สังคม

ไทยยังไม่ยกระดับ "ฝีดาษลิง" เป็นโรคติดต่ออันตราย

โดย paweena_c

25 ก.ค. 2565

178 views

คณะกรรมการวิชาการโรคติดต่อแห่งชาติ ยังคงสถานะโรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง หลังประเมินสถานการณ์โรคแล้วว่า ยังไม่เข้านิยามโรคติดต่ออันตราย แม้ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ประกาศให้โรคฝีดาษลิง เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ โดยขณะนี้กลุ่มชาติสมาชิก EU ได้อนุมัติการใช้วัคซีน ป้องกันฝีดาษแล้ว ส่วนแพทย์จากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระบุว่าผู้ที่เคยได้รับการปลูกฝีแล้ว ยังมีภูมิคุ้มกันป้องกันอัตราการติดเชื้อได้ ติดตามรายงาน


23 กรกฎาคม 2565 องค์การอนามัยโลก who ประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ทันใดนั้นกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้ประกาศยกระดับศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินจากระดับกรมเป็นระดับกระทรวงตามมาทันที


แม้ล่าสุดคณะกรรมการวิชาการ ตามพระราชบัญญัติ ปี 2558 จะมีมติไม่ยกระดับฝีดาษลิงจากโรคติดต่อเฝ้าระวังเป็นโรคติดต่ออันตราย


นายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่า โรคดังกล่าวยังไม่เข้านิยามโรคติดต่ออันตรายที่ต้องมีอาการรุนแรง แพร่ระบาดง่าย และรวดเร็ว คณะกรรมการวิชาการฯจึงเห็นชอบให้คงการเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังต่อไปก่อน โดยกำชับมาตรการคัดกรองให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม พร้อมจัดทำแนวทางรักษาชัดเจนขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพหากผู้ป่วยมากขึ้น


ด้าน ผศ. นพ. โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยระบุว่า โรคฝีดาษลิง หรือ monkeypox เป็นโรคติดเชื้อจากไวรัสตระกูล ออโธพอกซ์ (orthopox) ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่ง หรือ การรับประทานเนื้อสัตว์ตระกูลสัตว์ฟันแทะ ซึ่งเมื่อติดเชื้อในคนจะทำเกิดอาการไข้ มีผื่นตุ่มน้ำ ตุ่มหนองตามร่างกาย คล้ายโรคฝีดาษ หรือ (smallpox)


อย่างไรก็ตามโรคฝีดาษหรือ small pox ถูกกำจัดไปแล้วตั้งแต่ปี 2523 จึงเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้วที่ไม่มีการฉีดวัคซีนชนิดนี้ ซึ่งปัจจุบันยังมีวัคซีนชนิดนี้ผลิตอยู่ 2 ผลิตภัณฑ์ เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ ที่พร้อมนำมาใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นได้ทันที โดยหัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก เชื่อว่า กลุ่มผู้ที่เคยได้รับการปลูกฝีไปแล้วอาจยังมีภูมิคุ้มกันอยู่ ส่วนกลุ่มผู้ที่อายุน้อยกว่า 40 ปี จำเป็นต้องได้รับวัคซีนใหม่ ซึ่งคาดว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันได้กว่า 80%


อย่างไรก็ตามวัคซีนนี้ยังจำเป็นเฉพาะผู้มีความเสี่ยง เช่น กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยเท่านั้น


ล่าสุดคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) อนุมัติการใช้งานวัคซีนไข้ทรพิษ หรือ ฝีดาษ imvanex มาใช้กับโรคฝีดาษลิง หลังจาก who ประกาศให้ฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก


โดยปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงมีผู้ติดเชื้อเพิ่มเฉลี่ยสัปดาห์ละ 200-300 คน จนสะสมกว่า 16,000 คนแล้วใน 75 ประเทศทั่วโลก พบมากที่ในทวีปยุโรปและอเมริกา ซึ่งมีแนวโน้มกระจายออกไปยังหลายประเทศต่อเนื่อง จากการแพร่ระบาดในกลุ่มผู้ที่มีพฤติกรรมมีเพศสัมพันธ์ลักษณะเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ธีรุตม์ นิมโรธรรม ข่าว 3 มิติ รายงาน.



คุณอาจสนใจ

Related News