สังคม

ครบรอบ 1 ปี เพลิงไหม้โรงงาน 'หมิงตี้ฯ' กสม.พบอนุญาตขยายกิจการ 2 ครั้งฝ่าฝืน กม.ผังเมือง จี้หน่วยงานแก้ไข

โดย panisa_p

5 ก.ค. 2565

109 views

วันนี้ (5 ก.ค. 65) ครบรอบ 1 ปี เหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก ของบริษัทหมิงตี้เคมีคอล อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ทำให้มีผู้ตกอยู่ในความเสี่ยง ได้รับอันตรายจากสารเคมีอีก 388 คน และวันนี้กรรมการสิทธิมนุษยชน หรือ กสม.เปิดเผยรายงานผลการตรวจสอบในประเด็นสิทธิชุมชน สิทธิในสุขภาพ และสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี กรณีเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าว


ซึ่งกสม.เห็นว่า การที่โรงงานได้รับอนุญาตให้ขยายโรงงาน โดยหน่วยงานรัฐที่ออกใบอนุญาต ไม่ได้ตรวจสอบข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเคร่งครัด เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาแก้ไข


เหตุเพลิงไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติกของบริษัทหมิงตี้ เคมีคอล อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งครบ 1 ปีในวันนี้ ถูกยกให้เป็นกรณีศึกษาหลายประเด็น ไม่ใช่เฉพาะในแง่ว่าเหตุดังกล่าวก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ ผิวดินและในอากาศที่ต้องกำจัดและฟื้นฟูใกล้ชิดเท่านั้น แต่ยังถูกเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบโรงงานลักษณะนี้ที่ยังมีอีกหลายแห่งทั่วประเทศ


โดยเฉพาะประเด็นที่ซับซ้อนว่าโรงงานอุตสาหกรรมหรืออาจเป็นโรงงานที่ครอบครองสารเคมี วัตถุอันตราย หรือผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมี ได้ตั้งอยู่บนที่ดินก่อนจะมีการบังคับใช้กฎกระทรวงเรื่องผังเมืองรวม หรือเรียกได้ว่าโรงงานตั้งก่อนแล้วชุมชนตามมาทีหลัง


แต่ถึงอย่างนั้น แม้โรงงานหมิงตี้ตั้งอยู่ก่อนที่กฎหมายให้ทำรายงาน ESA และ EIA จะบังคับใช้ แต่ช่วงที่โรงงานขอขยายกิจการ 2 ครั้ง เมื่อปี 2544 และ 2560 นั้น มีกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสมุทรปราการ พ.ศ.2544 และ 2556 ใช้บังคับแล้วว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นสีแดง


กรรมการสิทธิมนุษชน ระบุว่า กสม.เห็นว่าการที่โรงงานได้รับอนุญาตขยายกิจการโรงงานถึง 2 ครั้ง โดยเพิ่มกำลังการผลิตจาก 2,400 ตันต่อปี ในปีที่เริ่มต้นกลายเป็น 36,000 ตันต่อปี โดยการอนุญาตนั้นไม่ได้ตรวจสอบข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเคร่งครัด ถือว่าขัดต่อสาระสำคัญที่เกี่ยวกับสุขลักษณะ ความปลอดภัยของประชาชน อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน


รายงานดังกล่าวเปิดเผยในเวทีเสวนาประเด็น ครบรอบ 1 ปี หมิงตี้ เคมีคอล หลังเพลิงสงบ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับ สสส. จัดขึ้น พร้อมกับผู้ร่วมเสวนาจากกรมควบคุมมลพิษ มูลนิธิบูรณะนิเวศ นักวิชาการเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สมาคมนักผังเมืองไทย และผู้แทนจากกรมอนามัย


ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยข้อมูลโรงงานที่มีความเสี่ยงแบบเดียวกับหมิงตี้ ซึ่งกระจายกันอยู่ทั้งในกรุงเทพและปริมณฑล ซึ่งจำเป็นที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องตรวจสอบให้มันใจว่าไม่อันตราย เพราะกรณีนี้เป็นมากกว่าเหตุเพลิงไหม้โรงงานแห่งเดียว แต่ควรนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งระบบได้


สำหรับการตรวจสอบการคุ้มครองสิทธิประชาชนด้านการช่วยเหลือเยียวยา พบว่ามีผู้เสียหาย 2242 ครัวเรือน มีการเจรจาให้บริษัทหมิงตี้จ่ายเงินให้ผู้เสียหาย 1,152 คน รวมกว่า 52 ล้าน และค่าซ่อมแซมทรัพย์สิน ให้ช่างผู้รับเหมา 2,730,000 บาท และมีการช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบกระทรวงการคลังกรณีภัยพิบัติฉุกเฉิน รวม 26 ล้านบาท แก่ชาวบ้าน 1,422 ครัวเรือน


แต่ยังเหลือค่าเสียหายของภาครัฐที่ควบคุมสถานการณ์ และค่าเสียหายจากการฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้งสองส่วนนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมควบคุมมลพิษจะรวบรวมหลักฐานใช้จ่าย ส่งเรียกค่าเสียหายดังกล่าวจากบริษัทหมิงตี้ด้วย

คุณอาจสนใจ

Related News