สธ.เผย 2 ผู้ติดโอมิครอนชาวไทย 2 คน รักษาหายแล้ว หมอยง-อ.เจษฎา ชี้เชื้อแพร่เร็วจริง แต่ไม่รุนแรง

สังคม

สธ.เผย 2 ผู้ติดโอมิครอนชาวไทย 2 คน รักษาหายแล้ว หมอยง-อ.เจษฎา ชี้เชื้อแพร่เร็วจริง แต่ไม่รุนแรง

โดย pattraporn_a

8 ธ.ค. 2564

97 views

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันพบผู้ป่วยโควิด สายพันธุ์โอมิครอน 1 คน เป็นชาวอเมริกัน ที่เดินทางมาจากสเปนเข้าไทย ส่วนคนไทยอีก 2 รายรอผลตรวจยืนยันสายพันธุ์ ซึ่งเป็นการตรวจย้อนหลังและรักษาหายแล้ว


กรณีข่าว พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มในไทยนั้น นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค บอกว่า ข้อมูลเบื้องต้น พบ 2 คน เป็นหญิงไทย อายุ 36 และ 46 ปี เดินทางไปร่วมกิจกรรมทางศาสนา ที่ประเทศไนจีเรีย โดยระหว่างการทำกิจกรรม ไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัย เมื่อเดินทางกลับถึงไทย เมื่อ 24 พฤศจิกายน ตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ผลเป็นบวก แต่ไม่อาการรุนแรง ผลตรวจเบื้องต้นเมื่อ 8 ธันวาคม พบว่ามีแนวโน้มว่า เป็นสายพันธุ์โอมิครอน แต่ต้องรอกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยัน


ขณะนี้ทั้ง 2 คน รักษาหายแล้ว แต่อยู่ระหว่างการคุมตัวไว้เพื่อสังเกตอาการให้ครบ 14 วัน หลังจากนี้จะย้อนตรวจหาสายพันธุ์ของผู้ที่เดินทางมาจากแอฟริกาทุกราย


ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ยืนยันว่า ผู้ป่วยสายพันธุ์โอมิครอนในไทยยังมี 1 คน เป็นชาวอเมริกัน ที่มาจากสเปนเข้าไทย และมองว่า การระบาดสายพันธุ์โอมิครอน ยังไม่น่ากังวล เนื่องจากคนที่เข้าไทย มีมาตรการ ระบบการเฝ้าระวังและควบคุมโรคเข้มงวดอยู่แล้ว


นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า โควิด-19 "โอมิครอน"แนวโน้มความรุนแรงของโรคน้อยกว่าสายพันธุ์เดลต้า


หากโอมิครอนระบาดง่ายกว่าสายพันธุ์เดิม โอมิครอน ก็จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์เดลต้า ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ธรรมชาติ ในอดีตเราพัฒนาวัคซีนเชื้อเป็นจากไวรัส เราก็ใช้ไวรัสก่อโรค ให้มีการติดเชื้อซ้ำแล้วซ้ำอีก ในเซลล์ทดลอง หรือสัตว์ทดลอง เมื่อมีการติดเชื้อซ้ำนานๆ ไวรัสตัวนั้นก็จะอ่อนฤทธิ์ลง แล้วเอามาทำวัคซีน ชนิดเชื้อเป็น เพราะการติดเชื้อซ้ำแล้วซ้ำอีก ไวรัสเองก็พยายามปรับตัว ลดการทำร้ายเจ้าถิ่น หรืออ่อนฤทธิ์นั่นเอง


จากการพบผู้ป่วยทั่วโลกมีแนวโน้มที่ดี โดยพบนอกทวีปแอฟริกา ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ นอร์เวย์ เดนมาร์ก ครึ่งหนึ่งเป็นแบบไม่มีอาการ อีกเกือบครึ่งหนึ่งมีอาการน้อย เมื่อเทียบกับสายพันธุ์เดลต้า ส่วนในทวีปแอฟริกาตอนใต้ ผู้ป่วยสายพันธุ์โอมิครอน ก็มีแนวโน้มที่รักษาในโรงพยาบาลน้อยกว่าสายพันธุ์เดิมเดลต้า หากทั้งหมดนี้เป็นความจริง (ที่ต้องรอพิสูจน์อีกระยะหนึ่ง) ก็นับว่าเป็นข่าวดี


ถ้าโรคไม่มีความรุนแรง และมีการติดเชื้อเป็นจำนวนมาก การติดเชื้อก็เหมือนเป็นการสร้างภูมิต้านทานโดยธรรมชาติ ถึงเวลานั้น ความจำเป็นที่จะต้องใช้วัคซีนก็จะลดลง


สอดคล้องกับอาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากภาควิชาชีววิทยา จุฬาฯ ที่โพสต์เฟซบุ๊ค ว่า "เชื้อโควิด โอมิครอนจากอัฟริกาใต้ เชื้อน่าจะแพร่ได้เร็ว แต่ความรุนแรงน้อยลง"แอฟริกาใต้ เกิดการระบาดระลอก 4 เมื่อเดือนที่แล้วมีผู้ติดเชื้อ 300 คนต่อวัน แต่สัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มเป็นกว่า 16,000 คนต่อวัน แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตต่อวันอยู่ที่หลักสิบเท่านั้น


นักวิจัยของโรงพยาบาลหลัก ในเมือง Petoria พบว่าคนไข้ในตอนนี้ มีอาการป่วยน้อยกว่าที่เคยรักษาก่อนหน้านี้เป็นอย่างมาก สอดคล้องกับสถาบัน National Institute of Communicable Diseases ที่บอกว่า มีผู้ป่วยเพียง 106 คน ที่ต้องเข้า ไอซียู ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะติดเชื้อแบบพุ่งพรวดก็ตามการที่ความรุนแรงน้อยลง ก็อาจเป็นไปได้ว่า เกิดจากผลของผู้ป่วยเคยติดเชื้อเดิมมาแล้ว และทำให้มีภูมิคุ้มกันต่อ โอมิครอน มากขึ้น ในยุโรปก็มีรายงานว่า แม้ติดเชื้อได้ง่าย แต่อาการป่วยค่อนข้างน้อย มีการพบเชื้อมากกว่า 40 ประเทศ ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข จึงมองว่า โอมิครอน จะแทนที่สายพันธุ์เดลต้า ซึ่งเป็นสายพันธุ์เด่นเมื่อปีที่แล้ว


ชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/SaFs-klzXwQ


คุณอาจสนใจ

Related News