เปิดหลักฐาน ผลชันสูตรหมูตายด้วยโรค ASF สงสัยกรมปศุสัตว์ปกปิดความจริง

สังคม

เปิดหลักฐาน ผลชันสูตรหมูตายด้วยโรค ASF สงสัยกรมปศุสัตว์ปกปิดความจริง

โดย passamon_a

8 ม.ค. 2565

46 views

ไทยรัฐพลัส เปิดหลักฐาน ยืนยันหมูตายด้วยโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) กับข้อสงสัยกรมปศุสัตว์ ปกปิดความจริง


ไทยรัฐพลัส ได้รับเอกสารหลักฐานจากแหล่งข่าว เป็นสำเนาเอกสารแจ้งผลการชันสูตรซากหมูที่ตาย ซึ่งตรวจชันสูตรโดยห้องแล็บของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ในปี 2564


เอกสารระบุชัดว่า ตัวอย่างซากสุกรที่ส่งตรวจนั้นป่วยเป็นโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ซึ่งหลังทราบผลชันสูตร คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้รายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการดังกล่าว ไปยังหน่วยงานในกรมปศุสัตว์เรียบร้อยแล้ว  


จึงตั้งข้อสังเกตว่า ไม่น่าเป็นไปได้ ที่กรมปศุสัตว์จะไม่ทราบว่ามีโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร แพร่ระบาดในประเทศไทย


นอกจากนี้ แหล่งข่าวได้อธิบายความแตกต่างของ โรคเพิร์ส (PRRS) กับ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ว่า โรคเพิร์ส เป็นโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจและระบบสืบพันธุ์ มีอัตราการตายต่ำ ส่วนโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เป็นโรคที่อัตราการตายสูง มีการแพร่เชื้อผ่านปัสสาวะ อุจจาระ เลือด และเนื้อหมู หรือแม้แต่การที่หมูกินเศษอาหารของคน (พบการให้อาหารลักษณะนี้ในหมูที่เลี้ยงในครัวเรือน วัด) ก็อาจจะทำให้หมูติดเชื้อจากเนื้อหมูที่สุกแล้วได้ อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่ติดต่อมาสู่มนุษย์


โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ระบาดเข้ามาเมืองไทยมากกว่า 1 ปีแล้ว โดยเข้ามาที่ภาคเหนือก่อน เมื่อพบการติดเชื้อในประเทศก็มีความพยายามจะควบคุมโรคไม่ให้ระบาดเข้าสู่แหล่งผลิตหมูหลัก ๆ ของประเทศ คือ ราชบุรี นครปฐม นครนายก แต่ในที่สุดก็ควบคุมไม่ได้ โรคนี้ระบาดเข้าสู่จังหวัดราชบุรี เมื่อประมาณ 4 เดือนที่แล้ว และลามมาจังหวัดนครปฐม ซึ่งเมื่อเข้าสู่ 2 จังหวัดนี้แล้วทำให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูของไทยมาก เพราะราชบุรีและนครปฐมเป็นแหล่งผลิตหมูมากเป็นอันดับที่ 1 และ 2 ของประเทศไทย และเป็นแหล่งผลิตพ่อพันธุ์แม่พันธุ์หมูที่ส่งขายให้ฟาร์มทั่วประเทศ


แหล่งข่าวบอกอีกว่า ด้วยความที่โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เคลื่อนตัวช้า เนื่องจากติดต่อผ่านเลือด อาหาร ปัสสาวะ อุจจาระ ไม่ได้แพร่กระจายเร็วเหมือนโรคติดเชื้อทางระบบหายใจ หรือโรคที่แพร่กระจายทางอากาศ ดังนั้นคิดว่าหากเปิดเผยตั้งแต่แรกว่าเป็นโรคนี้ น่าจะสามารถจำกัดพื้นที่ระบาดได้ โดยการห้ามเคลื่อนย้ายหมูเข้า-ออก นอกพื้นที่เกิดโรคระบาด และเกษตรกรจะเตรียมตัวรับมือได้ดีกว่านี้


ข้อมูลการพบโรคระบาดในประเทศไทย ดังที่แหล่งข่าวกล่าวนั้น ตรงกันกับที่มีการพูดกันในวงการผู้เลี้ยงหมูว่า จุดเริ่มต้นการระบาดในประเทศไทยเริ่มต้นที่จังหวัดเชียงรายตั้งแต่ 3 ปีก่อน เมื่อพบการระบาด สมาคมผู้เลี้ยงหมูได้ช่วยกันแก้ปัญหานี้โดยระดมเงินจากผู้ประกอบการ เพื่อนำเงินไปชดเชยช่วยเหลือฟาร์มที่ประสบเหตุโรคระบาด หวังสกัดกั้นการระบาดไม่ให้ลุกลาม ซึ่งสามารถควบคุมจำกัดพื้นที่โรคระบาดไว้ได้เป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี แต่หลังจากนั้นโรคก็แพร่ไปยังภาคอีสาน และภาคอื่น ๆ ซึ่งเมื่อมีการระบาดระลอกใหม่ รัฐบาลได้จ่ายเงินชดเชยให้รายย่อย แต่ไม่จ่ายให้รายกลางและรายใหญ่


นอกจากนั้น ข้อมูลที่ผู้สื่อข่าวได้ทราบจากการที่คนในอุตสาหกรรมเลี้ยงหมูพูดคุยกัน คือ เหตุผลที่กรมปศุสัตว์ ภาครัฐไม่อยากยอมรับว่ามีโรคนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย อาจเพราะไม่อยากรับผิดชอบความเสียหาย ไม่อยากชดเชยเงินแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู ขณะที่คนในวงการเลี้ยงหมูส่วนหนึ่งก็ไม่อยากพูดถึงโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เพราะเกรงผลกระทบและความเสียหายที่จะตามมาทั้งต่อตนเองและเพื่อนร่วมอุตสาหกรรม เนื่องจากหากยืนยันว่าเป็นโรคนี้ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับโรคระบาดสัตว์อย่างเข้มงวด ฟาร์มในรัศมี 5 กิโลเมตรจะต้องถูกทำลายไปด้วย จึงเหมือนเป็นภาวะน้ำท่วมปาก ของคนในอุตสาหกรรมหมูไทย


ทั้งนี้ วันที่ 7 ธันวาคม 2565 หลังจากไทยรัฐพลัส เผยแพร่เนื้อหารายงานข่าวและเอกสารนี้ นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า ส่วนตัวยังไม่เห็นเอกสารยืนยันอย่างเป็นทางการว่าหมูในประเทศไทยมีการป่วยตายโดยโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ดังนั้นขอดูรายละเอียดก่อน และในวันที่ 8 มกราคม 2565 จะเรียกประชุมปศุสัตว์และเกษตรกรคนเลี้ยงหมูประมาณ 200 คน ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อที่จะเร่งสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยให้เลี้ยงหมูอีกครั้ง เพื่อฟื้นฟูเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย


รับชมทางยูทูบที่ :https://youtu.be/GYfx-yekdTI

คุณอาจสนใจ

Related News