เลือกตั้งและการเมือง

สส.ค้านเต็มข้อ! มติสภาท่วมท้น 348 เสียง แย้งแก้เกณฑ์ 'ประชามติ' ของวุฒิสภา

โดย petchpawee_k

10 ต.ค. 2567

18 views

 สส. ค้าน สว. เต็มข้อ! มติสภาฯท่วมท้น 348 เสียง แย้งแก้เกณฑ์ “ประชามติ” ของวุฒิสภา ตั้งกมธ.ร่วมกัน 28 คน ขณะที่ "ภูมิใจไทย" อภิปรายหนุน "สว." แก้เกณฑ์ประชามติรัฐธรรมนูญ ชี้เพื่อเป็นหลักประกันความเชื่อมั่น-สง่างาม ด้าน “เพื่อไทย-ประชาชน” ไม่เห็นด้วยเกณ์ข้างมาก 2 ชั้น

วานนี้  9 ต.ค. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาฯคนที่สอง เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ... ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม และได้ส่งคืนให้สภาฯ พิจารณา ตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อ 137 โดยสส.ต้องลงมติว่าจะเห็นด้วยกับสว.หรือไม่ เนื่องจากที่ประชุมวุฒิสภามีการแก้ไขหลักเกณฑ์ประชามติรัฐธรรมนูญ


โดยนายภราดร แจ้งต่อที่ประชุมสภาฯว่า หากสภาฯเห็นชอบด้วยกับวุฒิสภา ให้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 81 ต่อไป แต่ถ้าไม่เห็นชอบให้แต่ละสภาตั้งบุคคลประกอบเป็นคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ร่วมกัน เพื่อพิจารณา และเสนอรายงานต่อสภาทั้งสอง เพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ถ้าสภาทั้งสองเห็นชอบให้ดำเนินการตามมาตรา81 หากมีสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบให้ยับยั้งไว้ก่อน มาตรา137(3)


ทั้งนี้ มีสส.ที่อภิปรายแสดงความเห็นทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชน เห็นแย้งกับบทบัญญัติที่วุฒิสภาแก้ไข ในประเด็นเกณฑ์การผ่านประชามติ ซึ่งกำหนดให้การทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น คือ ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินหนึ่งของผู้มีสิทธิ และผลการลงมติเห็นชอบต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ เพราะมองว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญและเกิดความยุ่งยากต่อการใช้บังคับและงบประมาณ และยังเห็นว่าแม้ สส.ไม่เห็นชอบกับที่วุฒิสภาแก้ไข ก็สามารถเร่งรัดเวลาการพิจารณาในชั้นของกมธ.ร่วมกัน เพื่อให้มีกฎหมายประชามติฉบับใหม่ทันใช้บังคับตามไทม์ไลน์ของการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญรอบแรก ในเดือนก.พ.68


ขณะที่ สส.ของพรรคภูมิใจไทย ที่ลุกอภิปรายและเห็นต่างออกไป โดย น.ส.มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช สส.ลพบุรี พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า เป็นธรรมดาที่จะเห็นแตกต่างกัน ซึ่งการใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นนั้นคล้ายกับร่างของพรรคภูมิใจไทยที่เสนอต่อสภาฯ สำหรับการแก้ไขเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นตนมองว่าจำเป็นต้องสะท้อนให้เห็นความสำคัญกับประชาธิปไตยมากขึ้น และเป็นหลักประกันว่าการทำประชามติในกฎหมายสูงสุดและกติกาสำคัญต้องได้รับความเชื่อถือ ทั้งนี้การเลือกตั้งท้องถิ่น ยังมีข้อกำหนดเกณฑ์ให้มีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 10%


“เกณฑ์ผ่านประชามติจะใช้เกณฑ์เดียว สามารถทำได้ หรือไม่ต้องทำเกณฑ์เดียวก็ได้ ไม่ติดใจ แต่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดและเป็นกติกาปกครองประเทศ ดังนั้นต้องมีความละเอียดอ่อน เชื่อถือ มั่นใจได้ ที่ผ่านมาการทำประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญพบว่ามีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกิน 50% ดังนั้นหากไม่กำหนดอะไรไว้จะได้รับความน่าเชื่อถือได้อย่างไร หากสภาฯ เห็นด้วยกับสว.จะไม่มีปัญหา แต่หากไม่เห็นด้วย จะทำให้ล่าช้า กินเวลาไปหลายเดือน เพราะใช้เวลาพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นค่อนข้างมาก”


