สังคม

อย.พร้อมเปิดประชาพิจารณ์ ร่าง พรบ.กัญชา-กัญชง ย้ำปลูกและใช้เพื่อการแพทย์

โดย pattraporn_a

24 ม.ค. 2565

56 views

ความคืบหน้า หลังจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด มีมติให้ปลดล็อกกัญชาพ้นจากบัญชียาเสพติด ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาย้ำว่า การใช้กัญชา จะต้องควบคุมให้เป็นไปในทางที่เกิดประโยชน์ทางการแพทย์ หรือเพื่อสุขภาพเท่านั้น ส่วนการปลูกสำหรับใช้ในครัวเรือน จะต้องจดแจ้งและได้รับอนุญาตก่อน จึงจะสามารถเอามาใช้ประโยชน์ได้


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พูดถึงการพิจารณาปลดล็อคกัญชา ออกจากสารเสพติดประเภท 5 ซึ่งวันพรุ่งนี้ ป.ป.ส.จะนำมตินี้เข้าสู่การพิจารณา หาก ป.ป.ส.ให้ความเห็นชอบ กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งยกร่าง พ.ร.บ.พืชกัญชง-กัญชาให้ใช้เป็นพืชเศรษฐกิจ โดยจะกำหนดการใช้ส่วนต่างๆของพืชกัญชง-กัญชาอย่างชัดเจน เช่น ลำต้น ดอก ใบ และราก


นายอนุทิน บอกว่า กระทรวงสาธารณสุข อยู่ระหว่างดำเนินการตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี และยืนยันว่ายังต้องมีการควบคุมการใช้พืชกัญชงกัญชา เพื่อให้เป็นไปในทางที่เกิดประโยชน์ทางการแพทย์ หรือเพื่อสุขภาพ เช่น ผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหารเสริม สมุนไพรเป็นต้น โดยอนุญาตเฉพาะส่วนที่มีสารสกัด THC ไม่เกิน 0.2% ถ้ามากกว่านั้นยังคงเป็นยาเสพติด ส่วนการเสพเพื่อนันทนาการไม่ได้อยู่ในเจตนารมณ์ของการผลักดันในครั้งนี้ โดยกัญชา-กัญชง ต้องอยู่ในการควบคุมเหมือนบุหรี่ สุรา ซึ่งไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็มีการควบคุมการจำหน่าย และการใช้


ขณะที่นายแพทย์ ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา บอกว่า การถอดพืชกัญชาและกัญชงออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 นั้น จะต้องออกเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง การระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดแล้ว เหลือการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จากนั้น รัฐมนตรีสาธารณสุข ก็จะลงนามและประกาศใช้อย่างเป็นทางการได้


ส่วนการปลูกใช้ในครัวเรือน จะมีข้อกำหนดชัดเจนถึงจำนวนต้นและพื้นที่การปลูก แต่ก่อนนำมาใช้งานต้องมีการจดแจ้งก่อน และต้องได้รับอนุญาตจึงจะสามารถเอามาใช้ได้ นอกจากนี้ในร่าง พ.ร.บ.ก็ได้กำหนดโทษไว้เช่นกัน เช่น กรณีปลูกในครัวเรือนแต่ไม่มีการจดแจ้งจะมีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือกรณีนำมาจำหน่าย มีโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท


แต่หากใช้และปลูกเพื่อการพาณิชย์ และเชิงอุตสาหกรรม ต้องขออนุญาตการปลูก ซึ่งใบอนุญาตมีอายุ 3 ปี ต่อการขออนุญาตปลูก 1 ครั้ง หากเอาไปแปรรรูปโดยการสกัด ก็ต้องขออนุญาตเช่นกัน ส่วนการใช้ส่วนประกอบอื่นๆไปแปรรูป เช่นทำยาสมุนไพร ทำอาหารปรุงสุก หรือทำเครื่องสำอางค์ แต่ละประเภทจะต้องขออนุญาตตามข้อกฏหมายของผลิตภัณฑ์นั้นๆ


นายแพทย์ไพศาล ระบุเพิ่มเติมว่า ในร่างพ.ร.บ. กัญชา-กัญชง ได้เพิ่มมาตรการด้านการส่งเสริมและการทำวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่นการนำไปใช้ในครัวเรือน การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งนี้คาดว่ากัญชา-กัญชง จะเป็นพืชสมุนไพรที่เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในปี 2568 ซึ่งน่าจะมีมูลค่าสูงถึง กว่า 15,700 ล้านบาท ในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ทั้งนี้สำหรับร่าง พรบ.กัญชา กัญชง หลังมีการพิจารณาแล้วเสร็จ จะเปิดให้มีการทำประชาพิจารณ์ สาธารณะและนำกลับมาสรุปเพื่อเสนอต่อ ครม. พิจารณาอีกครั้ง

คุณอาจสนใจ

Related News