พลิกโฉมชุมชนคลองเตย ปรับปรุงที่อยู่อาศัยคนในชุมชนรูปแบบใหม่ สุขสบายยิ่งกว่าเดิม

สังคม

พลิกโฉมชุมชนคลองเตย ปรับปรุงที่อยู่อาศัยคนในชุมชนรูปแบบใหม่ สุขสบายยิ่งกว่าเดิม

โดย sujira_s

12 เม.ย. 2564

716 views

เพจเฟซบุ๊ก room magazine ได้โพสต์บ้านในชุมชนคลองเตยในรูปโฉมสะอาด แปลกตา ซึ่งมาจากโครงการปรับปรุงที่อยู่อาศัยชุมชนคลองเตย เพื่อมอบโอกาสให้ผู้ยากไร้ได้ใช้ชีวิตในที่พักพิงอย่างสุขสบายมากขึ้น โดยมีระบุข้อความไว้ว่า


"โครงการปรับปรุงที่อยู่อาศัยชุมชนคลองเตย 9 หลังแรกจากทั้งหมด 47 หลังในระยะที่ 3 เพื่อมอบโอกาสให้ผู้ยากไร้ได้ใช้ชีวิตในที่พักพิงอย่างสุขสบายมากขึ้น นี่คือส่วนหนึ่งของโครงการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้กับผู้ด้อยโอกาสในกรุงเทพฯ และ 25 จังหวัดภาคกลาง ภายใต้การดำเนินงานโดยกองทัพภาคที่ 1 และจังหวัดต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนโครงการจิตอาสาตามพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 10 โดยพื้นที่ในชุมชนคลองเคยนี้ ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ ภายหลังจากระยะที่ 1 และ 2 ก่อสร้างและส่งมอบแล้วเสร็จไปก่อนหน้านี้


จากครั้งก่อนนั้น ม.ล.วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกจาก Vin Varavarn Architects (VVA) เคยบอกกับ room ว่า เขาขอรับปากจะยังคงรับหน้าที่ช่วยพัฒนาแบบบ้านในระยะใหม่ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก โดยครั้งนี้ ม.ล.วรุตม์ จึงยังคงมุ่งมั่นมารับหน้าที่ในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมอย่างต่อเนื่องในระยะที่ 3 ตามที่ให้สัญญาไว้ พร้อมส่งมอบให้ประชาชน 9 ครัวเรือน ได้มีบ้านหลังใหม่ไว้พักพิงเรียบร้อยแล้วในขณะนี้


โดยทีมผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างได้แบ่งพื้นที่การทำงานเป็นโซนต่าง ๆ เริ่มจากโซนบ่อน้ำ จำนวน 9 หลัง และโซนริมทางรถไฟ จำนวน 15 หลัง ที่จะเริ่มสร้างเร็ว ๆ นี้ เป็นส่วนแรก ก่อนจะเข้าทำงานในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไปหลังจากนี้


ด้านวัสดุที่ใช้ในงานโครงสร้างอาคาร ผู้ออกแบบเลือกใช้โครงสร้างเหล็กวางบนฐานรากคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนัง และพื้นใช้วัสดุไฟเบอร์ซีเมนต์บอร์ด แล้วปูทับผิวพื้นด้วยเสื่อน้ำมันที่มีความหนาพิเศษ


ม.ล.วรุตม์ ระบุว่า อีกหนึ่งสิ่งที่เขาให้ความสำคัญ คือหลังคาที่สามารถกันร้อนได้ดี ด้วยการมุงหลังคาเมทัลชีทแบบแซนด์วิช โดยมีไส้กลางเป็นฉนวนโฟมแบบกันไฟลามความหนา 5 เซนติเมตร อีกหนึ่งชั้น


นอกจากนี้ยังมีกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม ระหว่างผู้ออกแบบ และผู้อยู่อาศัยในระยะที่ 3 นี้เพิ่มเติม โดยการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านเลือกสีทางเข้าบ้านที่ตัวเองชอบได้


มล.วรุตม์ บอกว่า ระหว่างการทำงานเราค้นพบว่าพวกเขาชอบสีจัดจ้า และได้แอบทำการทาสีบ้านในระยะที่ 2 หลังการส่งมอบไปแล้ว เราเลยตัดสินใจว่าแทนที่จะห้ามพวกเขา ก็ชวนพวกเขาให้เข้ามามีส่วนร่วมแทนเลยดีไหม


ส่วนตัวบ้าน เราตั้งใจให้ฟอร์มมันดูเรียบง่าย เพื่อการทำงานของทหารที่ง่ายขึ้น และสามารถปรับเปลี่ยนตามที่ดินที่หลากหลายได้ดีขึ้นกว่าแบบดิม ทุกอย่างเกิดการเรียนรู้จากข้อดีและข้อด้อย จากการทำงานในสองระยะแรก 


และนี่คือผลลัพธ์ที่ทุกภาคส่วนสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดด้านการใช้วัสดุ การควบคุมต้นทุน การขนย้ายวัสดุท่ามกลางพื้นที่อันแออัด จนสามารถสร้างบ้านพักอาศัยที่ใช้งานและพักพิงได้อย่างปลอดภัย รวมถึงมีรูปลักษณ์ที่สวยงามสะดุดตา"


ขอบคุณข้อมูล : room magazine





คุณอาจสนใจ

Related News