ด้านน.ส.แนน บุณย์ธิดา สมชัย สส.อุบลราชธานี พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า พรรคภูมิใจไทยเห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่แก้หมวดหนึ่ง หมวดสอง ทั้งนี้การแก้ไขของสว.นั้นพอรับฟังได้ เพราะการกำหนดเกณฑ์ดังกล่าวเป็นหนทางที่สง่างาม และได้ผลการทำประชามติที่มากพอ หากไม่เซ็ตอะไรไว้ จะใช้สิทธิอะไรอ้างว่าสมควรแล้วจะแก้รัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีผู้คนออกมาใช้สิทธิ์ถึง 29 ล้านคน มีผู้เห็นด้วย 16 ล้านคน ไม่เห็นด้วย 10 ล้านคน


“ดังนั้นการแก้รัฐธรรมนูญต้องมีความง่างาม ซึ่งการไม่กำหนดเสียงขั้นต่ำ หรือเกินกึ่งหนึ่ง พรรคภูมิใจไทยเห็นว่าสง่างาม และเป็นข้ออ้างดีที่สุด คือ กำหนดเสียงขั้นต่ำ คือ กึ่งหนึ่ง หากมีการตั้งกมธ.ร่วมสองสภาฯ ในชั้นกมธ. จะบอกว่ากังวลเกณฑ์เยอะเกินไป สามารถใช้เสียง 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 ก็ได้ ไม่ใช่ปล่อยไปเลย หากไม่เซ็ตเสียงไว้ ในเรื่องต่างๆอาจมีคนออกมาใช้สิทธิแค่ล้านคน จะอ้างได้อย่างไรว่าเป็นการทำประชามติของประเทศ ดังนั้นสิ่งที่สว.แก้ไขมาพอรับฟังได้”


ส่วนนพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ตนสนับสนุนสภาฯ ให้ยืนยันหลักการที่รับไปแล้ว ส่วน สว. จะรับหลักการหรือไม่ไปเจรจากันเอง คิดว่าทำได้ หากไม่ทำจะเสียหาย ต่อให้มีใบสั่งมา ไม่เชื่อว่าจะรอดตาประชาชนได้ พรรคที่กลับไปกลับมาจะเสียหาย ขาดความศรัทธาจากประชาชน ผลจะออกมาในกาเลือกตั้งทั่วไป ว่าพรรคนั้นเชื่อถือไม่ได้ ขอให้คุยกันอีกรอบ เจรจาให้ได้ เสียเวลาอย่างไรก็ช่างมัน เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องระมัดระวัง เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจมาก การแก้รัฐธรรมนูญเป็นฉบับประชาชนจะทำให้ก้าวข้ามความขัดแย้ง บ้านเมืองชัดเจนและพัฒนาเจริญรุ่งเรือง


ขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า หากกำหนดเกณฑ์เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่ง2 ชั้น เท่ากับว่าจะนับรวมผู้ลงมติไม่เห็นชอบกับคนที่ไม่ออกมาใช้สิทธิรวมกันปิดประตูตอกฝาโลงแก้รัฐธรรมนูญ หากจะเปิดประตู ต้องทำประชามติอย่างเดียวกันกับประชามติรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ทั้งนี้ไม่เห็นด้วยกับการเสนอให้ตั้งเกณฑ์ใช้เสียง 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4


ต่อมา 16.05 น.หลังอภิปรายเสร็จสิ้นที่ประชุมลงมติ ไม่เห็นชอบกับร่างที่วุฒิสภาแก้ไข 348 เสียง เห็นชอบ 0 เสียง งดออกเสียง 65 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ จำนวน 28 คน สัดส่วนกมธ.สส. 14 คน สว. 14 คน ซึ่งการงดออกเสียง ส่วนใหญ่เป็นของ สส. พรรคภูมิใจไทย


ทั้งนี้ สำหรับรายชื่อ กมธ.ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่...) พ.ศ...... ในส่วนของ สส. มีจำนวน 14 คน ได้แก่ พรรคประชาชน จำนวน 4 คน คือ 1.นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ, 2.นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ, 3.นายปกป้อง จันวิทย์ อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 4.นายณัชปกร นามเมือง ตัวแทนไอลอว์


ขณะที่พรรคเพื่อไทย จำนวน 4 คน ได้แก่ 1.นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ, 2.นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ, 3.นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ และ 4.นายกฤช เอื้อวงศ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (น.ส.จิราพร สินธุไพร)


พรรคภูมิใจไทย จำนวน 2 คน ได้แก่ 1.นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง และ 2.นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ นอกจากนี้ ยังมีนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ , นายวิทยา แก้วภราดัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ , ว่าที่ร.ท.ยุทธการ รัตนมาศ สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา


ส่วนรายชื่อ สว.อีก 14 คน คาดว่าจะได้รายชื่อในการประชุมวุฒิสภาในวันที่ 15 ต.ค.นี้


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/ieCpd1tYv7I

แท็กที่เกี่ยวข้อง  ประชามติ ,วุฒิสภา

คุณอาจสนใจ

Related News