สังคม

1 ปีรัฐประหารเมียนมา 'มินอ่องหล่าย' ขอร่วมมือสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง

โดย pattraporn_a

1 ก.พ. 2565

24 views

ครบรอบ 1 ปีรัฐประหารในเมียนมา พลเอกมินอ่องหล่าย แถลงขอความร่วมมือประชาชนร่วมสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง ขณะที่ประชาชนออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านทหาร ด้านนักวิชาการไทย ชี้สถานการณ์จะยืดเยื้อ


วันนี้ 1 กุมภาพันธ์​ ครบรอบ 1 ปี การรัฐประหารในเมียนมา พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ออกแถลงการณ์ขอความร่วมมือจากประชาชนเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ในขณะที่ประชาชาชนยังคงประท้วงต่อต้านทหาร และ 3 ชาติยักษ์ใหญ่ประกาศคว่ำบาตรผู้นำทหารเมียนมาเพิ่มเติม ในขณะที่นักวิชาการไทย ประเมินสถานการณ์ยังยืดเยื้อ หากยังไม่สามารถหาทางปรองดองได้


ชาวเมียนมาในหลายเมืองทั่วประเทศจัดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหาร เนื่องในวันครบรอบ 1 ปี การทำรัฐประหาร เช่นที่เมืองมัณฑะเลย์ และนครย่างกุ้ง ผู้ชุมนุมพากันออกมาเดินขบวนประท้วงไปตามท้องถนน พร้อมกับถือป้ายและตะโกนข้อความเรียกร้องประชาธิปไตย ผู้ชุมนุมพากันสาดสีแดงลงบนถนน เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนเลือด นอกจากนี้ยังมีการประท้วงเงียบ หรือ silent strike ด้วยการไม่ออกจากบ้าน หยุดทำงาน ขณะที่ธุรกิจต่างๆในย่างกุ้งปิดทำการตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น ทำให้ท้องถนนและตลาดในนครย่างกุ้งวันนี้แทบจะไม่มีผู้คน


ในขณะที่พลเอกอาวุโส มิน อ่องหล่าย ออกมาแถลงผ่านทางสถานีโทรทัศน์ เรียกร้องขอความร่วมมือจากประชาชน เพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง เพื่อนำประเทศไปสู่เป้าหมายที่ดีกว่า แต่เมื่อวานนี้ รัฐบาลทหารเมียนมา ได้ประกาศขยายภาวะฉุกเฉินในประเทศต่อออกไปอีก 6 เดือน โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย


นับตั้งแต่ที่กองทัพก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวถูกสังหารไปแล้วกว่า 1 พัน 500 คน อีก 1 หมื่น 1 พัน 838 คนถูกจับกุม ขณะที่นางอ่องซาน ซูจีและสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ NLD ถูกจับกุม และถูกดำเนินคดีหลายข้อหา ตั้งแต่ยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนต่อต้านกองทัพ และละเมิดมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด


ซึ่งการปราบปรามประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปัตย รวมไปถึงการสู้รบกับกองกำลังชาติพันธุ์ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ยังส่งผลกระทบต่อวิกฤตผู้ลี้ภัยชายแดนไทย ซึ่งนักวิชาการไทย มองว่า การปราบปรามทำให้ประชาชนต้องหันมาจับอาวุธ อย่างที่ประกาศตั้งกองกำลังพิทักษ์ประชาชน หรือ PDF แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลทหารในการควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศด้วย ทั้งที่เกิดขึ้นในรัฐชิน รัฐกะเหรี่ยง และอาจจะในรัฐฉานถัดจากนี้ และเชื่อว่าประชาชนชาวเมียนมาจะยังไม่ยอมแพ้


ส่วนสถานการณ์สู้รบภายในประเทศ ยังมีการประเมินว่ารัฐบาลทหารเมียนมา ยังต้องเผชิญกับภัยคุกคาม ทั้งจากประชาชน ชาติพันธุ์ และต่างชาติ ที่สนับสนุนรัฐบาล NUG ทำให้กองทัพเมียนมา ต้องใช้ยุทธวิธี 2 รูปแบบ ทั้งสงครามตามแบบ ที่มีการใช้อาวุธหนักตามแนวชายแดน อย่้างที่เห็นการโจมตีทางอากาศ และสงครามประชาชน ที่อาจนำไปสู่วิกฤต ที่อาจขาดกำลังทหารได้ และยังคาดหวังให้การต่อสู้นำไปสู่การตั้งสหพันธ์รัฐ จะนำไปสู่หมุดหมายที่ดี


ขณะที่ นายถวิล เปลี่ยนศรี ประธานอนุกรรมาธิการพิจารณาและติดตามสถานการณ์ระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา และอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ตั้งข้อสังเกตถึงการตอบสนองของนานาชาติต่อสถานการณ์เมียนมา ว่ามีทั้ง "ไม้แข็ง" จากองค์การสหประชาชาติ และ "ไม้นวม" อาเซียน ที่ยังต้องพยายามให้เกิดความปรองดองในชาติให้ได้ และไทยก็แบกรักการช่วยเหลือผู้หนีภัยการสู้รบมากว่า 40 ปีแล้ว


ด้านนายเกียรติ สิทธีอมร รองกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า นวัตกรรมใหม่ในรัฐธรรมนูญเมียนมาคือการบัญญัติให้รัฐประหารได้ ซึ่งมาพร้อมมีบรรทัดฐานใหม่ที่น่าสะพรึงกลัวต่อประชาคมโลก นั่นคือการรัฐประหารหลังพ่ายแพ้การเลือกตั้ง และมีโทษการดำเนินคดีผู้เห็นต่างที่ค่อนข้างสูง จึงคาดหวังที่จะเห็นการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัย และการหยุดละเมินสิทธิมนุษยชน


ส่วนท่าทีประชาคมโลก สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, และอังกฤษ ประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมกับเจ้าหน้าที่ของเมียนมา อย่างน้อย 7 คน และบริษัทอีก 2 แห่ง เช่น อัยการสูงสุดที่เป็นผู้ตั้งข้อหาต่อนางซูจี รวมถึงประธานศาลฎีกา และประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของเมียนมา

คุณอาจสนใจ

Related News