สังคม

เร่งทำลายสารสไตรีน รง.หมิงตี้ คาด 40 วันเสร็จ - "มูลนิธิบูรณะนิเวศ" จี้ ก.อุตสาหกรรม ร่วมรับผิดชอบ ฐานให้เพิ่มกำลังผลิต

โดย pattraporn_a

13 ก.ค. 2564

53 views

(13 ก.ค.) มูลนิธิบูรณะนิเวศ เรียกร้องกระทรวงอุตสาหกรรมสอบสวน กรณีโรงงานหมิงตี้ เคมีคัล ได้รับอนุญาตจากกรมโรงงงานอุตสาหกรรมให้ขยายกำลังการผลิต และยังตั้งอยู่ในเขตผังเมือง ซึ่งถูกประกาศภายหลังว่าเป็นเขตที่อยู่อาศัย ว่ามีความผิดหรือไม่ ขณะที่สารเคมีสไตรีน จากบริษัทหมิงตี้ ทยอยถูกนำไปเผาทำลาย ซึ่งอาจใช้เวลา 7-9 วัน เพื่อลำเลียงออกจากพื้นที่โรงงานได้หมด


ถังเคมีขนาดใหญ่ทั้ง 9 ถัง ตั้งอยู่ในบริษัทอัคคีปราการ โดยถังเหล่านี้จะใช้เก็บสารสไตรีนโมโนเมอร์ ที่เคลื่อนย้ายมาจากโรงงานหมิงตี้ เคมีคัล ย่านกิ่งแก้ว เพื่อมากำจัดที่นี่ ซึ่งมีกำลังเผาทำลายได้ชั่วโมงละ 1 ตัน และสารสไตรีนจากบริษัทหมิงตี้ที่มีราย 1,100 ตัน คาดว่าจะใช้เวลาเผาทำลายราว 40 วัน


เจ้าหน้าที่บริษัทอัคคีปราการ ยืนยันว่ากระบวนการเผาใน เตาเผาแบบหมุน ที่อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 850 องศาเซลเซียส และเตาเผาแบบแนวตั้ง เพื่อเผาก๊าซที่เกิดขึ้นด้วยอุณหภูมิ 1,000-1,200 องศาเซลเซียส รวมถึงขั้นตอนการควบคุมสารไดออกซิน และสารเคมีตกค้างจะไม่ทำให้เกิดมลพิษในอากาศ


อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า จะติดตามการกำจัดสารเคมีอันตรายอย่างใกล้ชิด เพราะยังมีสารเคมีที่ปนเปื้อนเศษวัสดุสิ่งปลูกสร้าง สารที่รั่วไหลรอบๆโรงงาน โดยเสนอตั้งคณะงานร่วมเพื่อออกแบบการกำจัดขยะอันตรายทุกชนิดที่ตกค้าง รวมถึงเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติถึงปัญหาการตกค้างของขยะอันตรายในประเทศที่มากกว่าศักยภาพการกำจัดด้วย


วันนี้หลายหน่วยงานสังกัดกระทรวงยุติธรรม เข้าตรวจสอบและประสานการช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานหมิงตี้ กว่า 1,000 คน บ้านเรือน 750 หลัง รถยนต์ 124 คัน บาดเจ็บ 45คน และเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเสียชีวิต 1คน ขณะที่โรงงานมีประกันภัยบุคลภายนอกราว 20 ล้าน ขณะที่ผลกระทบอาจสูงกว่า 200 ล้านบาท โดยยังไม่รวมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และหากบริษัทจ่ายค่าชดเชยให้ผู้กระทบไม่เหมาะสม ภาครัฐจะยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายทันที


ขณะที่ มูลนิธิบูรณะนิเวศ แถลงข่าวผ่านระบบซูม เรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมต้องรับผิดชอบด้วยการเร่งสอบสวนว่ามีการทุจริต และการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ในกรมโรงงานอุตสาหกรรมหรือไม่ ในกรณีการอนุมัติให้บริษัทหมิงตี้เคมีคอล ขยายกำลังการผลิต ด้วยการเพิ่มกำลังเครื่องจักร และจำนวนคนงาน เมื่อปี 2562


มูลนิธิบูรณะนิเวศน์ ยังระบุว่า แม้โรงงานไม่ทำผิดเรื่องผังเมือง เพราะตั้งก่อนกฎหมายผังเมือง แต่การที่ยังอนุญาตให้โรงงานอยู่ทั้งที่ไม่ใช่พื้นที่อุตสาหกรรมตามลักษณะการใช้ประโยชน์ของกฎหมายผังเมือง ย่อมเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

คุณอาจสนใจ

Related News