สังคม

ยังไม่เคาะ! สธ.อาจเลื่อนถอดโควิด-19 ออกจาก UCEP ไปอีก 1 เดือน

โดย pattraporn_a

14 ก.พ. 2565

51 views

กระทรวงสาธารณสุขยืนยันประชาชนทุกคนยังมีสิทธิ์รับการรักษาในกรณีติดเชื้อโควิด โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตามสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยกเว้นกลุ่มผู้ป่วยวิกฤตที่ยังเข้าข่ายสิทธินี้ 



ภาวะฉุกเฉินวิกฤตรักษาทุกที่ Universal Coverage for Emergency Patient หรือ UCEP คือ สิทธิรักษาตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนพ้นวิกฤต หรือ สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย ภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนในคู่มือผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ ซึ่งภายหลังโควิด-19 ได้รับการบรรจุให้เป็น 1 โรคฉุกเฉินที่เบิกจ่ายได้ตามสิทธินี้ทันทีเมื่อ 3 มีนาคม 2563


แต่อย่างไรก็ตามที่ประชุมสาธารณสุขได้เตรียมเสนอการนำโควิด-19 ออกจากสิทธิดังกล่าว นั่นเท่ากับว่า ประชาชนต้องกลับสู่สิทธิการรักษาตามเดิม เช่น สิทธิสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และ บัตรทอง


นพ.ธงชัย กีรติหัตยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ข้อมูลการรักษาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่าในระยะหลังมานี้ อาการของผู้ติดเชื้อรุนแรงน้อยลง ซึ่งกว่า 80% เป็นผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการหรือมีอาการเล็กน้อย คล้ายไข้หวัด จึงถือว่าไม่ใช่กลุ่มอาการวิฤต ดังนั้นจึงสามารถเข้ารับการรักษาตามสิทธิปกติได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามเดิม


หากทำความเข้าใจอย่างง่าย ประชาชนคนไทยเกือบทั้งหมด จะได้รับสิทธิการรักษาใน 3 กลุ่มหลัก คือ สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ สิทธิบัตรทอง , สิทธิประกันสังคม และ สิทธิการรักษาสวัสดิการข้าราชการ ขณะที่กลุ่มแรงงานข้ามชาติก็จะมีสิทธิตามเงื่อนไขการรักษาของกลุ่มนั้น


นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ อธิบายว่า หากถอดโควิด-19 ออกจากสิทธิ UCEP ผู้ป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ก็สามารถเข้ารับการรักษาตามสิทธิได้เช่นเดิม โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ต้องเป็นสถานพยาบาลตามสิทธิที่กำหนดไว้ หรือ ในเครือข่ายหลักประกันสุขภาพนั้น ไม่ว่าจะเป็นระบบ home isolation , comunity isolation , Hospitel , โรงพยาบาลสนาม และในโรงพยาบาล ยกเว้นผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนนอกเครือข่าย ก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ไม่สามารถเข้ารับการรักษาในทุกที่เหมือนเช่นเดิมได้


อย่างไรก็ตาม ประชาชนจะมีสิทธิเข้ารับการรักษาตามสิทธิ UCEP ได้ทันที ในทุกสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการฉุกเฉินตามเงื่อนไข ประกอบด้วย มีไข้สูง หายใจไม่สะดวก หอบเหนื่อย ความดันต่ำ ไม่ค่อยรู้สึกตัว รู้สึกจะเป็นลม ก็สามารถเข้าโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่นอกระบบได้ทันที



ด้าน คริส โปตระนันทน์ ประธานมูลนิธิเส้นด้าย ที่ทำงานด้านการประสานเตียงผู้ป่วยโควิด-19 ตลอดช่วงการระบาดที่ผ่านมา เห็นด้วยกับการถอดโควิด-19 ออกจากสิทธิ UCEP เพื่อการใช้งบประมาณด้านสาธารณสุขอย่างคุ้มค่า แต่ยังคงกังวลเรื่องผลกระทบต่อผู้ติดเชื้อที่มีความจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐาน โดยสิ่งที่สำคัญคือการปรับปรุงระบบ Home isolation ให้ได้มาตรฐาน ปรับลดฮอสปิเทล ที่ใช้งบในส่วนนี้โดยไม่จำเป็น มาเป็นการเพิ่ม Comunity isolation หรือ สถานที่กักตัว สำหรับแยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชนโดยเร็ว


ล่าสุดการถอดโควิด-19 ออกจากโรคฉุกเฉินวิกฤตยังอยู่ระหว่างหารือ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ต่อจากนี้ เมื่อโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นกับเราต่อไป 



ทางด้าน นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องหารือทั้งประเด็นปัญหาการตีความประกันภัย อัตราการครองเตียง ที่ต้องคำนึงถึงผู้ติดเชื้อโควิดที่มีโรคร่วม เช่น มะเร็ง ซึ่งแม้จะไม่มีอาการแต่มีความจำเป็นต้องใช้เตียงที่มีศักยภาพ และหากมีการติดเชื้อสูงขึ้นอาจยังต้องใช้ศักยภาพของโรงพยาบาลเอกชนด้วย รวมถึงกรณีพื้นที่ กทม. ผู้ที่อยู่อาคารชุดหรือคอนโด หากนิติบุคคลไม่ให้กักตัว ก็อาจต้องไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนที่มีฮอสปิเทล จึงควรต้องมีเป็นทางเลือกโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งถ้าได้ข้อสรุปแล้วจะเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสื่อสารกับประชาชนต่อไป


เหตุผลหนึ่ง ของการพิจารณาเลื่อนการถอดโควิด-19 ออกจากสิทธิ์ภาวะฉุกเฉินวิกฤตรักษาทุกที่ ก็คือ จำนวนผู้ติดเชื้อในช่วงนี้ ที่สูงต่อเนื่อง


โดยวันนี้ ศบค. รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 14,900 คน หากรวมยอดผู้ป่วยจากการตรวจ ATK อีก 7,687 คน ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่จะมากถึง 22,587 คน หายป่วย 9,810 คน ยังรักษาตัว 129,933 คน ทั้งนี้มีผู้ป่วยอาการหนัก 687 คน ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 138 คน วันนี้มีผู้เสียชีวิต 26 คน ทำให้ยอดเสียชีวิตสะสมขยับไปที่ 22,462 คน

คุณอาจสนใจ

Related News