ขึ้นกันถ้วนหน้า! คาดราคาปลีกหมูปี 65 ทะลุ 200บ. / กิโลฯ เหตุต้นทุนเลี้ยงสูง

เศรษฐกิจ

ขึ้นกันถ้วนหน้า! คาดราคาปลีกหมูปี 65 ทะลุ 200บ. / กิโลฯ เหตุต้นทุนเลี้ยงสูง

โดย pattraporn_a

29 ธ.ค. 2564

88 views

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประเมินราคาหมูปีหน้า ยังพุ่งต่อ หมูเป็นมีโอกาสแตะ 120 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาขายปลีกทะลุกิโลละ 200 บาท เหตุของมีน้อย บวกต้นทุนสูง


ตั้งแต่ต้นปี เราพบว่า ราคาหมูปรับขึ้นต่อเนื่อง จากวันพระแรกของปี เมื่อวันที่ 6 มกราคม (*กราฟฟิค) ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มทุกภาค อยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ซึ่งตรงกับวันพระสุดท้ายของปี ราคาปรับขึ้นมาอยู่ที่ 96 ถึง 100 บาท หรือ เพิ่มขึ้น 18-20 บาทต่อกิโลกรัม


ส่วนราคาหมูขายปลีก ตามราคาแนะนำของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ ต้นปี ราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 158-160 บาท แต่วันนี้ราคาปรับลขึ้นมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 196-200 บาท หรือ ทั้งปีราคาปรับขึ้นมา 32-40 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าหากเป็นร้านขายปลีกที่รับหมูไปขายทอดที่สอง ทอดที่ 3 ราคาจะบวกเพิ่มอีกกิโลกรัมละ 10-20 บาท โดยประชาชนในภาคเหนือ กินหมูราคาแพงที่สุดในประเทศไทย


นายสัตวแพทย์ วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ประเมินแนวโน้มราคาหมูในปีหน้า ว่าจะยังคงพุ่งสูงต่อเนื่อง จากปัจจัยต้นทุนการเลี้ยงหมู ทั้ง ราคาอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น 30% ระบบป้องกันโรคระบาดที่ใช้ต้นทุนสูง ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงหมูพุ่งไปที่กิโลกรัมละ 120 บาท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยคาดว่าหมูมีชีวิตจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 120 บาท


ขณะที่ราคาขายปลีก มีโอกาสได้เห็นกิโลกรัมละ 200 บาท ถึง 200 บาทต้น ๆ เนื่องจากเกษตรกรเอง ก็ไม่สามารถตรึงราคาต่อไปได้ไหว เพราะที่ผ่านมาได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการตรึงราคาต่อเนื่อง ทั้งหมูธงฟ้า หมูแลกข้าว ฯลฯ แต่ผู้เลี้ยงหมูก็ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างจริงจัง จนทำให้ เกษตรกรรายย่อยล้มหายตายจาก ต้องเลิกกิจการ จากที่เคยมีอยู่ 200,000 ราย วันนี้เหลือไม่ถึง 80,000 ราย ส่งผลให้หมูขาดแคลน ปริมาณหมูที่เข้าสู่ตลาดลดลงไปกว่า 40%


โดยการตรึงราคายิ่งจะทำให้เกษตรกรอ่อนแอ เห็นควรปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด ก็จะเกิดการสร้างสมดุลราคา ขณะเดียวกันอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปดูราคาขายปลีกจากคนกลางด้วย ว่ามีการค้ากำไรเกินควรหรือไม่ และหากภาครัฐจะนำเข้าหมูจากต่างประเทศเพื่อมาพยุงราคา ทางสมาคมฯ จะเสนอขอเก็บเงินค่าส่วนต่างราคา เพื่อนำมาฟื้นฟูเกษตรกรรายย่อยให้สามารถประกอบกิจการต่อได้


ล่าสุด ร้านสุกี้ชื่อดัง สุกี้ตี๋น้อย แบกรับต้นทุนต่อไม่ไหว แจ้งปรับราคาบุฟเฟ่ต์เพิ่ม 20 บาทต่อคน จาก 199 บาท เป็น 219 บาท ตามต้นทุนวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับร้านชาบู โมโม่ พาราไดซ์ ร้านชาบู-สุกี้ สไตล์ญี่ปุ่น ก็ประกาศปรับขึ้นราคา เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมนี้เช่นกัน


ส่วนร้านหมูทอดชื่อดัง “เจ๊จง” เตรียมปรับราคาหลังปีใหม่ โดยหมูทอด 1 กิโลกรัม จากเดิมขายราคา 280 บาท เตรียมขยับขึ้นเป็น 300 บาท ส่วนราคาขายต่อจาน อยู่ระหว่างการพิจารณา เนื่องจากราคาหมุเพิ่มสุงขึ้นมาก

ขณะที่นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ยอมรับว่า ขณะนี้ราคาหมูเนื้อแดงปรับตัวสูงขึ้นจริง โดยราคาหมูเนื้อแดงไม่ตัดแต่งในตลาดสดทั่วๆไป อยู่ที่ 160-180 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนเขียงหรือตลาดสดเล็กๆ ที่รับมาเป็นทอด ราคาปรับสูงถึง 200 บาท ซึ่งจากการหารือร่วมกับสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ พบว่า ขณะนี้ปริมาณหมูที่เข้าสู่ตลาดลดลง ทำให้มีพ่อค้าเสนอแข่งราคารับซื้อสูงขึ้น


เบื้องต้นกรมการค้าภายใน ได้ขอความร่วมมือให้ผู้เลี้ยงสุกร จำหน่ายให้กับผู้ค้ารายเดิมเป็นลำดับแรก ส่วนโครงการหมูพาณิชย์ จำหน่ายในราคา 130 บาท 667 จุดทั่วประเทศ จะดำเนินการไปจนถึง 31 ธันวาคมนี้ ขณะที่กรมปศุสัตว์ เตรียมหารือร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาหมูแพงในขณะนี้ ทั้งนี้ หากพบการหมูแพงเกินสมควร สามารถแจ้งที่สายด่วน กรมการค้าภายใน 1569 


ชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/clwB0PVqFUM

คุณอาจสนใจ