด้วย


ขณะที่กรมอนามัย เตรียมนำการแพทย์ทางไกล เทเลเมดีซีน มาให้บริการให้คำปรึกษาการบริหารยุติการตั้งครรภ์ เพื่แก้ไขปัญหาที่ยังมีสถานบริการไม่เพียงพอ


เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม และภาคี รวมถึง กสม.ยังเห็นตรงกันที่จะส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ว่าสามาถทำแท้งถูกกฏหมายได้แล้ว และปรับทัศนคติว่าการท้องไม่พร้อมเป็นโรคอย่างหนึ่งที่ต้องรักษา ซึ่งเชื่อว่าจะไม่ใช่การส่งเสริมให้เกิดปัญหานี้แต่เป็นการป้องกันปัญหาสังคมรวมถึงการลดอัตราการเสียชีวิต ส่วนหญิงที่ต้องการท้องต่อ ก็ต้องหาแนวทางในการให้คำปรึกษาเพื่อหาทางออก


ซึ่งปัจจุบันพบด้วยว่าหญิงท้องไม่พร้อม ไม่ได้มีแค่เด็กและเยาวชน แต่มีผู้หญิงอายุมากกว่า 20 ปีและวัยทำงานมากขึ้นจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะช่วงหลังสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา

คุณอาจสนใจ

Related News